คำ ผกา | อย่าปล่อยให้เผด็จการ ทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา

คำ ผกา

มีประเด็นที่ฉันเป็นกังวลมากหลังเกิดเหตุการณ์กราดยิง

นั่นคือสังคมด่วนพิพากษาไปแล้วว่าเหตุเกิดจากการใช้สารเสพติดแล้ว “คลั่ง” เพราะมันง่ายกว่าจะพยายามเข้าใจปัญหาเรื่องวัฒนธรรมอำนาจนิยม ชายเป็นใหญ่ ปัญหาการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในสังคมนิยมเผด็จการ ฯลฯ

ดังนั้น ก็หาแพะในประโยคสั้นๆ ว่า “เสพยาจนคลั่ง” ก็ทำให้เราสบายใจว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ปัญหาเกิดจากคนเลวไม่กี่คน

เมื่อสังคมและสื่อพากันเฮโลสาระพามาทางนี้ แนวโน้มการเสนอข่าวของ “สื่อ” หลังจากนั้น ก็เน้นนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับการเสพยาแล้ว “คลั่ง” ติดๆ กันทุกวัน

เช่น เสพยาคลั่งทำร้ายบุพการี เสพยาแล้วพยายามจะเอาปืนไปยิงใครต่อใคร เสพยา บำบัดไม่หายออกมาสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัว และเพื่อนบ้าน ฯลฯ

ถ้าเราจะมีความรู้เท่าทัน “สื่อ” สักนิด เราจะสงสัยว่า สัดส่วนของข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ในข่าวเหล่านี้มีกี่ส่วน คนที่ “คลั่ง” เหล่านั้น เสพยาอะไร?

การสรุปของคนเขียนข่าว สรุปเอาเอง หรือเป็นการวินิจฉัยของแพทย์

ส่วนตัวฉันนั้น สงสัยทั้งคุณภาพการคัดกรองข้อเท็จจริงของนักข่าว อคติของชาวบ้านที่ “เล่าเรื่อง” ให้นักข่าวฟัง

ไปจนถึงแนวโน้มที่นักข่าวจะเลือกเขียนเฉพาะ “เรื่อง” ที่ตรงกับความคาดหวังจะได้อ่านได้ยินจากข่าว เพื่อให้ข่าวของตนเอง “ขายได้”

ทั้งหมดนี้นำมาสู่แรงกระพือโหมที่ต้องการให้รัฐบาลปราบยาเสพติดอย่างจริงจัง ใช้ “ยาแรง” ไปจนถึงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการ “ผู้เสพคือผู้ป่วย” แถมยังมีผลโพลออกมาสนับสนุน

ฉันคิดว่าเราควรแยกเรื่องยาเสพติดออกเป็นสองเรื่องใหญ่ๆ

หนึ่ง เป็นความจริงที่ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีชื่อฉาวโฉ่มากเรื่องยาเสพติดเพราะมีเคสจับยาเสพติดล็อตใหญ่ๆ ที่ส่งออกจากประเทศได้ในหลายประเทศ มีคนไทยถูกจับคดีขนยาเสพติดไปต่างประเทศก็เยอะ และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่ามียาเสพติดชนิดต่างๆ ระบาดไปทั่ว หาซื้อง่าย ราคาถูก

ที่สำคัญไม่มีใครรู้ว่ายาเสพติดเหล่านี้เป็น “ยา” อะไร มีกี่ประเภท และถูกเรียกรวมๆ กันว่า “ยาบ้า” จนกระทั่งกลายเป็นคำเรียกทับศัพท์เป็นสากลว่า Yaba เพราะมันไปไกลกว่าการเป็นเมตแอมเฟตามีนอย่างที่เคยเป็นในอดีต

การแก้ปัญหาเหล่านี้เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเองด้วยเช่นกันว่า เป็นขบวนการโดยคนมี “เส้นสาย” และอาจเอี่ยวโดยคน “มีสี” มีอิทธิพล ไม่ใช่ผู้ค้ารายกระจอก

และดูเหมือนว่า ภายใต้รัฐบาลที่สืบเนื่องอำนาจมาตั้งแต่การรัฐประหาร ขบวนการเหล่านี้ยิ่งเฟื่องฟู ใหญ่โต อาจเป็นเพราะกลไกระบบราชการภายใต้รัฐบาลเผด็จการเอื้อให้เกิดธุรกิจการค้าเพื่อการส่งส่วยนายหนักกว่าระบบราชการปกติที่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานวัดจากผลงาน

ความไม่โปร่งใส ระบบราชการ และการเมืองที่ตรวจสอบไม่ได้ เต็มไปด้วยเรื่องลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ล้วนเอื้อให้เกิดเครือข่ายมาเฟีย ธุรกิจสีดำ สีเทา เติบโต

ขบวนการค้ายาเสพติดไม่ใช่ธุรกิจของสามัญชนคนตัวเล็กตัวน้อย ดังนั้น หากเราอยากแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด เราไม่อาจแก้ได้ด้วยการเอาผู้เสพยาบ้าๆ บอๆ ไปขังคุกหรือไปฆ่าให้ตาย

แต่คือการทลายเครือข่ายอันทรงอิทธิพลเหล่านี้ลง

ซึ่งทำได้โดยวิธีเดียวคือ ทำให้ประชาธิปไตยการเลือกตั้ง ระบบรัฐสภาเข้มแข็ง

เพิ่มอำนาจการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยประชาชน ภาคประชาสังคม

เรียกร้องความโปร่งใสของระบบราชการทั้งหมด

ทั้งนี้ รวมไปถึงการกระจายอำนาจ การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เพราะหากเราเรียกร้องแค่การปราบยาเสพติด โดยไม่ปฏิรูปเรื่อง “อำนาจ” ของระบบราชการ ระบบ “มาเฟีย” เหล่านี้ก็จะทำแค่การกดดันให้ตำรวจชั้นผู้น้อยสร้างผลงานด้วยการโชว์ “ของกลาง” โดยที่มีลูกพี่ใหญ่เป็น “ผู้ค้า” ที่ลอยนวล

สิ่งที่เกิดขึ้น การยัดยา การยัดข้อหาคนที่ไร้อำนาจ อ่อน หรือใช้เรื่องนี้ไปเพื่อกำจัดศัตรูคู่แข่ง และสร้างผลงานไปในเวลาเดียวกัน

ส่งเสริมให้มียาเสพติดเยอะๆ เพื่อของบฯ ที่เยอะขึ้นๆ กว่านั้นไปในการปราบยาเสพติด และหาแพะมาเพื่อสร้างผลงาน วนกลับไปที่เร่งสร้างความกลัวเรื่องยาเสพติด เพื่อเพิ่มอำนาจในการใช้กฎหมาย การจับกุม การลัดขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม

เพื่อเร่งสร้างผลงานเป้าหมายว่า “นี่ไง ปราบได้เยอะ”

เรื่องมันก็จะลงเอยด้วยการที่เราได้การคอร์รัปชั่นที่รุนแรงขึ้น และปัญหายาเสพติดที่รุนแรงขึ้นไปอีกในเวลาเดียวกัน และประชาชนที่ไม่รู้เท่าทันก็จะเอาแต่เรียกร้องการปราบปรามที่แรงขึ้นอีกและอีก

สอง ปัญหาของผู้เสพ ความอ่อนด้อยเรื่อง “การศึกษา” (ที่ไม่ได้หมายถึงการเรียนสูงๆ) ในสังคมไทย ทำให้เรามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้และการพึ่งพิง “สาร” น้อยมาก

ใช่ ฉันใช้คำว่าการพึ่งพิง “สาร” – ปัจจุบันในงานเขียนเรื่องการใช้ “ยาเสพติด” เปลี่ยนมาใช้คำว่า “การพึ่งพิง/ใช้สารในทางที่ผิด” เมื่อใช้ในทางที่ผิด ก็อาจทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ประสาท พฤติกรรม ก่อปัญหาให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน

ปัญหาที่ก่อก็มีหลายระดับ ตั้งแต่น้อยๆ ไปจนถึงขั้นรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิต ต่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง

ส่วนความรู้โดยทั่วไปในสังคมไทยเป็นความรู้แบบฉบับสำเร็จรูป เป็นภาพจำประทับตราบาปไปเสร็จเรียบร้อยว่า ไอ้อีขี้ยา ไร้ค่า เป็นตัวอันตราย ตายได้ก็ดี เป็นปัญหา เป็นภาระของสังคม เป็นสิ่งมีชีวิตพันธุ์ที่ต้องตกนรกหุบเหวอเวจีเป็นเปรตเป็นสัตว์ร้าย

แต่บทเรียนของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอดีตบอกเรา ทัศนคติเช่นนั้นไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรเลย และยิ่งซ้ำเติมความเข้มแข็งของชุมชน สถาบันครอบครัว และยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาในสังคมหนักหน่วงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความยากจน ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ปัญหาสุขภาพจิต ฯลฯ

แนวทาง “การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด” ที่ถูกทดลองใช้มาในหลายประเทศทั่วโลกกลับพิสูจน์ได้ผล และทำให้สังคมโดยรวมเข้มแข็งขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ และสุขภาพ

ตัวอย่างแนวทาง “การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด” ด้วยวิธี “ทำให้มีการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดแพร่หลายมากขึ้น” เช่น

– ผันตัวผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องการการบำบัด

– ใส่ใจในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการบำบัดเพื่อออกแบบโปรแกรมการบำบัดที่ได้ผลดีขึ้น เช่น หญิงมีครรภ์ วัยรุ่น หญิงรักร่วมเพศ ชายรักร่วมเพศ ชาติพันธุ์ ลักษณะความจำเป็นเฉพาะตัวบุคคลที่มีผลต่อความสำเร็จในการบำบัด

– เพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยเพื่อการบำบัดการใช้สารเสพติด

– ให้คนที่ต้องได้รับการบำบัดเข้าถึงการบำบัดได้ง่ายและบ่อยครั้ง

– ค่าใช้จ่ายในการบำบัดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

นอกจากนี้ มาตรการรักษาสายสัมพันธ์ในครอบครัวก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า หากเราต้องการฟื้นฟูสังคมของเราให้เข้มแข็ง เช่น

– เพิ่มเงินทุนสำหรับการรักษาในระดับครอบครัว เช่น พ่อและแม่ของผู้เสพอาจต้องการการดูแลทางจิตใจจากนักจิตวิทยา

– ประเมินความสามารถของพ่อหรือแม่ที่กำลัง “บำบัด” ว่าเขาสิ้นความสามารถในการดูแลบุตรจริงๆ หรือในความเป็นจริงแล้วเขายังไม่สูญเสียความสามารถนั้น

– ขยายบริหารให้พ่อหรือแม่ที่ออกจากคุกให้กลับสู่สภาวะที่ดูแลครอบครัวได้ เช่น บริหารการเคหะ การจ้างงาน การศึกษา การดูแลเพื่อไม่ให้กลับไปใช้ยาซ้ำ

– อำนวยความสะดวกในการเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ เพิ่มจำนวนนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาในเรือนจำ

– กำจัดอุปสรรคที่ทำให้ผู้เคยทำผิดเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ยุติการตีตราผู้กระทำความผิดผ่านฐานข้อมูลสาธารณะ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างมาตรการที่หลายประเทศใช้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าเราต้องเลียนแบบทุกอย่างทุกข้อ แต่ฉันเรียบเรียงมาเพื่อให้เราจินตนากรถึงทางออกของปัญหา และวิธีที่จะฟื้นฟูสังคมขึ้นมาให้ดีกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่การเรียกร้องโทษที่รุนแรงไปจนถึงการสาปแช่งว่าคนเหล่านี้ตายไปได้ยิ่งดี เพราะนั่นยิ่งเพิ่มความป่าเถื่อนรุนแรงกลับเข้าไปในสังคม

มีคำพูดเชยๆ ที่มักพูดว่า เราไม่อาจหวังผลลัพธ์ใหม่จากการกระทำแบบเก่าๆ ได้

ปัญหายาเสพติดก็เช่นกัน ทำไมเราถึงคิดว่าวิธีเดิมๆ เช่น การจับคนยัดคุกจะสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆ แก่เราได้? และทำไมเราไม่เรียนรู้บทเรียนจากสังคมอื่นที่เขาใช้วิธีใหม่และได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีกว่า

อย่าปล่อยให้รัฐเผด็จการทำให้เราสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปมากกว่านี้เลย