เงื่อนปม อยู่ครบหรือจบแบบยุบสภา | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

เงื่อนปม อยู่ครบหรือจบแบบยุบสภา

 

การเมือง 5 เดือนที่เหลือถัดจากนี้ เป็นภาพที่ต้องจับตาดูอย่างแทบไม่สามารถกะพริบตา

เหตุผลหนึ่ง คือการเข้าใกล้วันครบวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องเร่งวางแผนจัดการเตรียมการเลือกตั้ง

ในขณะที่บรรดานักเลือกตั้งย่อมต้องคิดอ่านถึงการหาพรรคการเมืองที่สังกัดที่เหมาะสมให้ตนเองมีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติ

หากแต่กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นั้นไม่เหมือนเดิม รวมกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เขียนเพิ่มเติมในกฎหมายลูก และ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นกลับเป็นเงื่อนปมสำคัญสำหรับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ต้องเลือกระหว่างอยู่ต่อไปจนครบวาระ หรือจบแบบยุบสภา

ทั้งนี้เพราะผลพวงที่ตามมาในแต่ละทางเลือกของการตัดสินใจนั้นแตกต่างกัน

 

เงื่อนไขสิ่งที่ต้องปฏิบัติหากสภาอยู่ครบวาระ

 

หากไม่มีการยุบสภา สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะปฏิบัติหน้าที่ครบ 4 ปีในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2566 เงื่อนไขของการปฏิบัติต่างๆ ที่ต้องดำเนินการในการเลือกตั้ง มีมากมายดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายในการหาเสียง

ตามมาตรา 64(1) กำหนดเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมือง ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากครบอายุสภาผู้แทนราษฎร ว่าให้คำนวณค่าใช้จ่ายนับแต่ 180 วันก่อนวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งและนับต่อเนื่องไปจนถึงวันเลือกตั้ง

ในประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ข้อ 4 กำหนดเงินที่ใช้ในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาท และ ข้อ 5 กำหนดให้พรรคการเมืองใช้จ่ายได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้จึงหมายความว่า การคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองในกรณีที่สภาอยู่ครบวาระ จึงครอบคลุมห้วงเวลายาวนานมากสุดถึงประมาณ 225 วัน คือ 180 วันก่อนครบวาระและช่วงก่อนเลือกตั้งอีกประมาณ 45 วัน

ค่าป้ายโฆษณา รถแห่หาเสียง ผู้ช่วยหาเสียง ใบปลิวแผ่นพับเอกสารที่แจกจ่ายประชาชน ค่าโฆษณาในวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ค่าเดินทาง ที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้สมัครและพรรคการเมืองจึงต้องจัดสรรอย่างมีแผนการเพื่อให้เพียงพอกับระยะเวลาที่ถูกขยายออกจากข้อกำหนดในกฎหมายดังกล่าว

2. ห้ามการกระทำเพื่อจูงใจให้ลงคะแนน

ตามมาตรา 68(1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ระบุว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดวิธีการหาเสียงให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ ในกรณีการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรราษฎร ที่ต้องดำเนินการตั้งแต่ 180 วันก่อนวันครบอายุ ยาวไปจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง

มาตรา 73 ของกฎหมายฉบับเดียวกันถือเป็นกฎเหล็กที่ใช้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง คือการห้ามผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้เลือกหรือไม่ให้เลือกใน 5 กรณีคือ 1) ใช้เงินซื้อเสียง 2) ให้เงินต่อชุมชน วัด สถานศึกษา ฯลฯ 3) จัดให้มีมหรสพ 4) จัดเลี้ยง และ 5) ปราศรัยใส่ร้าย

นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีการออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่นำมาใช้กับกรณีช่วง 180 วันอีกจำนวน 2 ฉบับ คือฉบับที่ 1 เมื่อปี 2561 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2562) และฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2565)

โดยฉบับที่ 1 เป็นการลงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการหาเสียง การติดประกาศโฆษณา การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดให้มีผู้ช่วยหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงต่างๆ เช่น ห้ามการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามผู้สมัครที่เป็นสื่อมวลชน สื่อโฆษณา ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียง และห้ามช่วยเหลือเงินให้แก่ผู้ใดตามประเพณีต่างๆ เป็นต้น

ส่วนฉบับที่ 3 ที่เพิ่งออกมาใหม่ เป็นการระบุถึงการจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในขณะที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ให้มีขนาด จำนวน และสถานที่ติดตามที่เคยดำเนินการมาการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และให้มีผลใช้บังคับต่อผู้ประสงค์จะสมัครในอนาคตด้วย

ปมเงื่อนเกี่ยวกับติดป้ายประกาศ จึงไปเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2562) ที่กำหนดขนาดแผ่นป้าย 3 ประเภท กำหนดจำนวนที่เป็นสัดส่วนต่อหน่วยเลือกตั้ง และสถานที่ติดตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศ

3. เลือกตั้งทั่วไปภายในกรอบเวลา 45 วัน แต่ต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง

มาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุว่า เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลา 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ

กรอบเวลา 45 วัน จึงเริ่มนับวันที่หนึ่งตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2566 และครบ 45 วันในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ซึ่งโดยปกติคณะกรรมการการเลือกตั้งมักจะใช้วันอาทิตย์เป็นวันเลือกตั้ง ดังนั้นกำหนดการเบื้องต้นในการเลือกตั้งทั่วไปหากสภาอยู่ครบวาระที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด จึงอยู่ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566

ในขณะที่มาตรา 97(3) กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

ดังนั้น หากสมมุติว่าวันเลือกตั้งในกรณีสภาครบอายุเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 การนับย้อนหลัง 90 วัน จะตกราววันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ซึ่งหากจะให้ปลอดภัยที่สุดควรสมัครเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งที่ประสงค์จะลงเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนมกราคม พ.ศ.2566

กติกาดังกล่าวจึงเป็นกติกาที่บีบรัดผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ต้องตัดสินใจในการสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งให้เป็นที่เรียบร้อยก่อนสิ้นเดือนมกราคมปีหน้า

เพราะหากเนิ่นช้าไปแล้ว แม้อยากจะลงก็จะติดขัดด้วยคุณสมบัติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคหนึ่งแต่ใจอยู่อีกพรรคหนึ่งไม่ว่าจะเป็นประเภทงูเห่าหรือประเภทฝากเลี้ยง ก่อนสิ้นเดือนมกราคม พ.ศ.2566 คงต้องตัดใจในการลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งๆ ยังอาจดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกอย่างน้อย 2 เดือน

หากใจเย็นแล้วล้ำเวลาเข้าไปในเขต 90 วันดังกล่าว อาจกลายเป็นสิ่งแช่แข็งทางการเมืองเนื่องเพราะหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ส่งลงเลือกตั้งก็ต้องร้องเพลงรอการเลือกตั้งรอบต่อไปทันที

เงื่อนปมการอยู่ครบวาระของสภาผู้แทนราษฎรจึงมีมากมายและเป็นข้อจำกัดต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองทั้งหลายว่าคงไม่แคล้วมีการยุบสภาก่อนครบวาระเพื่อหลบหลีกประเด็นปัญหาทั้งปวงข้างต้น

ส่วนผม วันนี้อยากเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่จนครบวาระแล้ว