สถิติ ‘ฝน-ร้อนแล้ง’ ผันผวน | สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Photo by Muhammad FAROOQ / AFP

สถิติ ‘ฝน-ร้อนแล้ง’ ผันผวน

 

กรุงเทพมหานครเปิดสถิติปริมาณน้ำฝนช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีมากกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปีถึง 46.7 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้น้ำฝนใน กทม.สะสมสูงถึง 1,979.5 มิลลิเมตร (ม.ม.) แต่ในช่วงระหว่างปี 2534-2563 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,348.9 ม.ม.

ที่น่าสนใจก็คือเดือนกันยายนปีนี้ เพียงเดือนเดียวมีน้ำฝนมากถึง 801.5 ม.ม. มากกว่าค่าเฉลี่ยน้ำฝนเดือนกันยายนในรอบ 30 ปีคิดเป็นสัดส่วน 148.9% ทั้งเดือนฝนตก 38 ครั้งใน 28วัน

เมื่อเจาะลึกในพื้นที่ฝนตกหนักปรากฏว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมาเขตพญาไทมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด 870 ม.ม. รองลงมา เขตราชเทวี-บึงมักกะสัน 825 ม.ม. เขตดินแดง 801.5 ม. และเขตปทุมวัน 779 ม.ม.

ทำไมกรุงเทพมหานครจึงมีฝนมากกว่าปีก่อนๆ ในรอบ 30 ปี และเขตที่มีฝนตกหนักมีน้ำฝนมากสุดอยู่ในใจกลางของ กทม.ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ?

นี่เป็นคำถามชวนให้ขบคิด เพราะผลจากฝนตกหนักน้ำเอ่มท่วมถนนทำให้การจราจรที่ติดหนักอยู่แล้วเพิ่มความสาหัสมากขึ้นไปอีก ผลกระทบที่ตามมาจากน้ำท่วมรถติดตามมาเป็นพรวนทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง เวลาที่เสียไป

ฝนที่ตกมากขึ้นนั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมไม่ใช่แค่ กทม. แต่ในพื้นที่อื่นๆ เกือบค่อนประเทศเกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สินและพื้นที่เกษตรกรรม ขณะที่ทั่วโลกได้รับความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนนี้เช่นกัน

 

ที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมของปีนี้ มีฝนตกหนักมาก ทางการต้องเตือนระวังน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนเต็มแล้วและน้ำในแม่น้ำล้นทะลัก บางพื้นที่ฝนตก 5 วันมีปริมาณน้ำฝนวัดได้มากถึง 200 ม.ม. หรือราว 8 นิ้ว

เมื่อปี 2493 มีการบันทึกสถิติว่าเป็นปีที่นครซิดนีย์ มีฝนตกหนักสุด ปริมาณน้ำฝนในรอบ 279 วันวัดได้ 2,194 ม.ม. คาดว่าปริมาณน้ำฝนในซิดนีย์ปีนี้จะทำลายสถิติเดิมอย่างแน่นอน

สาเหตุที่เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมในเดือนกรกฎาคม และยืดเยื้อมาจนถึงเดือนตุลาคมยังเป็นข้อกังขาของนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย

บางคนบอกเป็นเพราะพื้นผิวมหาสมุทรร้อนผิดปกติ อุณหภูมิสูงถึง 23 องศาเซลเซียสทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ความชื้นมากเป็นพิเศษ จึงเกิดฝนถล่มพายุพัดกระหน่ำนครซิดนีย์

หลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะปรากฏการณ์ “ลานิญา”

 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าปรากฏการณ์ลานิญา เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนกระทั่งถึงวันนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

นักวิจัยของสหรัฐชี้ว่าเป็นปรากฏการณ์ผิดปกติจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรบริเวณชายฝั่งอเมริกาใต้เย็นตัวลงและมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออกร้อนขึ้นมาก เมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก

อุณหภูมิแตกต่างกันมีผลต่อความกดอากาศที่ต่ำลง กระแสลมแรงและกระแสน้ำทะเลเชี่ยวกรากทำให้ปรากฏการณ์ลานิญาเพิ่มระดับความแรงขึ้น กินเวลายาวนานขึ้น

เท่าที่มีการบันทึกปรากฏการณ์เกิดลานิญาต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปีซ้อนๆ กันนั้น พบว่ามีเพียง 2 ครั้ง ระหว่างปี 2516-2519 และปี 2542-2545

นักวิจัยจึงปักใจเชื่อว่า ความผิดปกติของลานิญาที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ร่วมกันปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างเข้มข้นหลายสิบปีติดต่อกันส่งผลให้สภาพภูมิอากาศโลกเกิดความแปรปรวนผันผวน

 

“ลานิญา” เกิดขึ้น 3 ปีซ้อน คราวนี้ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอย่างเด่นชัดมากขึ้น

ฤดูร้อนของปีนี้ อุณหภูมิในภูมิภาคแถบยุโรปและบางส่วนของจีน เพิ่มสูงขึ้นอย่างสุดๆ แถบทวีปแอฟริกาทั้งร้อนแล้งฝั่งตะวันตกของสหรัฐ แห้งแล้งจนเกิดไฟป่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ในแถบตะวันออกบริเวณฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเกิดพายุเฮอร์ริเคนหนักหน่วง

บริเวณแคว้นบริติชโคลัมเบีย ของแคนาดา มีอากาศร้อนจัด บางแห่งอุณหภูมิสูงมากจนทำลายสถิติเดิมๆ และเกิดสภาพแห้งแล้ง ไม่มีฝน ระดับน้ำในแม่น้ำลดฮวบ ทางการต้องประกาศจำกัดปริมาณการใช้น้ำจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้

ฝั่งเอเชียใต้ ทั้งในปากีสถานและอินเดีย ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน มีปริมาณฝนสูงสุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นักวิทยาศาสตร์นำภาพถ่ายดาวเทียมที่สำรวจระดับความชื้นของผิวดินโลกช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับช่วงต้นๆ ศตวรรษนี้ พบว่า หน้าร้อนของยุโรปนี้ ความชื้นของพื้นผิวต่ำมากจนทำให้ความร้อนแล้งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปี 2544-2559

สภาพอากาศร้อนแล้งทำลายสถิติในรอบ 500 ปีของยุโรป ปริมาณแม่น้ำไรน์ที่ไหลจากเทือกเขาแอลป์ผ่านสวิส ออสเตรีย เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคมปีนี้ ลดน้อยลงมากจนมีผลต่อการเดินเรือ การขนส่ง ภาคการเกษตรและพลังงาน

แต่ฤดูร้อนที่จีนมีสภาพภูมิอากาศผันผวนอย่างสุดๆ ในเดือนกรกฎาคมบริเวณตอนเหนือของจีนมีฝนตกหนักปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ทางการจีนต้องออกประกาศเตือนระวังฝนตกหนักถึง 13,000 ครั้ง

มาในเดือนสิงหาคม ฝั่งตะวันตกของจีน สภาพอากาศทั้งร้อนและแล้ง ฝนตกน้อยมากจนเกิดภัยแล้งหนักสุดนานสุดเท่าที่บันทึกไว้ตั้งแต่ศตวรรษ 1960 เป็นต้นมา ปริมาณฝนน้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ยปกติส่งผลให้น้ำในแม่น้ำแยงซีแห้งขอด

ต้นเดือนตุลาคม อุณหภูมิในหลายพื้นที่ของจีนพุ่งสูงจนเกิดคลื่นความร้อนแผ่ซ่านและผันผวนมาก อย่างเช่นที่มณฑลอันฮุย ฝั่งตะวันออกอุณหภุมิสูงถึง 40.9 ํc แต่ในช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมง สภาพอากาศเปลี่ยนฉับพลัน เกิดมวลอากาศเย็นพาดผ่านอุณหภูมิลดฮวบ 20 ํc

เฉพาะที่เมืองเหอเฝ่ย มณฑลอันฮุย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม อุณหภูมิวัดได้ 39.9 ํc ข้ามไปอีกวันในเวลา 01.00 น. อุณหภูมิวูบลงมาที่ 11.8 ํc ช่วงเวลาเพียง 7 ชั่วโมงระหว่างนั้นอุณหภูมิลดฮวบถึง 15 ํc

มาที่ฝั่งเอเชียใต้ ทั้งอินเดียและปากีสถาน เจอฝนตกหนักในช่วงฤดูมรสุม ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ปากีสถานีมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 เท่าตัว ส่วนแคว้นสินธ์ มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 8 เท่าตัว

ย้อนกลับไปช่วงต้นฤดูร้อนของปากีสถานและอินเดีย อุณหภูมิพุ่งสูงมากเกิดคลื่นความร้อนปกคลุมพื้นที่ ทางพื้นที่แถบทวีปแอฟริกา อาทิ ประเทศเอธิโอเปีย เคนยา โซมาเลีย ในช่วง 3 ปีนี้ พบว่าปริมาณฝนน้อยมากแต่อุณหภูมิกลับสูงขึ้น อากาศร้อนจัด ส่งผลให้ระบบการเกษตรพังยับเยิน สหประชาชาติแสดงความเป็นห่วงว่าสภาพความแห้งแล้งเช่นนี้จะมีคนอดหยากหิวโหยราว 22 ล้านคน

นี่เป็นฉากทัศน์ความแปรเปลี่ยนผันผวนของสภาวะภูมิอากาศที่กระทบกับเศรษฐกิจ สังคมโลกวันนี้ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]