วิกฤตหนี้ถาโถมจีน | บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

วิกฤตหนี้ถาโถมจีน

 

วิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ที่ได้เกิดขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในหลายประเทศ ที่ทำให้พากันทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมภาวะดังกล่าว

แต่เงินเฟ้อรอบนี้รุนแรงที่สุด โดยเฉพาะเงินเฟ้อจากพลังงานและอาหาร ที่ส่งผลสะเทือนต่อหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาและนำเข้า จนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอจนพาประเทศล้มละลาย อย่างที่เกิดขึ้นในศรีลังกา หรือบางประเทศที่กำลังสุ่มเสี่ยงอย่างมัลดีฟส์ ปากีสถาน พม่า หรือ สปป.ลาวที่กำลังเผชิญวิกฤตจากภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินกีบอ่อนค่า

หลายประเทศที่ถูกเอ่ยถึงเหล่านี้ ยังเป็นประเทศหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของจีน ที่จีนปักหมุดไว้ในยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) แต่ภาวะหนี้ท่วมที่มีจุดเริ่มต้นจากภาวะเงินเฟ้อในการผลิตอาหารและพลังงานหลังวิกฤตโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังคงยืดเยื้ออยู่ กำลังทำให้ตลาดเกิดใหม่ค่อยๆ ร่วงเป็นโดมิโน

แต่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้จีนจมดิ่งจากคลื่นวิกฤตครั้งนี้

แม้หลายประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็พากันค่อยๆ หายใจได้บ้างจากการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด แต่เดอะการ์เดียนรายงานข้อมูลของธนาคารโลกที่ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิกว่า จะลดลงจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 3 สาเหตุสำคัญมาจากวิกฤตเศรษฐกิจของจีน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 86 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ว่าปี 2022 อยู่ที่เพียงร้อยละ 2.8

ขณะที่ประเทศอื่นๆ 23 ประเทศในภูมิภาคคาดว่า GDP จะโตขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.3 มากกว่าการเติบโตเมื่อปีที่แล้วกว่า 2 เท่า ทำให้การเติบโตของ GDP จีนตามหลังประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 หรือในรอบ 30 ปี

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องด้วยจีนดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างเข้มงวดหลายครั้งและยาวนาน ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการขายในประเทศและการส่งออก พ่วงด้วยมีวิกฤตตลาดที่อยู่อาศัยและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนเดือนสิงหาคม ราคาบ้านใหม่ใน 70 เมืองของจีนลดลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบปีต่อปี และเกือบ 1 ใน 3 ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเป็นหนี้เสีย

และจากวิกฤตหนี้เสียในอสังหาริมทรัพย์ได้ส่งผลต่อธนาคารขนาดเล็กในบางมณฑลในจีนตัดสินใจระงับการถอนเงินจนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวจีนที่ต้องการเงินพวกเขาคืน เสมือนระเบิดเวลาขนาดย่อมที่กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ

และที่ดูจะเป็นการผีซ้ำด้ำพลอยจีนเข้าไปอีกคือ ค่าเงินหยวนอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนในตลาดนอกจีนแผ่นดินใหญ่ (Offshore) อ่อนค่าที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในเช้าวันนี้ USDCNH แตะระดับ 7.21 ในขณะที่ค่าเงินหยวนในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ (Onshore) USDCNY แตะระดับ 7.20 อ่อนค่าที่สุดตั้งแต่ปี 2008

ด้านธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังคงกำหนดค่ากลางเงินหยวนแข็งค่ากว่าที่ตลาดคาดต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในช่วงขาลง สืบเนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero covid policy) และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์

และผลจากการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้เงินเฟ้อกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังกระทบต่อโครงการก่อสร้างของจีนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศหุ้นส่วนในโครงการ BRI ต้องเจอภาวะหนี้ท่วมและเงินเฟ้อ

ฟอร์บส์ได้รายงานตามข้อมูลของธนาคารโลก ปี 2020 มี 97 ประเทศทั่วโลกอยู่ภายใต้หนี้สินของจีน

ประเทศที่มีหนี้จำนวนมากให้กับจีนส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา แต่ยังพบได้ในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก

โดยในปี 2565 ประเทศที่อยู่ภายใต้โครงการ BRI เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยเป็นหนี้ต่อจีนถึง 37% เมื่อเทียบกับราว 24% ในหนี้ทวิภาคีกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

โครงการระดับโลกของจีนในความช่วยเหลือทางการเงินในการก่อสร้างท่าเรือ ทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานทางบกทั่วโลก กลายเป็นแหล่งหนี้รายใหญ่ของประเทศจีนสำหรับประเทศที่เข้าร่วม

ในจำนวนนี้ มีผู้ที่มีหนี้ต่างประเทศกับจีนสูงที่สุด ได้แก่ ปากีสถาน 77.3 พันล้านดอลลาร์ แองโกลา 36.3 พันล้านดอลลาร์ เอธิโอเปีย 7.9 พันล้านดอลลาร์ เคนยา 7.4 พันล้านดอลลาร์ และศรีลังกา 6.8 พันล้านดอลลาร์

 

โครงการเหล่านี้ บริษัทต่างๆ ของจีนได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างนอกประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ไชน่า คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนสตรักชั่น กรุ๊ป (CCCG) กลุ่มรัฐวิสาหกิจในกำกับของรัฐบาลจีน เอเชีย นิกเกอิ รีวิว รายงานว่า บริษัทนี้กำลังมีความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมาก

แม้ว่าในปี 2021 CCCG จะสามารถทำกำไรได้ถึง 30,500 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นราว 70% จากปี 2016 แต่ภาระหนี้ของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขึ้นมาอยู่ที่ราว 1.84 ล้านล้านหยวนในเดือนมิถุนายน 2022 และความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก กำลังส่งผลให้รายได้จากโครงการในต่างประเทศของ CCCG มีแนวโน้มลดลง โดยปี 2021 สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ราว 13% ของรายได้ทั้งหมด จากที่ปี 2017 มีสัดส่วนสูงสุดถึง 24%

ตัวอย่างโครงการที่เห็นได้ชัดคือโครงการก่อสร้างท่าเรือฮัมบันโตตา (Hambantota) ในศรีลังกา ประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากแทบจะไม่มีผู้ใช้บริการ และถูกวิจารณ์เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ผลักให้ศรีลังกาต้องเผชิญภาวะ “กับดักหนี้” ของจีน และศรีลังกาได้ล้มละลายทางเศรษฐกิจไปแล้วจนนำไปสู่การโค่นรัฐบาลชุดก่อนและรัฐบาลชุดใหม่กำลังวิ่งขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ

ขณะเดียวกัน วิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของจีนก็เป็นอีกส่วนที่สร้างความเสี่ยงให้กับ CCCG เนื่องจากบริษัทพึ่งพิงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนค่อนข้างมาก คิดเป็นสัดส่วนราว 14% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2021

 

จากปัจจัยเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่า จีนกำลังเผชิญกับดักหนี้ที่ตัวเองก่อขึ้น แม้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จีนจะทุ่มเงิน 1 ล้านล้านหยวน เพื่อช่วยเหลือ แต่นักวิเคราะห์มองว่ายังทำไม่มากพอ และเมื่อสหรัฐฯประกาศขึ้นดอกเบี้ยจนทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า กดดันค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสกุลเงินทั่วโลกรวมถึงสกุลเงินหยวนเงินคงอิงค่าเงินดอลลาร์ ตอนนี้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ประกาศขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อจนดอลลาร์แข็งค่า แม้ยอมอ้าแขนรับเศรษฐกิจถดถอย แต่ยิ่งดอลลาร์แข็งค่า สกุลเงินอื่นกลับยิ่งอ่อนค่าลงแทน

สภาพเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่ปั่นกันในกรุ๊ปไลน์ว่า “ดอลลาร์จะกลายเป็นกงเต๊ก และหยวนกลายเป็นสกุลเงินหลักของโลก” กลับเป็นหยวนที่กำลังร่วง

แต่กว่าถึงจุดนั้น ค่าเงิน “บาท” คงร่วงพร้อมกับเศรษฐกิจไทยลงเหวก่อนแล้ว