เสถียร โพธินันทะ : องค์ปาฐก นุ่งขาสั้น [ดังได้สดับมา]

เมื่อปี 2488 ยุวชน เสถียร กมลมาลย์ อายุได้ 17 ปี มีผลงานเป็นบทความเรื่อง “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” ตีพิมพ์ในธรรมจักษุ

ปี 2489 ยุวชน เสถียร กมลมาลย์ อายุได้ 18 ปี

สุชีพ ปุญญานุภาพ กล่าวว่า ได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาในสิ่งต่างๆ แห่งแรกที่แสดงถึงพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ที่หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร แต่งตัวแบบนักเรียนไปแสดง

“คือ ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว นุ่งกางเกงสีดำขาสั้น แสดงเรื่องอะไรจำไม่ได้

“จำได้แต่เพียงว่า ผู้เขียนประวัติเป็นผู้นำเด็กชายผู้นี้ไปแสดงและทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้กำลังใจ คอยแนะนำติชม เมื่อไปพูดในที่ต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งได้ทำความตื่นเต้นสนใจให้แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง”

เพราะว่าผู้แสดงปาฐกถาอายุเพียง 18 ปี

เห็นได้จากบทความไว้อาลัยจากยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในหนังสือในงานบำเพ็ญกุศลสัตตมวารที่ 3 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2509

นั่นก็คือ

เมื่อ 18 ปีมาแล้ว สมัยนั้น พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ยังตั้งอยู่ที่ตึกสภามหามกุฏราชวิทยาลัยหน้าวัดบวรนิเวศฯ มีรายการเผยแพร่ความรู้ทางธรรมเป็นประจำทุกวันเสาร์

ในรายการปาฐกถาธรรมวันเสาร์ใดเสาร์หนึ่งเราได้พบเขาเป็นครั้งแรก

เขาเป็นชายหนุ่มร่างบอบบาง ผิวขาวสะอาด หน้าตาชวนให้ผูกมิตร เขาแสดงปาฐกถาในวันนั้นด้วยภูมิปัญญาอันแตกฉานอย่างน่าพิศวง

ไม่ใช่แต่เราเท่านั้นที่อัศจรรย์ใจ แม้ใครๆ ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็แสดงความอัศจรรย์เช่นเดียวกับเราด้วย เราเริ่มนิยมชมชื่นต่อภูมิปัญญาของเขาผู้นั้นทันที เมื่อจบการปาฐกถาแล้วเราได้ทำความรู้จักกับเขา

นับแต่นั้นมาเราได้ติดตามฟังการบรรยายของเขา อ่านหนังสือที่เขาเขียน สนทนากับเขา

จนกระทั่งได้ร่วมคิดกับเขารวมกลุ่มเยาวชนที่สนใจพระพุทธศาสนาตั้งเป็นชมรมขึ้นที่วัดกันมาตุยารามโดยท่านสุชีโว ภิกขุ เป็นผู้อุปถัมภ์

ท่านผู้นี้เป็นอาจารย์ของเขามาก่อน และเมื่อเราตั้งชมรมขึ้น ท่านก็เป็นอาจารย์ของพวกเราด้วย

ต่อมา เมื่อชมรมเยาวชนนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางขึ้นจนหยั่งรากลงสู่ความเป็นสมาคมอย่างสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว เขาก็เป็นขวัญใจของยุวพุทธิกสมาคมฯ ตลอดมาในฐานะผู้เริ่มการก่อตั้ง

และทรงคุณวุฒิยอดเยี่ยม

นั่นเป็นภาพของ เสถียร กมลมาลย์ ระหว่างปี 2488-2489 อันเป็นห้วงที่ได้ลาออกจากโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุขและเข้าศึกษาโดยตรงที่วัดกันมาตุยารามกับ สุชีโว ภิกขุ

เห็นได้จากคำบรรยายของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สะท้อนกระบวนการเรียนรู้ระหว่าง สุชีโว ภิกขุ เปรียญธรรม 9 ประโยค กับ เสถียร กมลมาลย์ นักเรียนซึ่งเพิ่งลาออกจากชั้น ม.5

เมื่อ เสถียร กมลมาลย์ อ่านพระไตรปิฎกภาษาไทยแล้วอยากทราบว่าตรงนั้นๆ ต้นฉบับภาษาบาลีว่าอย่างไรก็ไปถามท่านสุชีโวผู้เป็นอาจารย์ ท่านก็เปิดพระไตรปิฎกให้ดูและบอกวิธีค้นด้วย ต้องดูข้อให้ตรงกัน ส่วนหนึ่งนั้นฉบับภาษาไทยกับบาลีอาจคลาดเคลื่อนได้

เสถียร กมลมาลย์ ไปเปิดตามอาจารย์บอก อ่านกลับไปกลับมา 2-3 เที่ยวก็จำได้หมด เวลาไปพูดที่ไหนก็อ้างภาษาบาลีเป็นหน้าๆ เป็นที่อัศจรรย์

ต่อมาได้เป็นอาจารย์สอนพระนิสิตของมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านพาพระพม่า พระลังกา เที่ยวชมวัดต่างๆ บางโอกาสท่านพูดภาษาบาลีกับพระเหล่านั้นคล่องแคล่ว

เป็นความอัศจรรย์ที่แม้กระทั่ง เปรียญธรรม 9 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอย่าง เสฐียรพงษ์ วรรณปก ก็ต้องออกปากยกย่อง

เป็นความอัศจรรย์ที่คนหนุ่มรุ่นเดียวกันเมื่อฟังปาฐกถาก็ต้องทึ่ง

ด้วยการใฝ่หาในความรู้ ด้วยแรงดึงดูดจากความเชื่อมั่นและศรัทธาในพระพุทธศาสนาโดยแท้ ทำให้ เสถียร กมลมาลย์ ได้เข้าไปร่วมกับชมรมคนรุ่นใหม่

กระทั่งกลายเป็นที่มาแห่ง “ยุวพุทธิกสมาคม”