มุมมองนักมานุษยวิทยาต่างชาติ ‘พลัง’ ที่ถูกมองข้ามของ ‘ซีรีส์ Y’ | เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

feedforfuture.co

 

มุมมองนักมานุษยวิทยาต่างชาติ

‘พลัง’ ที่ถูกมองข้ามของ ‘ซีรีส์ Y’

 

นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ซีรีส์ Y เรื่อง “Love Sick : The Series” ออกอากาศ มาจนถึงภาวะบูมของวัฒนธรรมบันเทิงประเภทนี้ในปัจจุบัน ไม่เพียงแค่ตัว “ซีรีส์ Y” เท่านั้นที่ได้รับเสียงตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ความนิยมต่อตัวนักแสดงซีรีส์หรือ “คู่จิ้น Y” ก็พุ่งขึ้นสูงเช่นกัน วัดได้จากปริมาณงานโฆษณา จำนวนทัวร์มีตติ้งทั้งในและนอกประเทศ และยอดผู้ติดตามโซเชียลมีเดีย

ข้างต้นเป็นความสำเร็จจากมุมมองทางเศรษฐกิจ แต่หากพิจารณาผ่านแง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรม ก็พึงตั้งคำถามไม่น้อย ว่าความบันเทิงหมวดดังกล่าวมีหน้าที่-ความหมายอย่างไรบ้าง?

หนึ่งในคนที่อาจให้คำตอบต่อคำถามนี้ได้ น่าจะเป็น “โธมัส บอดิเนตต์” (Thomas Baudinette) นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยแมคควอรี ประเทศออสเตรเลีย ผู้เป็นทั้งแฟนคลับและนักวิจัยซีรีส์ Y มานานเกือบทศวรรษ

เนื้อหาส่วนถัดไปคือ การสรุปความจากการบรรยายพิเศษของบอดิเนตต์ในหัวข้อ “Boys Love Media in Thailand (สื่อบันเทิงบอยเลิฟในประเทศไทย)” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และหน่วยวิจัยด้านประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา

รวมทั้งบทสนทนาเพิ่มเติมที่ FEED มีกับนักมานุษยวิทยาผู้นี้

โธมัส บอดิเนตต์

หากลองค้นหางานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ “ซีรีส์ Y ไทย” ในเว็บไซต์ academia.edu เราจะพบข้อมูลว่า “โธมัส บอดิเนตต์” คือนักวิชาการที่ลงแรงวิจัยและผลิตงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง

โธมัสเล่าว่า ความสนใจศึกษาซีรีส์ Y หรือ “บอยเลิฟ (BL)” ของไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งเขาพยายามหาช่องทางคลายเครียดจากการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก แล้วเขาก็ได้ทำความรู้จักกับซีรีส์เรื่อง “Love Sick” ของประเทศไทย จากโซเชียลมีเดีย

(อย่างไรก็ดี นั่นมิใช่จุดเริ่มต้นแรกสุดเสียทีเดียว เพราะนักมานุษยวิทยาคนนี้เคยอ่านหนังสือการ์ตูนแนวบอยเลิฟของญี่ปุ่นในห้องสมุดท้องถิ่นที่ออสเตรเลีย ตั้งแต่สมัยเขามีอายุ 14 ปี)

นับจากนั้น นักวิชาการที่สนใจศึกษาประเด็นทางวัฒนธรรมที่ข้องเกี่ยวกับเพศสภาพและสื่อสารมวลชนในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ก็ขยายขอบเขตงานศึกษามาสู่พรมแดนของ “ซีรีส์ Y ไทย”

โดยจะมีผลงานหนังสือชื่อ “Boys Love Media in Thailand : Celebrity, Fans, and Transnational Asian Queer Popular Culture” ออกเผยแพร่เร็วๆ นี้

 

แม้จะมีข้อถกเถียงหรือสมมุติฐานว่า “ซีรีส์ Y” คือสื่อที่ผลิตขึ้นโดยผู้หญิง สำหรับผู้บริโภคเพศหญิง ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ทางสังคม

แต่จากการที่โธมัสได้เก็บรวมรวบข้อมูล ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับซีรีส์และนักแสดง Y รวมถึงการมีโอกาสสัมภาษณ์บรรดาแฟนคลับและนักเขียนนิยาย Y เขาเสนอว่านอกจากจะมีผู้หญิงเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักแล้ว ยังมีบุคคลกลุ่มเพศสภาพชาย ที่อาจจะมีรสนิยมทางเพศแบบชายรักชายหรืออื่นๆ เข้ามาร่วมบริโภคสื่อบันเทิงแขนงนี้ด้วย

นักวิชาการรายนี้อ้างอิงสถิติของ “นีลเส็น” ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างของผู้ชมซีรีส์ Y ทางไลน์ทีวี ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2563 ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้หญิงที่ติดตามสื่อบันเทิงนี้มีสัดส่วน 78 เปอร์เซ็นต์ และเป็นสัดส่วนของผู้ชาย 21 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น แม้ผู้หญิงจะเป็นผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่ของงานแฟนมีตติ้งนักแสดง Y และกิจกรรมของซีรีส์ Y เรื่องต่างๆ แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า กลุ่มเพศสภาพชายก็มีส่วนร่วมในกระแสวัฒนธรรมนี้อย่างสำคัญเช่นกัน

 

สิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่า ซีรีส์ Y คือสื่อประเภท LGBTQ (สื่อสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ก็คือ “วัฒนธรรมการจิ้น-คู่จิ้น”

“การจิ้น” เป็นวัฒนธรรมสำคัญที่ผู้ชมซีรีส์ Y แฟนคลับ หรือแม้แต่ตัวบริษัทผู้ผลิตซีรีส์ พยายามจับคู่ตัวละครหรือนักแสดงชายสองคนให้สมหวังทางความรัก-ความสัมพันธ์ และนำไปสู่การสร้าง “คู่จิ้น” ของตัวละครหรือนักแสดง ทั้งในเนื้อหาซีรีส์ หรือบนเวทีแฟนมีตติ้ง และรายการโชว์ต่างๆ

การแสดงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของ “คู่จิ้น” หรือที่โธมัสใช้คำว่า “การกระตุ้นเร้าอารมณ์ของคนเพศเดียวกัน” ได้นำไปสู่สภาวการณ์ของความรู้สึกที่เรียกว่า “ฟิน” ในกลุ่มผู้ชม

นักมานุษยวิทยาต่างชาติอ่านปรากฏการณ์นี้ผ่านแว่นตาของทฤษฎีเควียร์ (Queer theory) ซึ่งศึกษาเพศวิถีที่แตกต่างไปจากความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม “ชาย-หญิง” ได้ว่า

“ผมให้คำนิยามคำว่าความเป็นเควียร์ (queerness) ไม่ใช่เป็นหนึ่งในการนิยามทางเพศ แต่เป็นวิถีการกระทำ (act) ซึ่งท้าทายบรรทัดฐานของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่กดขี่และไม่เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายทางเพศ”

อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นได้ว่า วัฒนธรรม “การจิ้น” คู่นักแสดงชาย หรือความรู้สึก “ฟิน” เมื่อ “คู่จิ้น” ที่เราชื่นชอบมีปฏิสัมพันธ์ทางเรือนร่างที่ใกล้ชิดกัน นั้นก่อให้เกิดสภาวะทางอารมณ์ของคนดูที่ท้าทายบรรทัดฐานของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ตีกรอบความรักให้จำกัดอยู่เพียงแค่เพศตรงข้ามสองขั้ว “ชาย-หญิง”

ยิ่งพอซีรีส์ Y ได้รับความนิยมจนมีพื้นที่ในช่องทีวีดิจิทัล หรือได้ออกฉายในช่วงไพรม์ไทม์ ส่วนนักแสดงซีรีส์ Y ก็ได้รับการยอมรับ จนถูกว่าจ้างให้ไปปรากฏตัวในโฆษณาทุกแพลตฟอร์ม

นั่นจึงเป็นพลังที่ผลักดันให้ “วัฒนธรรม Y” หรือ “ปฏิสัมพันธ์ทางเพศแบบชาย-ชาย” มีพื้นที่ของ “การ (ถูก) มองเห็น” ขึ้นมาในสังคม ที่ยึดถือคุณค่าแบบ “ชายเป็นใหญ่” และ “ความรักแบบเพศขั้วตรงข้าม”

“มองจากมุมทฤษฎีสตรีนิยม ปรากฏการณ์ซีรีส์ Y เป็นการสอดแทรกมุมมอง (gaze) และความปรารถนาของผู้หญิงกลับเข้าสู่วัฒนธรรมสื่อ และแม้จริงๆ แล้ว การแสดงการกระตุ้นเร้าอารมณ์ของเพศเดียวกันของนักแสดง Y จะเป็นไปในเชิงการแสดง (performative) และนักแสดงบางส่วนก็ไม่ได้ระบุตัวตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนส่วนน้อยทางเพศ

“แต่นี่เป็นการมีตัวตนหรือการมองเห็นวิถีเพศสภาพที่ไม่ใช่ขั้วชาย-หญิง ซึ่งบริบทประเทศไทยขาดหายมานานหลายปี” โธมัสวิเคราะห์

 

ด้านหนึ่ง ความสำเร็จทั้งในและนอกประเทศของซีรีส์ Y ไทย ทำให้วัฒนธรรมบันเทิงชนิดนี้ถูกมองเป็น “อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม” ที่มีมูลค่าสูง หรือบางคนก็วาดหวังให้เป็น “ซอฟต์เพาเวอร์แบบไทยๆ”

กระนั้นก็ตาม นักมานุษยวิทยาจากออสเตรเลียยังเน้นย้ำถึงศักยภาพสำคัญทางด้านวัฒนธรรมของซีรีส์ Y ซึ่งมีบทบาทท้าทายบรรทัดฐานเดิมๆ ของสังคม

โธมัสขยายความว่า จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมแฟนมีตติ้งของซีรีส์ Y ไทยในประเทศฟิลิปปินส์ เขาได้พบเห็น “การทำงานเชิงอารมณ์” ของวัฒนธรรม Y ที่เกิดขึ้นในต่างแดน

“ผมเข้าร่วมแฟนมีตติ้งของซีรีส์ Y ไทย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในเดือนมกราคม 2020 สิ่งที่ทำให้ตกใจมากคือแฟนคลับที่นั่นเต็มไปด้วยความคึกคักและสีสัน ไม่ใช่แค่ต่อศิลปินหรือโชว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่เขาแสดงความต้องการให้ความรักระหว่างผู้ชายสองคนเกิดขึ้นในชีวิตจริงของพวกเขาเช่นกัน”

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม Y ที่ฟิลิปปินส์ ยังมีสัดส่วนระหว่างเพศสภาพชาย-หญิงที่ไม่ต่างกันมากนัก (ผิดกับในไทย ที่ผู้หญิงถือเป็นคนส่วนใหญ่)

ระหว่างเข้าร่วมงาน แฟนคลับซีรีส์ Y ไทยที่เป็นชาวฟิลิปปินส์ได้ส่งเสียงประสานขึ้นพร้อมๆ กันว่า “ฉันอยากได้สิ่งนี้ในชีวิตจริง!” ซึ่งจากการเข้าไปพูดคุยเพิ่มเติม โธมัสอธิบายว่าแฟนคลับเหล่านั้นไม่ได้อยากจะเป็นคู่รักกับนักแสดงซีรีส์ แต่พวกเขาอยากได้ “ความรักที่เปิดเผย” และอยากให้ภาพสดใสในซีรีส์บังเกิดขึ้นในชีวิตจริง

ภาพด้านบวกของ “ความรักแบบชาย-ชาย” ที่ปรากฏในซีรีส์ Y ไทย (ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้สวยงามขนาดนั้น) จึงเป็นเหมือนการเปิดประตูบานแรกเข้าสู่การสร้างความรับรู้ต่อความรักที่ไม่จำกัดเพียงเพศสภาพชาย-หญิง และเป็นใบเบิกทางไปยังวิธีการสร้างสังคมที่เปิดกว้างและเท่าเทียมทางเพศ

นี่คือพลังทางวัฒนธรรมของซีรีส์ Y ไทย ที่หลายฝ่าย รวมถึงภาครัฐ มองข้ามไป เพราะมุ่งความสนใจไปที่มิติทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น

“กลยุทธ์ทางซอฟต์เพาเวอร์ใดก็ตาม ที่ไม่ได้ตระหนักถึงมิติทางสังคมที่ซีรีส์ Y กำลังเสนอ จะไปต่อไม่ได้เลย จะไม่มีแฟนคลับต่างชาติคนไหนเดินทางมาประเทศไทย ถ้าไม่มีการยอมรับความเปิดกว้างทางเพศและภาพการเมืองเชิงบวกของซีรีส์ นี่เป็นจุดที่ผมคิดว่ากำลังท้าทายอนาคตของอุตสาหกรรม Y ของไทย”

โธมัส บอดิเนตต์ ทิ้งโจทย์สำคัญเอาไว้