มารวิชัยสลับมือ ‘ผิดพลาด’ หรือ ‘นอกรีต’? | ปริศนาโบราณคดี 

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มารวิชัยสลับมือ ‘ผิดพลาด’ หรือ ‘นอกรีต’?

 

ทำปางมารวิชัยคว่ำมือซ้าย จงใจหรือไม่รู้

ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน มีพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชยอยู่องค์หนึ่ง แกะสลักด้วยหินทรายเนื้อละเอียด เป็นประติมากรรมนูนสูง ที่ประภามณฑลแผ่นหลังตกแต่งด้วยลายรัศมีเปลวเป็นรูปกระหนกผักกูด

ครั้งหนึ่งพระพุทธรูปองค์นี้เคยลงชาดสีแดง เพราะยังเหลือร่องรอยอยู่บางส่วน แต่จะมีการปิดทองคำเปลวด้วยหรือไม่นั้น ไม่อาจทราบได้ ความสูงขององค์พระปฏิมา 111 เซนติเมตร กว้าง 82 เซนติเมตร เลขทะเบียนโบราณวัตถุที่ 366/18 ส่วนประวัติความเป็นมาระบุเพียงแค่ว่าย้ายมาจากวัดพระธาตุหริภุญชัยปี 2518

สิ่งสะดุดตาผู้พบเห็นมากที่สุดคือ การทำพระหัตถ์สองข้างสลับกันในปางมารวิชัย กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้วพระพุทธรูปปางมารวิชัยจะต้องวางพระหัตถ์ซ้ายบนพระเพลา (หน้าตัก) เอาพระหัตถ์ขวาคว่ำลง ชี้นิ้วเรียกพระแม่ธรณีมาเป็นพยานแห่งการตรัสรู้ธรรม

ทว่า พระพุทธรูปหริภุญไชยองค์นี้ กลับเอาพระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลา แล้วเอาพระพระหัตถ์ซ้ายวางพาดพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ลงมา ซึ่งในที่นี้ พระหัตถ์ที่วางพาดด้านซ้ายนั้นแตกกะเทาะ หรือถูกถากไปเช่นเดียวกับส่วนของพระพักตร์

พระพุทธรูปปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย ศิลปะหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

มีผู้ตั้งคำถามกันมากว่า เหตุไรจึงทำปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์สลับข้างกันเช่นนี้ มีตัวอย่างที่อื่นให้ดูเปรียบเทียบไหม เป็นความจงใจหรือไม่รู้ ฤๅว่าแท้จริงแล้วสามารถทำสลับกันไปมาได้ทั้งสองข้างแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เพียงแต่ลักษณะคว่ำพระหัตถ์ซ้ายพบน้อยกว่า

สารพัดคำถามนี้ หาคำตอบได้ไม่ง่ายเลย เพราะมีแต่ผู้ตั้งคำถาม ทว่า หาผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้น้อยมาก เท่าที่เห็นก็มีแต่ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งความเป็นรุ่นอาจารย์รุ่นน้องจากคณะโบราณคดี ดิฉันมักเรียกท่านติดปากว่า “พี่หม่อมนก” หรือ “อาจารย์หม่อมนก”

พระพุทธรูปนูนสูงปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณคดี รัฐศรีเกษตร ประเทศเมียนมา

บทความชิ้นแรกที่อาจารย์หม่อมนกได้นำเสนอในวารสารคือ Remarks on Buddha Images with the Left Hand in maravijaya in Thailand and Myanmar : Recent Interpretations. ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Maekong Societies Vol.12 No. September-December 2016 หน้า 1-26

ต่อมาท่านได้นำเนื้อหานี้มาสังเคราะห์แนวความคิดขึ้นใหม่แล้วเขียนเป็นบทความชื่อ ประติมานวิทยาท้องถิ่นในลักษณะของพระพุทธรูปปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย ตีพิมพ์ในหนังสือ “หลากเรื่องเมืองม่าน ที่ระลึกครบรอบ 72 ปี อาจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์รุจยา อาภากร” โครงการจัดพิมพ์ผลงานวิชาการศูนย์เมียนมาร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2560 เล่มที่ 2

เนื้อหาของหนังสือทั้งสองเล่มนี้ อาจารย์หม่อมนกมุ่งตรงไปยังประเด็นคำถามเดียวกันกับที่ทุกคนต่างสงสัยว่า ทำไม อย่างไร มีด้วยหรือ การทำปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชงฆ์ โดยอาจารย์หม่อมนกได้นำตัวอย่างพระพุทธรูปที่พบในรัฐศรีเกษตร (ประเทศเมียนมา) ศิลปะแบบปยู่ มาศึกษาเปรียบเทียบกันอีกด้วย

บทสรุปของการศึกษาวิจัยงานดังกล่าว อาจารย์หม่อมนกให้ความเห็นว่าสิ่งที่ดูเหมือนสลับขั้วสลับข้าง คล้ายจะผิดฝาผิดตัวนี้ แท้จริงแล้ว “ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่เป็นการสร้างอย่างจงใจต่างหาก”

พระพุทธรูปนูนสูงปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณคดี รัฐศรีเกษตร ประเทศเมียนมา

“ผิดพลาด” หรือ “นอกรีต”

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้อ้างถึงพระพุทธรูปปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้ายที่เจดีย์เบเบ เป็นศิลปะปยู่ในรัฐศรีเกษตร รัฐเดียวกันนี้ได้พบพระพิมพ์ที่เจดีย์บอบอ ทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้ายอีกเช่นกัน

คำถามที่ตามมาจาก “จงใจ” หรือ “ไม่รู้” ก็คือ “ผิดพลาด” หรือ “นอกรีต”? ถ้าหากยืนยันว่าจงใจ ไม่ได้ผิดพลาด ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่า “จงใจจะนอกรีต” หรือเช่นไร ทำไมจึงกล้าหาญชาญชัยเช่นนั้น

ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ อธิบายไว้ในงานวิจัย สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการอีกท่านซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและพุทธศิลป์อินเดีย-อุษาคเนย์ชื่อ ดร.ปีเตอร์ สกิลลิ่ง (Dr. Peter Skilling) ว่า

“พุทธลักษณะที่แตกต่างไปจากประติมานวิทยาต้นแบบที่อินเดียเช่นนี้ คือประจักษ์พยานถึงวัตรปฏิบัติและพิธีกรรมของตนเองในแต่ละท้องถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่บนพื้นฐานคตินิกายศาสนาจากภายนอก”

แล้วคติศาสนาที่ว่า “ประดิษฐ์ใหม่จากภายนอก” นั้นคือนิกายอะไรเล่า? คำตอบที่ อาจารย์หม่อมนกและ ดร.สกิลลิ่งได้นำเสนอก็คือ “นิกายอารี” ซึ่งอาจนิยามได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน หรือนิกายเถรวาทแบบ “นอกรีต”

พระพิมพ์ดินเผาปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย พบที่เจดีย์บอบอ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12

นิกายอารี จากปยู่สู่หริภุญไชย

ชื่อของ “นิกายอารี” (Ari) ออกเสียงภาษาพม่าเป็น “อะยี” เป็นนิกายดั้งเดิมในรัฐศรีเกษตรที่มีมาก่อนการรับเอาพระพุทธศาสนานิกาย “บริสุทธิ์” มาจากลังกา

กลุ่มชนที่นับถือนิกายอารีนี้ เริ่มจากชาวปยู่ (Pyu) ก่อน ซึ่งกระจายตัวอยู่ที่รัฐศรีเกษตร ลุ่มแม่น้ำอิรวดีในพม่า ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-16 เป็นนิกายที่มีทั้งการบูชาผีนัต ผสมพญานาค และพระพุทธเจ้า

ข้อสำคัญนิกายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐหริภุญไชยอย่างแนบแน่นอีกด้วย นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน ดร.ฮันส์ เพนธ์ (Dr. Hans Penth) ได้อ่านและถอดความพงศาวดารพม่าฉบับหนึ่งชื่อ “ปะกันยาซาหวิ่นธิต” (พุกามราชวงศ์) มีการกล่าวถึง เหตุการณ์สมัยของพระเจ้าครรชิต หรือจันสิตถา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1627-1655 ร่วมสมัยกับพระญาสรรพสิทธิ์ หรือสววาธิสิทธิของหริภุญไชย

ยุคสมัยของพระเจ้าจันสิตถาได้มีนักบวชจากดินแดนพุกามของพระองค์เดินทางไปจาริกแสวงบุญยัง “นครหริภุญไชย” ครั้นเมื่อกลับมา พระองค์ได้จัดกองทหารของรัฐพุกามเข้ารับการเสกเป่าจากผู้วิเศษด้านคาถาอาคมซึ่งได้ไปร่ำเรียนมาจากหริภุญไชย

ดร.ฮันส์ เพนธ์ เห็นว่า “ผู้วิเศษที่มีคาถาอาคมในการเสกเป่า” ให้แก่กองทัพทหาร ก็คือกลุ่มสงฆ์นอกรีตของนิกายอารีนั่นเอง

หลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ที่พระเจ้าจันสิตถามีต่อนิกายอารีอีกหนึ่งชิ้นก็คือ ช่วงที่พระองค์ถูกพระเจ้าอนิรุท ปฐมกษัตริย์ผู้เป็นมหาราชแห่งพุกาม เนรเทศ (ด้วยข้อหาว่ามารดาของจันสิตถาอาจเป็นชู้กับทูต) จันสิตถากบดานตัวเองอยู่ในราชสำนักของชาวมอญฝ่ายมารดา

หนังสือ ประวัติศาสตร์พม่าของ หม่องทินอ่อง ระบุว่า ในระหว่างนั้นเอง จันสิตถาได้หลานสาวของนักบวชนิกายอารีมาเป็นชายา ภายหลังเมื่อจันสิตถาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์พานางเข้าสู่ราชสำนักพุกาม และอุปถัมภ์คณะสงฆ์นิกายอารี โดยมี “ชินอรหันต์” เป็นพระสังฆราช สืบต่อจากสมัยพระอนิรุท

กล่าวได้ว่า นิกายอารี มาถูกเรียกว่านิกายนอกรีตในภายหลัง เป็นการเอาแนวคิดแบบพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ ซึ่งถือว่าบริสุทธิ์กว่ามาเป็นมาตรฐาน ในขณะที่นิกายอารีนี้ได้รับการเผยแผ่อย่างกว้างขวางระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 ในกลุ่มคนมอญ ปยู่ พม่า ทั้งในรัฐศรีเกษตร หริภุญไชย และสะเทิม

ชาร์ลส์ ดูรัวแซล (Charles Duroiselle) นักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เห็นว่านิกายอารีมีลักษณะคล้ายพุทธศาสนาฝ่ายเหนือคือนิกายมหายาน บางครั้งมีพิธีเซ่นสรวงด้วยเลือด โดยรับเอาอิทธิพลนิกายตันตระจากทิเบตเนปาลเข้ามาผสมผสาน

ดูรัวแซลได้ศึกษาพงศาวดารพม่าชื่อหม่านหนั่น ระบุว่า พ.ศ.1858 หรือ 25 ปีหลังจากพุกามถูกมองโกลตีแตก พระเจ้าสีหะตู น้องคนสุดท้องของสามพี่น้องไทใหญ่ ได้ขับไล่มองโกลออกจากพุกามได้สำเร็จ เขาได้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ที่ปีนยะและสะกาย ทุกครั้งที่กษัตริย์สีหะตูพระราชดำเนินไปไหน มักมีนักบวชนิกายอารีเดินถืออาวุธร่วมอยู่ในขบวนเสด็จของกษัตริย์ด้วยเสมอ

เห็นได้ว่านิกายอารียังได้รับความนิยมสืบต่อมาจนถึงชาวไทใหญ่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19

พระพุทธรูปนูนสูง ปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย เจดีย์เบเบ รัฐศรีเกษตร

นิกายอารี “อรัญวาสี” หรือ “อาริยะ”?

คําว่า “อารี” เป็นภาษาสันสกฤต มีผู้ศึกษาและพยายามตีความกันอยู่ว่ารากศัพท์ของคำคำนี้มีที่มาอย่างไร และหมายถึงอะไรกันแน่

อยู่ ถั่น ทุน หรือ อู ถั่น ตุน (U Than Tun) นักประวัติศาสตร์พม่า กล่าวว่า นิกายอารีที่แท้คือ “นิกายอรัญวาสี” ที่มีวัตรปฏิบัติต่างจากภิกษุนิกายเถรวาทโดยเฉพาะด้านวินัยสงฆ์ นักบวชนิกายอารีสามารถฉันน้ำจัณฑ์ เสพสังวาส และฉันหลังเที่ยงได้

การที่นิกายอารีถูกมองว่าเป็น “นิกายนอกรีต” ก็เพราะมักสร้างเจดีย์ประดิษฐ์สิ่งซึ่งไม่ใช่รูปเคารพของพระพุทธเจ้า และมักบูชาเจดีย์ด้วยภัตตาหารที่เป็นข้าว แกง และเหล้าหมักทั้งในยามเช้าและยามค่ำ บางครั้งนิกายนี้ถึงขั้นปฏิเสธคำสอนของพระพุทธองค์

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการพม่าหลายท่านโยงคำว่า “อารี” มาจาก “อาริยะ” หรือ “อารยะ” ที่แปลว่า ความเจริญ ประเสริฐ คุณธรรม อีกด้วย โดยนิกายอารีจะเรียกนักบวชว่า “อาริยะ” หรือ “อรัญ”

ภูพระ วัดศิลาอาสน์ จ.ชัยภูมิ ก็มีการทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้ายสลักบนก้อนหิน

ลัทธิบูชาเพศแม่ “วิถีฝ่ายซ้าย”

ความที่นิกายอารีมีความเกี่ยวข้องกับนิกายตันตระ เราทราบกันดีว่านิกายตันตระรับแนวคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างความสมดุล “ซ้าย-ขวา” มาจากศาสนาฮินดู พระศิวะกับพระวิษณุ เทียบได้กับ “วิถีฝ่ายขวา” ส่วน นางอุมากับลักษมี เปรียบได้กับ “วิถีฝ่ายซ้าย”

ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ จึงตั้งข้อสมมุติฐานว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พระพุทธรูปปางมารวิชัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ซึ่งสร้างขึ้นโดยชาวมอญหริภุญไชย ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับชาวปยู่ที่ศรีเกษตรนั้น เป็นการสร้างโดยนักบวชนิกายอารีผู้ “ให้ความสำคัญต่อสตรีเพศ” ตามแนวคิดของ “วิถีฝ่ายซ้าย”

สตรีเพศเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา จึงกำหนดให้พระหัตถ์ที่จะชี้ลงธรณีนั้นเป็นพระหัตถ์ซ้ายแทนที่จะเป็นพระหัตถ์ขวาเหมือนกับแนวคิดของพุทธเถรวาททั่วไปในอินเดีย ด้วยวิถีฝ่ายขวานั้น เป็นวิถีที่ยกย่องผู้ชายเป็นใหญ่

หมายความว่า พระพุทธรูปปางมารวิชัยชิ้นที่ใช้พระหัตถ์ซ้ายเรียกพระแม่ธรณีเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมนั้น ทำขึ้นในศาสนาพุทธนิกายอารี ตามคติที่ยกย่อง “วิถีฝ่ายซ้าย” นั่นคือการยกย่องเพศแม่ให้เป็นใหญ่

ไม่ใช่ทำมั่วไปเรื่อย ไม่ใช่ไม่รู้ธรรมเนียมทางประติมานวิทยาแต่อย่างใด •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ