ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล | นายดาต้า
เมื่อไรจะพ้น ‘สิ้นหวัง’
การเมืองจะเป็นอย่างไร คือคำถามที่ได้ยินบ่อยสุดในช่วงนี้
คำตอบที่ต้องการคือ “ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง พรรคไหนจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล”
ตามวาระสภาผู้แทนราษฎร จะครบ 4 ปีในเดือนมีนาคม 2565 หมายถึงจะต้องตั้งรัฐบาลชุดใหม่กันราวเดือนพฤษภาคมหลังจากนั้น
ถ้าเป็นไปตามปกติ คือ “รัฐบาลที่มีมาจากการเลือกตั้งแบบที่นานาชาติเข้าเป็นกัน โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว”
จากคำถามข้างต้น คำตอบก็ไม่น่าจะยาก เนื่องพอจะมองกันได้อยู่แล้วว่าพรรคการเมืองไหนเป็นปึกแผ่น พรรคการเมืองไหนมีปัญหาความขัดแย้งภายใจ และอ่อนกำลังลง พรรคไหนมีพลังมากกว่า
จะว่าไปผลสำรวจหลายๆ ครั้งของสำนักโพลต่างๆ ย่อมบอกแนวโน้มได้ชัดเจนไม่น้อย
อย่างผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนอีสาน”
หากการเมืองเป็นไปตามผลโพลซึ่งออกมาว่า
บุคคลที่คนอีสานจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 36.45 น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร, ร้อยละ 12.65 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร้อยละ 10.20 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ร้อยละ 10.20 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, ร้อยละ 9.85 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 6.50 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, ร้อยละ 3.95 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, ร้อยละ 2.80 นายอนุทิน ชาญวีรกูล, ร้อยละ 1.75 นายกรณ์ จาติกวณิช, ร้อยละ 1.30 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ที่เหลือเป็นคนอื่นๆ รวมกัน ร้อยละ 4.35
เมื่อถามถึง “พรรคการเมืองที่คนอีสานมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต” ร้อยละ 53.35 เพื่อไทย, ร้อยละ 13.60 ก้าวไกล, ร้อยละ 8.50 ยังไม่ตัดสินใจ, ร้อยละ 5.60 ภูมิใจไทย, ร้อยละ 5.30 พลังประชารัฐ, ร้อยละ 3.05 ประชาธิปัตย์, ร้อยละ 2.55 ไทยสร้างไทย, ร้อยละ 1.35 ชาติพัฒนากล้า, ร้อยละ 1.15 ชาติไทยพัฒนา, ร้อยละ 1.50 สร้างอนาคตไทย, ที่เหลือเป็นพรรคอื่นๆ รวมร้อยละ 1.50
และในคำถามพรรคการเมืองที่คนอีสานมีแนวโน้มจะเลือกในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 51.40 เพื่อไทย, ร้อยละ 15.10 ก้าวไกล, ร้อยละ 9.10 ยังไม่ตัดสินใจ, ร้อยละ 5.35 ภูมิใจไทย, ร้อยละ 5.25 พลังประชารัฐ, ร้อยละ 3.00 ประชาธิปัตย์, ร้อยละ 2.55 ไทยสร้างไทย, ร้อยละ 2.50 เสรีรวมไทย, ร้อยละ 1.45 ชาติไทยพัฒนา, ร้อยละ 1.25 ชาติพัฒนากล้า, ร้อยละ 1.05 สร้างอนาคตไทย, พรรคที่เหลือได้รวมกัน ร้อยละ 2.00
หากจะมองผลสำรวจนี้เป็นแค่ผลโพล และเฉพาะคนอีสานก็ได้ แต่หากตรวจสอบความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไปก็ดูจะไม่ต่างไปจากนี้นัก และประวัติศาสตร์ทางการเมืองให้คำตอบมาเสมอ คะแนนเสียงของคนอีสานคือตัวกำหนดพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง
หากการเมืองเป็นไปอย่างที่โลกประชาธิปไตยซึ่งให้คุณค่ากับการตัดสินใจของประชาชนเป็นหลัก
คำตอบในคำถามข้างต้นคือพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคในฝ่ายที่ยืนหยัดอยู่กับแนวทางประชาธิปไตยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
พรรคการเมืองฝ่าย “สืบทอดอำนาจ” แทบไม่เหลือโอกาสเลย และหมายถึง “พรรคที่รอกินน้ำใต้ศอกขบวนการสืบทอดอำนาจ” ที่อิมหมีพีมันกันถ้วนหน้าอยู่ขณะนี้ จะแทบไม่มีพลังต่อรองอะไรเลย
หากการเมืองเป็นเรื่อง “อำนาจของประชาชน”
อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยมักไม่เป็นเช่นนั้น
หากเริ่มต้นคำถามว่า “ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี” โดยมองความเป็นจริงของการเมืองแบบไทยๆ ที่ตัวกำหนดไม่ได้มีเพียงอำนาจประชาชน
หนำซ้ำกลไกของ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” ดูจะมีพลังมากมาย
คำตอบจึงเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่ใครจะทุบโต๊ะฟันธงได้
แม้จะเป็นชะตากรรมที่นำสู่ความสิ้นหวังทางการเมือง แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีทางออกอื่น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022