ความอาภัพของดอกไม้ที่จ้องตามดวงตะวัน | On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในเทพปกรณ์กรีก-โรมัน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “นางพราย” (water nymph/Oceanid) ที่ไปหลงรัก “ดวงอาทิตย์” ก็เลยต้องกลายร่างเป็น “ดอกไม้” ชนิดหนึ่งไปในที่สุด ที่เอาแต่จ้องมองดวงอาทิตย์อยู่ตลอด ซึ่งจะว่าไปแล้ว เรื่องมันก็จบลงอย่างเศร้าสร้อย แต่ก็แสนที่จับใจเสียเหลือเกิน

แน่นอนว่า ใครต่อใครในยุคปัจจุบันนี้ มักจะเข้าใจกันว่า เจ้าดอกไม้ชนิดที่ถูกเล่าถึงอยู่ในปกรณัมโบราณเรื่องนี้ก็คือ เจ้าดอกไม้สีเหลืองอร่าม ที่รู้จักกันในโลกภาษาไทยในชื่อ “ดอกทานตะวัน”

แต่มันจะเป็นไปได้ยังไงเล่าครับ ในเมื่อเจ้าดอกทานตะวันที่ว่านี้ เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ และไม่เคยมีอยู่ในทวีปยุโรป รวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ ในผืนโลกเก่า (ได้แก่ เอเชีย และแอฟริกา) จนกระทั่ง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ไปค้นพบทวีปอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1492 แล้วมีการนำเจ้าดอกไม้ชนิดนี้กลับมาปลูกในยุโรปกันในภายหลัง

 

ปกรณัมรันทดเรื่องที่ว่านี้ ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับ แต่ฉบับที่พรรณนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดลออที่สุดก็คือ เอกสารภาษาละตินที่ชื่อ “Metamorph?se?n libr?” (แปลตรงตัวว่า หนังสือว่าด้วยการกลายร่าง) ของชาวโรมที่ชื่อ ปูบิลุส โอวิดิอุส นาโซ่ (P?blius Ovidius N?s?) หรือที่ในโลกภาษาอังกฤษรู้จักเขาในชื่อว่า “โอวิด” (Ovid, มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง 43 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.17 หรือ 18)

ในหนังสือที่ว่าด้วยการกลายร่างของโอวิดเล่มที่ว่านี้ ได้เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับดอกไม้ที่กลายร่างมาจากนางพรายดังกล่าวเอาไว้ในช่วงหนึ่งของบรรพที่ 4 ของหนังสือเล่มนี้ โดยนางพรายผู้จะมารับบทเป็นตัวละครแสนอาภัพในที่นี้ เธอมีชื่อว่า “ไคลตี” (Clytie)

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า “ไคลตี” นั้นเป็นหนึ่งในบรรดาคนรัก (แปลว่า ไม่ได้มีแค่คนเดียว) ของ “โซล” (Sol) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์

แต่บังเอิญว่า โซลนั้นเกิดไปมีเรื่องผิดใจกับเทพีแห่งความรัก, ความงาม และดาวพระศุกร์ที่ชื่อว่า “วีนัส” (Venus, กรีกเรียก “อะโฟรไดที” [Aphrodite]) เพราะว่าโซลนั้นเอาเรื่องที่วีนัสกับมาร์ส (Mars, อนุโลมได้ว่าตรงกับเทพ “เอเรียส” [Ares] ของกรีก) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม และดาวอังคาร ที่ชนชาวโรมันถือว่าเป็นเทพบิดรของพวกตน ลักลอบทำชู้กันไปเล่าให้กับสามีของวีนัสคือ เทพแห่งไฟจากภูเขาไฟ และงานโลหกรรมที่ชื่อว่า “วัลแคน” (Vulcan, กรีกเรียก “เฮเฟสตุส” [Hephaestus]) ฟัง

วัลแคนนั้นถึงกับจิตใจแหลกสลาย ดังนั้นเขาจึงวางอุบายล้างแค้นด้วยการตีทองสำริดเป็นเส้นเชือกบางเบา แล้วถักให้เป็นแห ก่อนจะแอบนำมาซ่อนเอาไว้บนเตียงอย่างแนบเนียน จนเมื่อวีนัสกับมาร์สมาประกอบกามกิจกันบนเตียงจึงได้ถูกแหวิเศษของวัลแคน คลุมไว้จนดิ้นไม่หลุด วัลแคนจึงค่อยเปิดประตูห้องเพื่อให้เหล่าเทพเจ้าเข้ามาเป็นประจักษ์พยาน จนเป็นที่ขบขันกันไปทั่วทั้งสรวงสวรรค์

ด้วยเหตุนี้เองวีนัสเธอก็เลยแค้นโซลอย่างจับจิต และในฐานะเทพีผู้ครองความรัก ไท้เธอจึงได้ดลบันดาลให้โซลนั้นหันไปคลั่งรักเจ้าหญิง “ลิวโคโธ” (Leucotho?) ผู้เลอโฉม แห่งราชวงศ์อาร์เคมีนิด ผู้ปกครองจักรวรรดิเปอร์เซีย

เมื่อโซลถูกวีนัสสาปเรียบร้อยแล้ว ก็หลงรักเจ้าหญิงลิวโคโธเข้าอย่างหัวปักหัวปำ จนในที่สุดเขาก็อดรนทนไม่ได้ เลยเนรมิตร่างกายตนเองเป็นแม่ของเจ้าหญิงลิวโคโธ เพื่อหลอกให้เจ้าหญิงแสนงามองค์นี้ยอมอยู่กับตนเองเพียงสองต่อสอง จากนั้นจึงค่อยแปลงกลายกลับมาเป็นสุริยเทพโซลดังเดิม

และเรื่องราวหลังจากนั้นผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า เทพเจ้าแห่งดวงตะวันองค์นี้จะทำอะไรกับเจ้าหญิงที่เขาถูกสาปให้หลงรัก?

 

เมื่อนางพรายไคลตีรู้เรื่องเข้าก็หึงหวงและโกรธเจ้าหญิงลิวโคโธเป็นฟืนเป็นไฟ นางจึงได้นำเรื่องไปฟ้องกับกษัตริย์ออร์คามุส (Orchamus) ผู้เป็นพ่อของลิวโคโธ จนทำให้องค์กษัตริย์รู้สึกอับอายมาก จึงสั่งให้ทำโทษลูกสาวของตนเองด้วยการฝังดินทั้งเป็น ระหว่างที่กำลังถูกฝังนั้น เจ้าหญิงผู้อาภัพนางนี้ได้ชูมือขึ้นไปต้องแสงอาทิตย์ พร้อมกับพร่ำพูดว่า “เขาบังคับข้า ข้าไม่ได้สมยอม”

โอวิดเล่าต่อไปว่า โซลไม่เคยประสบพบเจอกับความเศร้าสลดถึงเพียงนี้มาก่อน หลังจากคร่ำครวญอยู่นาน เขาจึงโรยฝุ่นดิน และพรมน้ำทิพย์หอมจรุงลงไปบนผืนดินที่เจ้าหญิงคิวโลโธถูกกลบฝัง แล้วเอ่ยขึ้นมาว่า “เจ้าจงสัมผัสกับอากาศได้ดังที่เคยเป็น” จากนั้นร่างกายที่เปียกชุ่มด้วยน้ำทิพย์ที่หอมกรุ่นจากสวรรค์ของนางก็ละลายลง และทำให้โลกรู้จักกลิ่นหอมของสวรรค์ด้วยร่างกายที่กลายมาเป็นต้นไม้ที่ชอนไชขึ้นจากพื้นดิน

ถึงแม้โอวิดจะไม่ได้เอ่ยออกมาว่า เจ้าหญิงลิวโคโธได้กลายร่างเป็นต้นไม้ชนิดไหน แต่ในเอกสารอื่นๆ ก็ระบุเอาไว้ตรงกันว่า นางได้กลายมาเป็นไม้กำยาน

ส่วนนางพรายไคลตีนั้น สุริยเทพไม่มีเหตุผลให้ต้องมาพบนางอีก และเขาก็ไม่เคยเฉียดกรายไปใกล้นางพรายตนนี้อีกเลยนับแต่เกิดเรื่อง ไคลตีรู้สึกเจ็บปวดกับความรักที่สูญสลาย เธอนั่งกระสับกระส่ายอยู่บนพื้นดินเปล่าๆ โดยปราศจากน้ำและอาหารอยู่ถึง 9 วันเต็มๆ

ตลอดช่วงระยะเวลาที่ว่านี้ นางพรายไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากจ้องมองไปที่ตัวสุริยเทพโซลอย่างไม่คลาดสายตา ร่างกายของเธอเริ่มเปลี่ยนแปลง ผิวซีดจนคล้ายพืชไม่มีสีเลือด แขนและขาเกาะติดกับดินจนกลายเป็นรากไม้ ในที่สุดไคลตีก็กลายสภาพไปเป็นดอกไม้ที่เอาแต่จ้องมองดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนจรดสิ้นแสงฉาน

โอวิดพรรณนาเอาไว้ใน Metamoephoses เล่มเดิมไว้อย่างชัดเจนเลยนะครับว่า “เธอเปลี่ยนรูปลักษณ์ร่างกายเป็นพืชที่ไม่มีเลือด แต่บางส่วนกลับแดงฉาน และมีดอกไม้สีม่วงซ่อนอยู่ในวงหน้าของนาง” ดังนั้น นางพรายตนนี้จึงไม่ได้กลายไปเป็นดอกไม้สีเหลืองอ๋อยอย่างดอกทานตะวันแน่

turnsole flower

ในยุโรปมีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่หันหน้าตามหาดวงอาทิตย์ทั้งวัน ไม่ต่างอะไรกับดอกทานตะวันเลยสักนิด แถมยังมีดอกเป็นสีม่วงเล็กๆ รวมหมู่อยู่กันเป็นช่อ เรียกว่า “ดอกเทิร์นโซล” (turnsole)

คำว่า “turn” ในชื่อของเจ้าดอกไม้จิ๋วนี่ มีรากมาจากคำในภาษาละตินคือ “tornare” ที่แปลว่า “เลี้ยว” ซึ่งก็คือรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า “turn” ในภาษาอังกฤษปัจจุบันนั่นเอง ส่วนคำว่า “sole” มีรากมาจากภาษาละตินอีกเช่นกันคือคำว่า “sol” ที่แปลว่า “ดวงอาทิตย์” และก็คือ “โวล” เดียวกันกับชื่อพระสุริยเทพที่โอวิดกล่าวถึงนั่นแหละ

ในหนังสือ Metamorphoses นั้น โอวิดเรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า “โซล” ตามชื่อในภาษาละติน ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการประพันธ์หนังสือที่ว่าด้วยการกลายร่างเล่มนี้ แต่ถ้าเราไปอ่านดูจากเอกสารที่ใช้ภาษากรีกแล้ว เขาเรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า “เฮลิออส” (Helios) ซึ่งก็คือ เทพแห่งดวงตะวันเหมือนกัน

สุริยเทพของพวกกรีกที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันนั้นคือ “อพอลโล” (Apollo) ซึ่งเป็นคนละองค์กันกับ “เฮลิออส” ที่เป็นกลุ่มเทพเจ้ารุ่นเก่าก่อนอพอลโล โดยถือว่าเป็นหนึ่งในคณะเทพไททัน (Titan) ที่ปกครองสวรรค์ตามจักรวาลวิทยาของพวกกรีกมาก่อนคณะเทพโอลิมเปียน (Olympian, หมายถึงคณะเทพบนเขาโอลิมปุส [Olympus]) ของเทพอพอลโล ตามปรัมปราคติของกรีกนั้น พวกเทพโอลิมเปียนที่นำโดยเทวราชที่ชื่อ “ซุส” (Zeus) ผู้เป็นพ่อของอพอลโลนั้น ได้จับเอาคณะเทพไททัน (ซึ่งก็คือคณะเทพที่นำโดยพ่อแท้ของซุสอย่าง “โครนอส” [Cronos]) โยนลงในชุมนรก “ทาร์ทารุส” (Tartarus) ที่มืดทมิฬเพราะอยู่ลึกที่สุดในจักรวาล

และนี่ยังไม่นับด้วยว่า เมื่อชื่อของอพอลโลปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกๆ ในเอกสารนั้น ชาวกรีกไม่ได้นับถือไท้เธอในฐานะ “สุริยเทพ” แต่นับถือในฐานะ “เทพแห่งแสงสว่าง” ต่างหาก อพอลโลเพิ่งจะถูกโยกมากินตำแหน่งเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์เอาพร้อมๆ กับที่พวกกรีกสถาปนากลุ่มเทพโอลิมเปียนเท่านั้นเอง ดังนั้น อพอลโลกับเฮลิออสจึงมีคุณลักษณะที่ปนๆ กันอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชาวโรมันนั้น มักจะเรียกสุริยเทพว่า “โซล” มากกว่าชื่ออื่นๆ

นางพรายไคลตีนั้น จึงควรที่จะกลายร่างเป็น “ดอกเทิร์นโซล” อันเป็นดอกไม้ที่มีอยู่ในยุโรปมาตั้งแต่ยุคคลาสสิค ไม่ใช่ “ดอกทานตะวัน” อย่างที่มักจะเข้าใจผิดกันนั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ