ในประเทศ : ราชสกุลใน “ราชวงศ์จักรี” พระประมุข-หัวหน้ารัฐบาล 42 ประเทศ ร่วมราษฎรชาวไทย ส่งเสด็จในหลวง ร.9

แม้พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม และเจ้าหน้าที่มีกำหนดจะเปิดให้ประชาชนจับจองพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมชมพระราชพิธีดังกล่าว ในวันที่ 25 ตุลาคม

แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่ช่วงเที่ยงของวันที่ 22 ตุลาคม ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศต่างเข้ามา “รอ” เพื่อผ่านจุดคัดกรองเข้าไปสู่บริเวณพระราชพิธีอย่างแน่นขนัด

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คาดจะมีประชาชนเข้ามาในบริเวณโดยรอบท้องสนามหลวงกว่า 250,000 คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้ดูและประชาชนที่จะเดินทางไปร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ทั้งในจุดพระเมรุมาศจำลอง และส่วนกลางที่ท้องสนามหลวง

โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งว่าอยากให้รัฐบาลแจ้งเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด อำนวยความสะดวกให้มากที่สุด

ช่วยบริการรถรับ-ส่งประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยให้ได้มาร่วมในพระราชพิธียังพระเมรุมาศจำลองด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งประชาชนที่เข้าร่วมในพิธีซ้อมริ้วขบวนใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้เห็นแววตา เห็นความตั้งใจของประชาชน

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานความห่วงใยและกำลังใจลงมา เพราะทุกคนมีความตั้งใจในการเดินทางเข้าร่วมงานพระราชพิธีดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน ถึงแม้อากาศจะร้อน ทุกคนก็ต้องมารอเป็นเวลานาน ตรงนี้รัฐบาลจะดูแลให้ดีที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยประชาชน ขอให้ทุกคนได้ดำเนินการให้ประชาชนมีความพึงพอใจ ให้ประชาชนมีความสุขให้มากที่สุดในช่วงเวลาสำคัญดังกล่าว”

ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุอีกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงประชาชนที่จะมาร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ที่ต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อน แดดแรงจัด ทำให้พื้นซีเมนต์มีอุณหภูมิสูง ทางกองอำนวยการร่วมพระราชพิธีฯ (กอร.) จึงได้ประสานมาทางกองทัพบกและกองทัพเรือ เพื่อจัดเตรียมวัสดุในการปูพื้น ภายใน 2-3 วันนี้ โดยนำพื้นที่นอนที่เป็นแผ่นยางมาดัดแปลง ตอนนี้ได้เตรียมการไว้เบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายตามสมควร

มิใช่แค่ราษฎรเท่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วม

เหล่าราชสกุลใน “ราชวงศ์จักรี” ก็ได้เข้าร่วมส่งเสด็จ ในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างเต็มที่เช่นกัน

โดยเฉพาะในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

แต่ละราชสกุลได้ส่งตัวแทนจากหลากหลายสาขาอาชีพ และต่างวัย ตั้งแต่ 20 จนถึง 70 กว่าชันษา เข้าร่วมพิธีอันยิ่งใหญ่นี้

พล.ท.ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล ในฐานะผู้ประสานงานราชสกุลทุกมหาสาขา กล่าวว่า ได้วางหลักการคัดเลือกพระประยูรญาติในการเข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งนี้ จากราชสกุลทุกมหาสาขาประมาณ 80 ราชสกุล จากทั้งหมด 129 ราชสกุล แต่ไม่มีผู้สืบทอดประมาณ 18 ราชสกุล

การพิจารณานั้น คณะกรรมการจะพิจารณา 2 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย

1. คัดเลือกจากผู้ที่เคยร่วมในพระราชพิธีริ้วขบวนพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

2. ดูความเหมาะสมในเรื่องของพระชันษา เพราะหม่อมเจ้าบางพระองค์ทรงมีชันษามากแล้ว ไม่สามารถอยู่ในริ้วขบวนได้เป็นเวลานาน

สำหรับเหล่าสมาชิกราชสกุลที่เข้าร่วมครั้งนี้ อาทิ ราชสกุลยุคล, จิตรพงศ์, บริพัตร, ศุขสวัสดิ์, เทพหัสดิน, พึ่งบุญ, สังขทัต, มาลากุล, สนิทวงศ์, อมาตยกุล, กำภู, วรวรรณ, ชยางกูร, อาภากร, ทินกร, นวรัตน์, นันทวัน, ลดาวัลย์, ชมภูนุท, ชุมสาย, เกษมศรี, เทวกุล, จรูญโรจน์, กิติยากร, สิงหรา, ฉัตรชัย, ภาณุพันธ์, ปราโมช, เพ็ญพัฒน์, ดิศกุล, ไชยันต์, ประวิตร, ชุมพล, สวัสดิวัตน์, กัลยาณวงศ์, สายสนั่น เป็นต้น

ที่”สมพระเกียรติ” ยิ่งไปกว่านั้นอีก

เมื่อ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า มีแขกสำคัญในต่างประเทศได้แจ้งเข้าร่วมงานพระราชพิธีถึง 42 ประเทศ

โดยแบ่งเป็น พระประมุข ประมุข และพระราชวงศ์ รวม 24 ประเทศ รองประมุข หัวหน้ารัฐบาล และผู้แทนพิเศษ รวม 18 ประเทศ

ดังต่อไปนี้

พระประมุข ประมุข และพระราชวงศ์ (รวม 24 ประเทศ)

1) สมเด็จพระราชาธิบดี เลทซี ที่ 3 และสมเด็จพระราชินี มาซีเนต โมฮาโต ซีโซ แห่งเลโซโท

2) สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินี เจทซุน เพมา วังชุก แห่งภูฏาน

3) สมเด็จพระราชาธิบดี ตูโปอู ที่ 6 และสมเด็จพระราชินี นานาซีเปาอู แห่งตองกา

4) ประธานาธิบดี ติน จ่อ แห่งพม่า และภริยา นางซู ซู ลวิน

5) นายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว และ นางคำเมิง วอละจิด ภริยา

6) นางฮาลิมาห์ ยาค็อบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ และ นายโมฮัมเหม็ด อับดุลเลาะห์ อัลฮับซี สามี

7) สมเด็จพระราชินี ซิลเวีย แห่งสวีเดน

8) สมเด็จพระราชินี แมกซิมา แห่งเนเธอร์แลนด์

9) สมเด็จพระราชินีมาทิลด์ แห่งเบลเยียม

10) สมเด็จพระราชินี โซเฟีย แห่งสเปน

11) เซอร์ ปีเตอร์ คอสโกรฟ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ จากออสเตรเลีย และเลดี้ คอสโกรฟ ภริยา

12) ฌูลี ปาแยตต์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากแคนาดา

13) นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

14) นายโจเซฟ ไดส์ อดีตประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส

15) คริสเตียน วูล์ฟ อดีตประธานาธิบดีเยอรมนี

16) ชีค คาลิฟา บิน ซัลมา อัล คาลิฟา นายกรัฐมนตรีบาห์เรน

17) เจ้าฟ้าชายเฟรเดริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก

18) เจ้าฟ้าชายฮากอน แมกนุส มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์

19) แกรนด์ดยุก กิโยม ฌอง โฌเซฟ มารี รัชทายาทแห่งลักเซมเบิร์ก

20) รองสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียและสุลต่านแห่งรัฐเประ สุลต่าน นาซริน มูซซุดดิน ชาห์ อิบนี อัลมาร์ฮุม สุลต่าน อัซลัน มูฮิบบุดดิน ชาห์ อัล-มักห์ฟูร์-เลาะ และพระชายา

21) เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก สหราชอาณาจักร

22) เจ้าชายอะกิชิโนะ แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น พร้อมด้วยพระชายา

23) เจ้าชายธานี บิน ฮามัด บิน คาลิฟา อัล-ธานี พระอนุชาของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์

24) ลิกเตนสไตน์ เจ้าหญิงมาร์กาเรตา แห่งลิกเตนสไตน์

รองประมุข หัวหน้ารัฐบาล และผู้แทนพิเศษ (รวม 18 ประเทศ)

25) ดัง ติ งอก ตินห์ รองประธานาธิบดีเวียดนาม

26) สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

27) นายบาร์นาบาส สิบูสิโซ ดีลามินี นายกรัฐมนตรีสวาซิแลนด์

28) นายเจมส์ บอลเกอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

29) ฌอง-มาร์ค เอโรต์ อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส และ นางบริจิตต์ เอโรต์ ภริยา

30) นายจาง เกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีจีน

31) นายฟิกรี อิสิก รองนายกรัฐมนตรีตุรกี

32) พัค จู ซอน รองประธานรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี

33) นางออลกา อีพิฟาโนวา รองประธานสภาดูมา รัสเซีย

34) เพฮิน ดะโต๊ะ ลิม จ็อก เส็ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและการค้า คนที่ 2 บรูไนดารุสซาลาม

35) นายเจมส์ แมททิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา

36) อลัน ปีเตอร์ เอส.กาเยตาโน รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ และ นางมาเรีย ลาร์นี กาเยตาโน ภริยา

37) นายติลัก มาราปานา รัฐมนตรีต่างประเทศศรีลังกา และ นางสเตลลา มาราปานา ภริยา

38) นายพิมเสน ดาส ปราดาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเนปาล และ นางบิดยา บันมาลี ปราดาน ภริยา

39) นายอาวาอิส อาเหม็ด ข่าน เลการี รัฐมนตรีพลังงานปากีสถาน

40) นายโมฮัมเหม็ด ซาห์ไรอาร์ อาลัม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศ

41) นายเอ็ม.เจ.อัคบาร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ อินเดีย

42) อาร์กบิชอป เกียมบาตติสตา ดิควอตโตร เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำสาธารณรัฐอินเดียและสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล

นับว่าสมพระเกียรติอย่างยิ่ง

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสทรงขอบใจประชาชนชาวไทยที่ร่วมบำเพ็ญประโยชน์เป็นจิตอาสา และช่วยเหลืองานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และงานด้านต่างๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นการทำดีด้วยหัวใจ

ความว่า…

“ขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งที่ได้พร้อมกันมาถวายสักการะพระบรมศพอย่างพร้อมเพรียง ด้วยความจงรักภักดี ด้วยน้ำใจบริสุทธิ์งดงาม อีกทั้งพร้อมใจกันบำเพ็ญประโยชน์เป็นจิตอาสา และช่วยเหลืองานพระบรมศพและงานด้านต่างๆ อย่างเต็มกำลังและความสามารถ เป็นการทำดีด้วยหัวใจ เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

บัดนี้การถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะเป็นไปด้วยความสมบูรณ์เรียบร้อยและสมพระเกียรติ เชื่อว่าการทำความดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความทุ่มเท เสียสละ ด้วยความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนชาวไทยในครั้งนี้ หากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงทราบด้วยพระญาณวิถีใดๆ ก็ตาม จะทรงชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง

จึงขอขอบใจทุกๆ ท่านด้วยความซาบซึ้งใจอย่างที่สุดจากหัวใจ ด้วยความจริงใจอย่างแท้จริง”