เศรษฐกิจ/ปรากฏการณ์น้องน้ำจ่อถล่มกรุง เกือบ 3 ปี รัฐบาลไม่ไปไหน… 9 โครงการไม่เกิด

เศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์น้องน้ำจ่อถล่มกรุง
เกือบ 3 ปี รัฐบาลไม่ไปไหน…
9 โครงการไม่เกิด

แม้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หรือมหาอุทกภัยในปี 2554 จะผ่านมานานกว่า 6 ปีแล้ว แต่เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่ในความทรงจำและเป็นฝันร้าย ที่คอยตามหลอกหลอนคนไทยจำนวนมากจวบจนทุกวันนี้
โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูกาล “ปลายฝนต้นหนาว” ที่มักจะมีพายุฝนตกหนักและต่อเนื่องยาวนาน ก่อนลดลงและสลายไปเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว
ดังจะเห็นได้จากภาพข่าวตามสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ที่นำเสนอให้เห็นถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำภาคเหนือตอนล่าง ต่อเนื่องลงมาถึงพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งหากดูในแง่ของปริมาณน้ำในครั้งนี้ ทั้งน้ำในเขื่อนที่เกือบเต็มหลายแห่ง และมวลน้ำมหาศาลที่ยังสะสมอยู่ทางภาคเหนือ ราวกับ “เดจาวู” ปี 2554 ไม่มีผิด
ยิ่งตอกย้ำมาใกล้ตัวคนกรุง จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในกรุงเทพฯ ตั้งแต่คืนวันที่ 13 ตุลาคม ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2560 ยาวนานนับ 10 ชั่วโมง และมีปริมาณฝนสูงสุดในรอบ 30 ปีถึง 203 มิลลิเมตร (ม.ม.) เกิดน้ำรอระบายมากถึง 55 แห่งใน กทม. ใช้เวลายาวนานกว่า 6 ชั่วโมงถึงระบายลงท่อได้หมด
สมทบกับการที่นอสตราดามุสเมืองไทย นายโสรัจจะ นวลอยู่ โหรชื่อดัง ออกมาทำนายว่า ต้นปี 2561 จะเกิดมหาอุทกภัยหนักยิ่งกว่าปี 2554 จากอิทธิพลของดวงดาวเคลื่อนย้าย
ตอกย้ำ “เดจาวู” เข้าไปใหญ่

ยิ่งมาดูข้อมูลเชิงประจักกษ์ แบบหลักฐาน ข้อเท็จจริง ไม่อิงเรื่องดวงดวง ยิ่งพบความจริงที่ไม่ต่างกันนัก เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลแทบจะไม่ได้คลอดโครงการที่เปรียบเสมือนเครื่องมือและแขนขาในการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำใกล้เคียงออกมาเพิ่มเติมเลย ภายหลังเหตุการณ์ปี 2554
แม้ว่ารัฐบาลสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะพยายามผุดโครงการน้ำขนาดใหญ่ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาทออกมา
แต่ท้ายที่สุดก็ล้มไม่เป็นท่าหลังมีการรัฐประหารในปี 2557 และแม้ว่ารัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอง จะพยายามสานต่อโดยการยกเครื่องโครงการเก่า มาจัดทำเป็น 9 โครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะ 12 ปี (2558-2569) มูลค่าราว 2.4 แสนล้านบาท
ประกอบด้วย
1. โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง วงเงิน 57,100 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (2560-2566) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่ทะเล และเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในคลอง 18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
2. โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงคลองชัยนาท-ป่าสัก วงเงิน 36,400 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2561-2565) เพื่อความสามารถในการระบายน้ำของคลองจาก 130 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 930 ลบ.ม.ต่อวินาที และเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ 80 ล้าน ลบ.ม. และช่วงคลองป่าสัก-อ่าวไทย วงเงิน 86,300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (2562-2568) เพื่อระบายน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ระบายมาทางคลองชัยนาท-ป่าสัก ลงสู่ทะเลเร็วขึ้นสูงสุด 600 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ 50 ล้าน ลบ.ม. และลดพื้นที่น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาได้ 2.86 ล้านไร่
3. โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) โดยจัดทำคลองระบายน้ำคู่ขนานถนน ขนาด 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ความยาว 110.85 ก.ม.
4. โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก วงเงิน 34,300 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี (2561-2566) เพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดต่อเนื่องออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้ได้มากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจาก 52 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 130 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดภาวะการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนและเจ้าพระยา
5. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 2,400 ล้านบาท โดยการขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 29 ก.ม. ให้สามารถระบายน้ำได้ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาทีที่ระดับตลิ่ง และ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาทีที่ระดับคันกั้น
6. โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ โดยดำเนินการตามแผนเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ 14 แห่ง
7. โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร วงเงิน 17,600 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี (2562-2565) โดยขุดคลองสายใหม่ เพื่อเลี่ยง อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา ผ่าน อ.บางบาล ถึง อ.บางไทร ความยาว 22.4 ก.ม. ระบายน้ำ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที
8. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน วงเงิน 2,800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2561-2566) โดยการขุดลอกตะกอนในลำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสูงสุด 90 ลบ.ม.ต่อวินาที และแก้ไขปัญหาคอขวด จ.สุพรรณบุรี
และ 9. โครงการพื้นที่รับน้ำนอง โดยใช้พื้นที่ที่ว่างจากการเพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยารองรับน้ำ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

ผ่านมาเกือบ 3 ปี โครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงแต่ตัวหนังสือ มีเพียงโครงการขนาดเล็ก เช่น ประตูระบายน้ำ และโครงการพื้นที่รับน้ำนองเท่านั้นที่เริ่มมีการก่อสร้างจริงจัง
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับว่า เป็นเช่นนี้จริง เพราะช่วง 1-2 ปีแรกของรัฐบาลปัจจุบันหมดไปกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โครงการส่วนใหญ่ที่ได้อนุมัติและเริ่มก่อสร้างจะเป็นเพียงโครงการขนาดเล็กเท่านั้น อย่างการจัดทำแก้มลิง ขุดบ่อกักเก็บ และประตูระบายน้ำ
ส่วนโครงการขนาดใหญ่แทบจะไม่มีการอนุมัติและเริ่มก่อสร้างเลย เพราะต้องใช้เวลาในการออกแบบโครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ การทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งทุกขั้นตอนกินระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี
รวมถึงติดขัดปัญหาสำคัญอย่างเรื่องงบประมาณที่บางโครงการใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าระดับหมื่นล้านบาท

และหากย้อนกลับไปดูข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะเห็นถึงปัญหาดังกล่าว โดยครั้งนั้นนายกฯ อนุมัติการดำเนินโครงการ แต่ไม่อนุมัติวงเงินงบประมาณ เพราะกังวลว่าเม็ดเงินมหาศาลที่อนุมัติไป อาจกระทบโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ และโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง หรือบัตร 30 บาทที่เป็นรัฐสวัสดิการ ที่คนไทยส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบ
จึงตีกลับไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ กลับไปจัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วน แล้วค่อยนำเสนอ กนช. อีกครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มอบของขวัญให้กับคนในพื้นที่ โดยอนุมัติหลักการในการเตรียมความพร้อมโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร แต่ยังไม่อนุมัติงบประมาณ รอให้กรมชลประทานและหน่วยงานเกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ รวมถึงจัดหาที่ดินให้แล้วเสร็จพร้อมก่อสร้างก่อนค่อยเสนอ ครม. เปิดโครงการเพื่อจัดสรรงบประมาณ
หมายความว่า โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ยังเป็นเพียงแค่เตรียมการ และกว่าจะเริ่มตั้งไข่โครงการได้ น่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี
จนเมื่อสถานการณ์น้ำเริ่มตึงเครียดมากขึ้น จากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่อง และมวลน้ำเหนือที่ยังสะสมอยู่มาก นายกฯ จึงสั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูโครงการบริหารจัดการน้ำที่จะสามารถเร่งรัดดำเนินการได้ และกลับมารายงานภายใน 1 เดือน
ดูๆ เหมือนเล่นเกมแก้เก้อ ขายผ้าของรัฐบาลอีกครั้ง!!
โชคดีว่าหน้าฝนสั่งลาแล้ว หน้าหนาวกำลังมาเยือน แผนของกรมชลประทานที่จะระบายน้ำเหนือลงสู่ทะเลให้หมดภายในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ น่าจะเป็นไปตามนั้น
เว้นแต่ว่า จู่ๆ มีพายุแทรกซ้อนเข้ามาอีกลูก เดจาวู ที่กลัวกันนักหนาอาจเป็นจริงขึ้นมา ถึงตอนนั้นคงตัวใครตัวมันนะคร้าบ…พี่น้อง