‘ศาสนาผี’ ในไทยหลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ ถึงปัจจุบัน | สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘ศาสนาผี’ ในไทยหลายพันปี

ก่อนประวัติศาสตร์ ถึงปัจจุบัน

 

ศาสนาผีทำหน้าที่รักษากฎเกณฑ์ทางสังคม ทำให้สังคมแข็งแรงอยูร่วมกันได้

ดังนั้น ศาสนาผีจึงเป็นที่นับถือของคนในเมืองและรัฐ (ขนาดเล็ก) สมัยเริ่มแรกในไทยไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500 (สมัยนั้นศาสนาพราหมณ์-พุทธ ยังไม่มาจากอินเดีย)

เมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) พบหลักฐานประวัติศาสตร์-โบราณคดี และธรณีวิทยาว่าเป็นรัฐ (ขนาดเล็ก) มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว นับถือศาสนาผี มีหินตั้งอยู่บนเขาทางตะวันตก ฯลฯ เป็นพยานว่ามีโครงสร้างทางการเมืองเป็นระบบแข็งแรง

ความเชื่อเรื่องผีในทางวิชาการสากลได้รับยกย่องเป็น “ศาสนา” เรียกศาสนาผี (เช่นเดียวกับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู)

แต่นักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับเป็นศาสนาผี ด้วยเหยียดว่าเป็นเพียง “ความเชื่อ” ชุดหนึ่งเท่านั้น

ผีบรรพชนในโลกต่างมิติถูกวาดเป็นรูปผิดส่วนไม่เหมือนจริง ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นของกรมศิลปากร คัดลอกภาพเขียนสีที่เขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา)

ศาสนาผีในไทย

ศาสนาผี มีความหมายดังนี้

(1.) นับถือผีมีอำนาจเหนือธรรมชาติ มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

(2.) ปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดจากการกระทำของผี

(3.) เชื่อเรื่องขวัญ แต่ไม่เชื่อเรื่องวิญญาณ เพราะศาสนาผีไม่มีวิญญาณ, ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีเทวดานางฟ้า, ไม่มีสวรรค์, ไม่มีนรก, ไม่มีเผาศพ ฯลฯ

(4.) ผีกับคนติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยการเข้าทรงผ่านร่างทรงซึ่งเป็นหญิง (ไม่มีร่างทรงเป็นชาย แต่มีสมัยหลังมากแล้ว)

(5.) หญิงเป็นใหญ่ (มีอำนาจเหนือชาย) ในพิธีกรรมทางศาสนาผี

(6.) ศาสนาผีรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม (เทียบกับศาสนาพุทธ รักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญาณของบุคคล)

อวัยวะเพศหญิง-ชาย สอดใส่สมสู่ร่วมเพศ เป็นลวดลายสัญลักษณ์บนภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว (กรมศิลปากรคัดลอกจากภาชนะขุดพบที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี)
(ซ้าย) หญิง-ชายสมสู่ร่วมเพศ (ลายเส้นของกรมศิลปากรคัดลอกจากภาพสลักราว 2,500 ปีมาแล้ว บนผนังถ้ำผาลาย ภูผายนต์ ต.กกปลาซิว อ.เมือง จ.สกลนคร)

ผี คืออะไร?

ผีเป็นคำในตระกูลภาษาไท-ไต-ไทย-ลาว หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติอยู่ในโลกต่างมิติ ที่จับต้องไม่ได้ และมองไม่เห็น

[เทวดา เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต มีความหมายเดียวกับผี]

ผีมี 2 ประเภท ซึ่งให้คุณและโทษต่อมนุษย์ คือ ผีดินกับผีฟ้า (สรุปใหม่จากบทความเรื่อง “จากเสมาอีสานถึงเสมาฟ้าแดด” ของศรีศักร วัลลิโภดม ใน เมืองโบราณ ฉบับเมษายน-มิถุนายน 2565 หน้า 18)

ผีดิน หมายถึงผีบรรพชนพื้นเมืองหลายพันปีมาแล้ว พบทั่วไปในชุมชนเก่าแก่แรกเริ่ม (ก่อนมีผีฟ้า)

ผีฟ้า เป็นผี “นำเข้า” จากตอนบนของโซเมีย หรือตอนใต้ของจีนบริเวณทะเลสาบคุนหมิง มณฑลยูนนาน จากคำจีนว่า “เทียน” (แปลว่าฟ้า) กลายคำเป็น “แถน” หมายถึงผีฟ้า

[ผีมี 2 พวกใหญ่ๆ คือ ผีดีและผีร้าย พบในหนังสือ ผีสางเทวดา ของ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2495]

ผีฟ้า มีความหมาย ดังนี้

(1.) อำนาจเหนือธรรมชาติสูงสุดอยู่บนฟ้า

(2.) ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า [เคยใช้เรียกกษัตริย์ว่า “ผีฟ้า” อยู่ในจารึกวัดศรีชุม (สุโขทัย หลักที่ 2) ว่า “ผีฟ้ายโสธรปุระ” หมายถึงกษัตริย์เขมรเมืองนครธม]

(3.) แหล่งรวมพลังขวัญของบรรพชนคนชั้นนำที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ซึ่งถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับขวัญบรรพชนคนก่อนๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนปลอดภัยและมีความอุดมสมบูรณ์

(4.) ผีกับคนติดต่อสื่อสารกันได้โดยผ่าน “ตัวกลาง” คือร่างทรงหรือคนทรงซึ่งเป็นหญิง

(5.) ถูกเรียกอีกชื่อว่าแถน (ราว 2,500 ปีมาแล้ว) ซึ่งได้จากภาษาจีนว่าเทียน แปลว่าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า [จากหนังสือ พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เรียบเรียงเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2451] หลังจากนั้นเรียกรวบว่า “ผีฟ้าพญาแถน”

(6.) คนในชุมชนถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากผีฟ้า ผ่านจารีตประเพณีพิธีกรรม และหมอมด, หมอขวัญ ฯลฯ

(7.) ต้นตอลัทธิเทวราช (ราว พ.ศ.1400) ด้วยการปรับความเชื่อเข้ากับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเชิญขวัญของพระราชาที่สวรรคตขึ้นสวรรค์บนฟ้า เพื่อรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะเป็นเทวราชา (ซึ่งไม่มีคตินี้ในอินเดีย)

(ขวา) หญิง-ชายสมสู่ร่วมเพศ [ลายเส้นจากประติมากรรมประดับบนฝาภาชนะสําริดบรรจุศพ พบที่หมู่บ้านเด่าติง (Dao Thinh) จ.เอียนบ๋าย (Yen Bai) ทางตอนเหนือของเวียดนาม ราว 2,500 ปีมาแล้ว จัดแสดงใน Vietnam National Museum of History]
ปั้นเมฆขอฝนเป็นรูปหญิง-ชาย (ชื่อนางฝนกับนายเมฆ) กําลังสมสู่เสพสังวาส โดยมีชายอีกคนหนึ่ง (ชื่อนายหมอก) นั่งอยู่ข้างๆ [ชาวบ้านขุดดินเหนียวมาปั้นกันเองขนาดเท่าคนจริงไว้กลางถนนทางสามแยกเข้าบ้านนาตะกรุด อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2558 (ภาพจาก https://www.thairath.co.th)]
เซ็กซ์ในศาสนาผีเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์

กิจกรรม “ร่วมเพศ” ในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อ เจริญเผ่าพันธุ์ และ เจริญพืชพันธุ์

พบหลักฐานโบราณคดีไม่น้อยแสดงการสมสู่ร่วมเพศของหญิง-ชาย หรือสัญลักษณ์การสมสู่ร่วมเพศ เช่น

ภาพเขียนบนเพิงผา หรือผนังถ้ำ, รูปหล่อสำริดประดับฝาปิดภาชนะสำริดใส่กระดูกคนตาย, ปั้นเมฆหญิง-ชายสมสู่ร่วมเพศกันกลางแจ้งพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ

เพลงโต้ตอบแก้กันของชาวบ้าน เช่น เพลงปรบไก่, เพลงฉ่อย, เพลงพาดควาย ฯลฯ มีคำหยาบเรียก “กลอนแดง” เป็นสัญลักษณ์สืบเนื่องจากพิธีสมสู่ร่วมเพศ “ขอฝน” หลายพันปีมาแล้วเพื่อเจริญเผ่าพันธุ์และเจริญพืชพันธุ์ •

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ