“ช่างซอขี้ขอ เป๋นหมอขี้อู้” | ล้านนาคำเมือง

ภาพประกอบบทความ : วงเครื่องสายบางขุนพรหม ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในพระราชพิธีราชคฤหมงคล ขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล / แหล่งที่มา :ภาพจากหนังสือ จดหมายเหตุวังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548. ผู้เขียน กรรณิการ์ ตันประเสริฐ

“ช่างซอขี้ขอ เป๋นหมอขี้อู้”

 

ช่างฯซํอฯขี้ขํอฯ เปนฯหมฯฯํอฯขี้อู้

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ช่างซอขี้ขอ เป๋นหมอขี้อู้”

ช่าง แปลว่า ผู้ชำนาญการ

ซอ คือ การขับลำนำแบบล้านนา ส่วนใหญ่เป็นการขับร้องในเชิงปฏิภาณโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง โดยมีปี่ชุดเป่าประกอบ

ขี้ ในที่นี้แปลว่า ชอบ ขี้ขอ คือ ชอบขอ ขี้อู้ คือ ขี้คุย หรือชอบโว หรือโอ้อวด

หมอ คือ ผู้เชี่ยวชาญ หมอยา แปลว่า หมอผู้เชี่ยวชาญในการจ่ายยารักษาโรค

หมอขวากซุย คือ ผู้เชี่ยวชาญรักษากระดูกหัก (ขวากซุย แปลว่า เฝือกทำจากไม้ไผ่) หมอนวด คือ ผู้เชี่ยวชาญการนวด หมอควาย คือ ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาควาย

รวมความแล้วแปลว่า “คนขับซอมักชอบขอ คนเป็นหมอมักคุยโวถึงความสามารถของตนเอง”

สำนวนนี้นับเป็นการสะท้อนถึงความเป็นไปในสังคมล้านนา

 

“ซอ” นับอยู่ในประเภทเพลงพื้นบ้านของถิ่นล้านนา มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ มีช่างซอทำหน้าที่ขับซอโต้ตอบกันโดยอาศัยภาษา ฉันทลักษณ์แบบล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีปฏิภาณไหวพริบเฉพาะตัวแก้ลำกันไปมา ทำให้เกิดความสนุกสนานกินใจ โดยมีดนตรีประเภทปี่เป็นเครื่องประกอบจังหวะ ที่นิยมกันมาแต่โบราณเรียกว่า ซอคู่ เป็นการขับลำนำของชายหญิงโต้ตอบกัน

การซอของภาคเหนือคล้ายกับลำตัดของภาคกลาง และหมอลำกลอนของภาคอีสาน

การแสดงซอในแต่ละครั้งจะมีเจ้าภาพที่แน่นอน แต่ถ้าคนฟังชอบใจสำบัดสำนวน ปฏิภาณของช่างซอ ก็อาจจะมีทิปให้ต่างหาก บางครั้งทิปที่ช่างซอจะได้ก็มากอยู่ แต่ถ้าช่างซอไม่เอ่ยปากขอบ้าง คงเกรงว่าจะไม่มีแรงกระตุ้น

เช่น การแสดงซอในงานเข้าอินทขีล ใครเอาทิปไปให้ช่างซอ เขาก็จะถามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วเอาไปซอสดุดีการอุดหนุนปัจจัยแก่ตน ทำนองเป็นการเชิญชวนให้คนอื่นที่เดินผ่านไปผ่านมามาอุดหนุนทิปให้ช่างซอด้วย

บางครั้งช่างซอก็จะมีเทคนิคในการขอสตางค์ เช่น ว่า “นายสิบหื้อมาสองร้อย นายฮ้อยจะว่าจะได” ก็นายสิบให้ทิปมาสองร้อย นายร้อยก็ต้องให้ทิปมามากกว่านายสิบสิ หรือผู้ใหญ่บ้านให้สตางค์ทิปมาพันหนึ่ง แล้วนายก อบต.ก็น่าจะต้องให้มากกว่านั้น ช่างซอก็จะเรียกร้องออดอ้อนเอาจนได้

จึงมีสำนวนว่าไว้ “ช่างซอขี้ขอ” ซึ่งก็ไม่ผิดเสียทีเดียว

คนนั้นคนนี้ก่ขี้อู้ จะฟังไผดี แปลว่า คนนั้นคนนี้ต่างก็ขี้คุย จะฟังใครดี

ส่วน “หมอ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ แต่ส่วนมากมักจะหมายถึงผู้ที่รักษาโรคได้

ศัพท์ล้านนาเก่าแก่ไม่ได้เรียกหมอว่าหมอ แต่จะเรียกว่า “พ่อเลี้ยง” แทน เช่น “พ่อเลี้ยงชีค” คือนายแพทย์แมเรียน เอ. ชีค หมอแผนปัจจุบันคนแรกๆ ของเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัย พ.ศ.2418

โดยทั่วไป หมอโบราณของล้านนาจะเชี่ยวชาญเฉพาะการรักษาโรคบางโรค เช่น รักษามะเร็งไข่ปลา ซึ่งแปลว่างูสวัด ส่วนมากอาศัยการเสกเป่า ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน หมอจะต้องมีคาถาขมังเวทย์ใช้

แต่ถ้าไม่สื่อสารต่อๆ กันไป ชาวบ้านก็จะไม่รู้ว่าเวลาเป็นงูสวัดจะไปรักษาที่ไหนจึงจะได้ผลชะงัด ซึ่งบางครั้งก็เป็นตัวหมอเองนั่นแหละที่ต้องโฆษณาตัวเองบ่อยๆ

แถมสังคมล้านนายังมีความเชื่อเรื่อง “ผี” มีอิทธิพลต่อการวินิจฉัยอาการของโรค รวมทั้งการใช้ยารักษาประกอบกับคาถาอาคมของหมอ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกผีกระทำไม่สิ้นสุด และรักษาไม่หาย

ในกรณีนี้หมอก็ต้องอาศัยการโฆษณาตัวเอง ผู้คนถึงจะมาลองรักษา

ดังนั้น จึงมีคำกล่าวที่ว่า “หมอขี้คุย” อันเป็นปกติธรรมดาของหมอในสมัยนั้น •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่