ผ่อนเพลาพระเวหา | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ผ่อนเพลาพระเวหา

 

ปีหน้า 2566 จะครบห้าสิบปี 14 ตุลาคม 2516 พอดี คือครึ่งศตวรรษ

ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด

ร้อนที่แผดก็ผ่อนเพลาพระเวหา

เหยี่ยวตัวนี้ได้เจอมันอยู่กลางฟ้าใส ชายทะเลที่ “รูสะมิแล” หลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2514

จากนั้นสองปีอยู่กรุงเทพฯ จึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา พลันนึกถึงเหยี่ยวตัวนั้นได้

มันลอยนิ่งเหมือนกิ่งไม้สีดำขวางตรงนิ่งอยู่กลางฟ้าใสสีฟ้ากระจ่าง นานทีจึง “ขยับ” ที่ดูไม่ใช่ขยับ เพราะขยับต้องเขยื้อน จะว่า “กวัก” ปีกก็ดูไม่ใช่อีก เพราะกวักต้องมีอิริยาบถที่แรงและชัดกว่านี้ จึงนึกถึงคำอีกคำขึ้นได้คือ “กระหยับ”

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นี่แหละใช่เลย มันก็แค่ “ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีก” คือมันเป็นแค่ “เพียงความเคลื่อนไหว” ทางการเมืองจริงๆ

คือมันยังไม่ “เปลี่ยนแปลง” สักกี่มากน้อยอะไรเลยทางการเมือง

 

ยังมีปัญหาเรื่องอำนาจอยู่ทั้งสี่สายอำนาจ คือ การได้มา การทรงไว้ การใช้ และการมีส่วนร่วม

ถ้าการได้มาซึ่งอำนาจคือการเลือกตั้ง ก็ปฏิเสธได้ยากเรื่องการซื้อเสียง-ขายเสียง และการใช้เงินมหาศาลทุ่มเทเพื่อการ “ได้มาซึ่งอำนาจ”

ถ้าการได้มาซึ่งอำนาจด้วยการรัฐประหารหรือจากการแต่งตั้ง ก็ไม่พ้นเรื่องการครหาว่าร้ายว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

การทรงไว้ซึ่งอำนาจก็เช่นกัน ยากจะไปพ้นจากอคติ และด่านแห่งการช่วงชิงอำนาจ

การใช้อำนาจก็มักเป็นธรรมดาที่จะถูกจับผิดกันได้อยู่เสมอ

สำคัญสุดคือ การมีส่วนร่วมในอำนาจของประชาชน ซึ่งมักสวนทางกันอยู่เสมอด้วยการตั้งแง่เป็นศัตรูผู้คิดต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามอยู่ร่ำไป

อำนาจทั้งสี่สายหรือสี่ประการนี้ เป็นหัวใจของประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย คือ “อำนาจของประชาชน”

เพราะฉะนั้น “อำนาจ” จึงต้อง “ชอบธรรม”

ต้องชอบธรรมทั้งสี่อำนาจ คือ การได้มา การทรงไว้ การใช้ และการมีส่วนร่วม

 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่จะครบห้าสิบปีในปีหน้านี้ก็คือเหตุการณ์แค่ “ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีก” หาได้มีการขยับเขยื้อน หรือขับเคลื่อนการกวักปีกให้ชัดเจนไม่

ด้วยภาพอัปลักษณ์แห่งอำนาจทั้งสี่ดังกล่าวข้างต้นนั้น

กระนั้น ความเคลื่อนไหวของ 14 ตุลาก็ชวนให้ “คิดตาม-คิดต่อ” ได้ถึงความเคลื่อนไหวสามประการอันดำรงอยู่ในทุกสังคม คือ การปฏิวัติ ปฏิรูป และปฏิสังขรณ์ ความหมายคือ

ปฏิวัติ หมายถึง เปลี่ยนแปลง

ปฏิรูป หมายถึง ปรับเปลี่ยน

ปฏิสังขรณ์ หมายถึง ปรับปรุง

ขณะนี้ประเทศเรากำลังใช้กระบวนการ “ปฏิรูป” คือพยายามประยุกต์ใช้ทั้งการปฏิสังขรณ์ คือปรับปรุง และปฏิวัติ คือเปลี่ยนแปลง ซึ่งคือการนำคำว่า “ปรับ” จาก “ปรับปรุง” ในปฏิสังขรณ์ และคำว่า “เปลี่ยน” จาก “เปลี่ยนแปลง” ในปฏิวัติ มารวมเป็นการพยายามจะ “ปรับเปลี่ยน” ในการ “ปฏิรูป” อยู่นี้

ซึ่งยากหนักหนาสาหัสนัก

 

ด้วยพลังแท้จริงของแผ่นดินไทยวันนี้มีห้าพลัง คือ พลังบารมี พลังอำนาจ พลังโลกยุคใหม่ พลังทุน และพลังปัญญาประชาชน ซึ่งพอจะจำแนกดังนี้

พลังบารมี คือ พลังอดีตต้นเหง้าเค้ารากของแผ่นดินอันดำรงมาจนกลายเป็นวิถีชีวิตอยู่นี้

พลังอำนาจ คือ พลังกองทัพ

พลังโลกยุคใหม่ คือ นวัตกรรมใหม่ของโลกวันนี้

พลังทุน คือ สังคมทุนนิยมอันดำรงและครอบงำอยู่

พลังปัญญาประชาชน คือ จิตสำนึกในประชาธิปไตย

ทั้งห้าพลังล้วนมีสองด้านคู่ตรงข้ามกัน

พลังแผ่นดิน คู่ตรงข้ามคือ ความตื่นรู้กับตื่นหลง

พลังอำนาจ คู่ตรงข้ามคือ ส่วนตัวกับส่วนรวม

พลังโลกยุคใหม่ คู่ตรงข้ามคือ ใช้ถูกกับใช้ผิด

พลังทุน คู่ตรงข้ามคือ ทุนสัมมากับทุนสามานย์

พลังปัญญาประชาชน คือ เป็นใหญ่กับเป็นเหยื่อ

ปัญหาของทุกพลังวันนี้ คือมักคิดว่าตนมีและใช้ในฟากส่วนที่ถูกต้องแล้ว เหมือนโวหารว่า

“สังคมเลววันนี้ ไม่ได้อยู่ที่มีคนเลวมากกว่าคนดี หรือทำดีน้อยกว่าทำเลว แต่อยู่ที่ทุกคนในสังคมไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรเลว”

บางทีไอ้เหยี่ยวตัวที่กำลังกระหยับปีกตัวโน้นกับตัวนี้อาจเป็นคนละตัวก็ได้ ตัวนี้อาจเป็นแร้ง ดังหลวงพ่อชาเคยว่า จึงเอามาผูกเป็นกลอนว่า

ธรรมดาว่าแร้งนั้นบินสูง

จะบินเดี่ยวบินฝูงก็สูงสง่า

แต่พอครั้นแร้งหิวก็ลิ่วมา

ลงกินหมาเน่าเหม็นเป็นธรรมดา!

 

พลังเอกภาพ

ภูมิพลังสร้างสรรค์ แห่งสังคม

เอกอุดมศักดา ห้าสถาน

หนึ่ง พลังบารมี แต่โบราณ

อันบันดาลแผ่นดิน ดำรงมา

สอง พลังอำนาจ ศัสตราวุธ

สาม พลังเจริญรุด แห่งโลกหล้า

สี่ พลังแห่งทุน คือเงินตรา

ห้า พลังปัญญาประชาชน

พลัง คือกำลัง อันตั้งมั่น

ส่งสู่กันและกัน บันดาลผล

ทั้งขึ้นต่อกันและกัน บันดาลดล

เป็นไกกล กลมเกลียวหนึ่งเดียวกัน

ขุมพลังทั้งหลาย ทลายลง

ถ้าต่างธง ต่างทาง ต่างตั้งมั่น

ต่างตั้งหน้าฝ่าฟัด เข้าฟาดฟัน

เข้าประชัน ช่วงชิง การเชิดชู

เอกภาพ แห่งพลังสร้างสรรค์

ใช่ต่างคนต่างประชัน หันหน้าสู้

ทุกพลัง ต้องรวม ต้องร่วมรู้

มาร่วมดูแลด้วย…มาช่วยกัน!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ •

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์