กรองกระแส/บทบาท ‘คสช.’ รุก หรือ รับทางการเมือง ประเด็น ‘เลือกตั้ง’

กรองกระแส

บทบาท ‘คสช.’
รุก หรือ รับทางการเมือง
ประเด็น ‘เลือกตั้ง’

เหมือนกับการกำหนด “วันเลือกตั้ง” ให้เป็นในเดือนพฤศจิกายน 2561 อย่างที่เรียกว่า “ปฏิญญาทำเนียบรัฐบาล” คือความมั่นใจอย่างยิ่งยวดในทางการเมือง
หลังเดินทางไปเยือนทำเนียบขาวและได้รับการต้อนรับจาก โดนัลด์ ทรัมป์
เมื่อได้รับการต้อนรับจากมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก เมื่อพื้นฐานการปฏิรูปนับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา แข็งแกร่ง มั่นคง มากด้วยผลงาน มากด้วยความนิยมเป็นอย่างสูงในมวลมหาประชาชน
ก็ถึงวาระที่จะเดินหน้าไปสู่ “การเลือกตั้ง” เพื่อสร้างความชอบธรรมในทางการเมืองให้สมบูรณ์ครบถ้วน
จากพื้นฐานเช่นนี้เท่ากับ “คสช.” กำลังเปิด “การรุก” ในทางการเมือง
เพราะทุกอย่างที่กำหนดผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างเต็มตามเป้าหมายในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญและทรงความหมายในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีเอกลักษณ์ไทยขึ้นในความเป็นจริง
คำถามก็คือ จังหวะก้าวทั้งหมดนี้สะท้อนและยืนยันลักษณะอันเป็น “การรุก” ในทางการเมืองจริงละหรือ

ทำความเข้าใจ
“พิมพ์เขียว” เดิม

ความจริงระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญาทำเนียบขาว” เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม กับสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม มีความต่าง
เป็นความต่างที่แทบมิได้เป็นการตระเตรียม
เพราะที่แถลงเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมนั้นเสมอเป็นเพียง “จะเดินตามโรดแม็ปที่ประกาศไว้โดยไม่มีการเปลี่ยน และในปีหน้าจะประกาศวันเลือกตั้งอย่างแน่นอน” แต่พอมาถึงการแถลงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม รายละเอียดก็คือ
“ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง”
เท่ากับร่นมาประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561
เท่ากับยืนยันวันเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561
เพียงเวลาจากวันที่ 2 มายังวันที่ 10 ตุลาคม ก็เกิดการแปรเปลี่ยน สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างความแจ่มชัด
ถามว่าเป็นความแจ่มชัดให้กับใคร

ปลดล็อกพรรคการเมือง
กำหนด “วันเลือกตั้ง”

ไม่ว่ากำหนด “วันเลือกตั้ง” ไม่ว่ากำหนดการปลดล็อกให้กับ “พรรคการเมือง” ในเบื้องต้นล้วนไม่มีความแน่นอน ไม่มีความแจ่มชัด
วันเลือกตั้งอาจกำหนดกว้างๆ ว่าประมาณปลายปี 2561 แต่ก็กำหนดอย่างยืดหยุ่น
ยิ่งการปลดล็อกพรรคการเมืองในเบื้องต้นยึดเอาพิมพ์เขียวจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่จะประกาศและบังคับใช้ คือ ว่าด้วย กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ซึ่งตามเกณฑ์นี้ก็จะตรงกับประมาณเดือนมิถุนายน 2561 เช่นเดียวกับการจะประกาศวันเลือกตั้ง
แต่พลันที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองผ่านความเห็นชอบจาก สนช. และได้มีการประกาศบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2560 กระแสสำคัญกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะกดดัน นั่นก็คือ มีความจำเป็นที่พรรคการเมืองจะต้องตระเตรียมตามบทบัญญัติของกฎหมาย
คสช. อาจอ้างเหตุจากงานพระราชพิธีสำคัญในเดือนตุลาคมยืดระยะเวลาปลดล็อกออกไป แต่หลังงานพระราชพิธีสำคัญก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้อีกแล้ว
เดือนพฤศจิกายนจำเป็นต้องประกาศปลดล็อกพรรคการเมืองอย่างแน่นอน
จากนี้จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่ากำหนดการประกาศวันเลือกตั้ง ไม่ว่ากำหนดการเลือกตั้ง ไม่ว่าการปลดล็อกพรรคการเมือง ล้วนมิได้มาจากความสุกงอมอย่างแท้จริงจาก คสช. หากแต่มาจากการถูกกดดัน บังคับ
นี่ย่อมมิใช่กระบวนการ “รุก” อย่างแน่นอน หากแต่เป็นการตั้ง “รับ” มากกว่า

ใครเป็นฝ่าย “รุก”
ใครเป็นฝ่ายกดดัน

การกดดันในทางการเมืองต่อ คสช. มีมาจาก 2 ส่วนประสานเข้าด้วยกัน 1 เป็นการกดดันจากประชาคมโลก และ 1 เป็นการกดดันภายในประเทศ
ประชาคมโลกเห็นได้ชัดจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป
ภายในประเทศคล้ายกับจะเป็นพรรคเพื่อไทยซึ่งได้รับผลสะเทือนโดยตรงจากรัฐประหารเมื่อเดือนพ
พฤษภาคม 2557
แต่ความเป็นจริงพลังกดดันได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
ระยะหลังบทบาทของพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มพูดเสียงเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย กระทั่งกลายเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขึ้นมาโดยปริยาย
ขบวนการประชาธิปไตยทั้งในและต่างประเทศนี้เองที่กำลัง “รุก” อย่างต่อเนื่องในทางการเมือง