จากบทเรียน ‘ทนายไก่หมุน’ สภาทนายความ ปรับสู่องค์กรดิจิทัล | บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

จากบทเรียน ‘ทนายไก่หมุน’

สภาทนายความ ปรับสู่องค์กรดิจิทัล

 

ทําเอากระบวนการยุติธรรมปั่นป่วน กรณีนายพรเทพ คะเชนทร์ภักดิ์ พ่อค้าขายไก่หมุนสุดแสบ ปลอมเป็นทนายความขึ้นว่าความในศาลหลายพื้นที่ บางคดีตัดสินแล้ว บางคดีชนะ บางคดีไกล่เกลี่ยสำเร็จ

โดยวิธีการปลอมเป็นทนายความของนายพรเทพจนเกมโอเวอร์นั้น เพราะมีลูกความโดนหลอกเอาเงินจึงตรวจสอบทนายเก๊คนนี้

จากบันทึกการตรวจสอบประวัติทนายความ สำนักทะเบียนสภาทนายความ ลงวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า ไม่ปรากฏชื่อนายพรเทพในทะเบียนทนายความ และพบว่าได้ปลอมใบอนุญาตเป็นทนายความ โดยใช้เลขหมายใบอนุญาตบุคคลอื่น

เมื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มยังพบว่าพ่อค้าขายไก่หมุนรายนี้ปลอมคำพิพากษาและมีพฤติกรรมรับคดีความแล้วทิ้งคดีอีกด้วย

นอกจากก่อเหตุในบริเวณศาลแล้ว จากการสอบถามไปยังตำรวจ สภ.เมืองกำแพงเพชร ทราบว่า เคยเจอชายดังกล่าวภายในห้องรับแจ้งความ โดยทนายความเก๊คนนี้มาแสดงตัวว่าเป็นทนายความพาลูกความมาแจ้งความในคดีต่างๆ บางครั้งมาขอคำแนะนำเรื่องคดีของลูกความบ้าง

ก่อนโดนจับ 2 สัปดาห์ พาลูกความมาแจ้งความ เพิ่งมาทราบจากข่าวว่าถูกจับกุมเป็นทนายความปลอม

 

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม พบคดีในศาลยุติธรรมที่พ่อค้าขายไก่หมุนปลอมเป็นทนายความไปว่าความ 5 คดี แบ่งเป็นศาลกำแพงเพชร 3 คดี ศาลนครสวรรค์ 1 คดี ศาลพิษณุโลก 1 คดี

ส่วนเรื่องที่จะต้องมีคำสั่งเพิกถอนรายงานกระบวนการพิจารณาใหม่หรือไม่นั้น ต้องดูรายละเอียด อย่างพบว่ามีคดีหมิ่นประมาทที่ผู้ต้องหาคนดังกล่าวไปว่าความศาลกำแพงเพชรก็นัดพร้อมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในวันที่ 26 ตุลาคมนี้

ส่วนที่มีการอ้างทนายความปลอมรายนี้ว่าความฝั่งจำเลยชนะคดีที่มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงคือคดีดังกล่าวเป็นคดียักยอกทรัพย์ มีจำเลย 3 คนซึ่งทุกคนต่างมีทนายความหลายคน

เรียกได้ว่าคดีนั้นมีทนายความฝั่งจำเลย 3-4 คน จึงสู้ชนะยกฟ้องคดี

ขั้นตอนหลังจากนี้ในส่วนของศาลจะตั้งสำนวนไต่สวนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งศาลมีอำนาจกระทำการได้เอง ในความผิดส่วนอื่นก็ส่งผู้อำนวยการศาลไปแจ้งความความผิดที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยการกระทำผิดของนายพรชัยเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ว่ากันไป แต่ละคดีถ้ามีการลงโทษจะเป็นการนับโทษต่อ

 

ด้านนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ป้ายแดง พอทราบข่าวไม่นิ่งนอนใจ สั่งตรวจสอบหาข้อมูลพร้อมแถลงข่าวด่วนว่า นายพรเทพไม่ได้เป็นทนายความที่มีใบอนุญาตว่าความจริง การกระทำนายพรเทพผิดกฎหมายหลายบท

ส่วนแรกเข้าข่ายการกระทำความผิดมาตรา 33 พ.ร.บ.ทนายความฯ ซึ่งกำหนดไว้ว่าห้ามมิให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นทนายความหรือถูกพักหรือถูกลบชื่อ จากการจะใช้ความไปว่าความในศาล รวมทั้งยื่นคำร้องคำฟ้องต่างๆ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมีโทษตาม มาตรา 82 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีความผิดตาม ป.อาญา ฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ฉ้อโกงประชาชน ในส่วนของความผิดอาญาแผ่นดิน จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264 และ 268 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คดีนี้เนื่องจากใบอนุญาตทนายความเป็นสมาร์ตการ์ด แล้วก็ในบัตรอนุญาตทนายความนั้นจะปรากฏลายมือชื่อของนายกสภาทนายความ และนายทะเบียนสภาทนายความ ซึ่งเป็นลายมือชื่อหรืออิเล็กทรอนิกส์ อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 269/1 มีโทษจำคุกตั้งแต่1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และความผิดตามมาตรา 269/4 ซึ่งระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมถึงพฤติการณ์หลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อว่าเป็นทนายความ เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง

เมื่อพิจารณาดูคดีมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากก็ยังเข้าความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนซึ่งมีโทษหนักกว่าได้ เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ รวมกันแล้วผู้ต้องหาอาจถูกจำคุกได้หลายสิบปี

“นายกวิเชียร” รับปากอีกว่า ผู้เสียหายถูกทนายความเก๊คนนี้หลอกลวงจะให้การช่วยเหลือในการดำเนินคดีทั้งหมด พร้อมทั้งสั่งการให้นายทะเบียนทนายความเป็นผู้รับมอบอำนาจไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้พนักงานสอบสวนในเขตพื้นที่ดำเนินคดีบุคคลดังกล่าวไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างอีก

 

สําหรับการแก้ปัญหานั้น นายกสภาทนายความบอกว่า ปกติการที่ทนายความจะว่าความในศาลจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากลูกความและไปยื่นคำร้องต่อศาล พร้อมกับสำเนาใบประกอบวิชาชีพทนายความเป็นหลักฐานว่าเป็นทนายความถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตให้ว่าความเพื่อให้เจ้าหน้าที่ศาลได้ตรวจสอบ ซึ่งยังถือเป็นแบบเก่า

ขณะนี้สภาทนายความได้ทำเอ็มโอยูบริษัท แองเจิ้ล ไทม์ จำกัด เพื่อพัฒนาระบบใบอนุญาตทนายความดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Blockchain กับสภาทนายความฟรี มั่นใจว่าจะป้องกันทนายความปลอมได้ 100% เพราะต้องเชื่อมโยงกับทางศาลยุติธรรม ตรวจสอบสถานะทนายความได้ทันทีที่มีการแสดงตัวต่อศาล

นอกจากนี้ มีแผนเชื่อมโยงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด หรือแม้แต่กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่มีความพร้อม โดยจะเปิดทดลองใช้วันที่ 25 ธันวาคม

ปลายปีนี้ทนายความจะได้ใช้บัตรดิจิทัลดังกล่าว โดยสภาทนายความมอบให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นับเป็นการพลิกโฉมสภาทนายความ องค์กรสำคัญในกระบวนการยุติธรรมสู่องค์กรดิจิทัลเต็มรูปแบบเพื่อให้ประชาชนได้อุ่นใจไม่ถูกทนายความปลอมต้มตุ๋น