จิตต์สุภา ฉิน : พิจารณาคดีในยุคไอทีเฟื่องฟู

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สักประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ซีรี่ส์ที่ซู่ชิงติดงอมแงมและดูติดๆ กันทุกวันจนตาแฉะก็คือซีรี่ส์ที่มีชื่อว่า Drop Dead Diva

เนื้อเรื่องเกี่ยวกับนางแบบสาวสวยคนหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต

แต่ด้วยความเอาแต่ใจตัวเองก็ไปกดปุ่มอะไรบางอย่างบนสวรรค์ ทำให้ถูกส่งกลับลงมายังโลกมนุษย์ในร่างของหญิงสาวอวบอ้วนที่เธอมารู้ทีหลังว่าเป็นทนายความผู้มีไอคิวสูงลิ่ว มีฐานะ หน้าที่การงานที่น่านับถือ

แต่ไม่มีสิ่งที่เธอมีก่อนตาย คือใบหน้าสวยๆ หุ่นอ้อนแอ้นอรชร เซ้นส์ทางด้านแฟชั่น และความมั่นใจอันเต็มเปี่ยม

ในแต่ละตอนของซีรี่ส์เรื่องนี้จะพูดถึงการที่เธอต้องสวมบทบาทเป็นทนายความว่าความคดีต่างๆ ที่จะต้องใช้ไหวพริบและความรู้ที่ทนายความหญิงเจ้าของร่างคนนั้นสั่งสมมาทั้งชีวิตมาว่าความให้ลูกความของตัวเองชนะให้ได้

ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับร่างใหม่และสิ่งแวดล้อมใหม่ซึ่งไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายเลย

ดังนั้น หากจะพูดว่าความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการตัดสินคดีของสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อยของซู่ชิงถูกเก็บสะสมมาจากซีรี่ส์เรื่องนี้ก็คงจะไม่ผิด

ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีสิ่งที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่เมื่อนำมาประกอบกับการหาข้อมูลทางด้านวิชาการเพิ่มเติม ก็ทำให้ซู่ชิงรู้สึกตื่นเต้นและอินเป็นพิเศษกับข่าวการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงเข้ามาช่วยคณะลูกขุนตัดสินคดีในศาล

การพิจารณาคดีโดยระบบกล่าวหาที่ใช้ลูกขุน เป็นระบบที่นิยมใช้กันในหลายประเทศ

คณะลูกขุนมีหน้าที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยผิดจริงหรือไม่ โดยพิจารณาชั่งน้ำหนักจากพยานและหลักฐานที่ทนายความของทั้งสองฝ่ายนำเสนอ จากนั้นผู้พิพากษาจึงจะทำหน้าที่กำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งคณะลูกขุนก็คือบุคคลธรรมดาทั่วไปที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาร่วมพิจารณาข้อเท็จจริง ในกรณีของสหรัฐอเมริกาถือเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องมาเป็นลูกขุนร่วมพิจารณาและตัดสินคดีในศาล โดยลูกขุนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมายเลยก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนที่มีวิจารณญาณหรือคอมมอนเซ้นส์ ก็พอ

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการใช้วิจารณญาณของคณะลูกขุนที่มีต่อพยานและหลักฐานของคดีก็คือบางครั้งหลักฐานอย่างภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอ ไม่มีความละเอียดรอบด้านเพียงพอ ภาพถ่ายอาจจะเห็นเพียงบางจุด วิดีโออาจผ่านการตัดต่อมาเพื่อให้ประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในกรณีที่คดีใหญ่สะเทือนขวัญสังคมจริงๆ เท่านั้นที่คณะลูกขุนจะได้รับอนุญาตให้ลงพื้นที่ไปดูสถานที่เกิดเหตุได้ แต่การจะทำเช่นนั้นต้องเสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย เสี่ยงต่อความปลอดภัย และการไปเยือนสถานที่เกิดเหตุหลังจากเหตุการณ์เกิดมาสักระยะแล้วก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้อะไรชัดเจนขึ้นได้สักเท่าไหร่

จึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ Virtual Reality เข้ามาช่วยค่ะ

โปรเจ็กต์ทดลองนี้เป็นไอเดียของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Staffordshire Univerisity ในอังกฤษ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะ “นำส่ง” คณะลูกขุนไปยังสถานที่เกิดเหตุด้วยการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาช่วย

ทีมนักวิจัยใช้อุปกรณ์สวมศีรษะแสดงภาพเสมือนจริง กล้อง และเอฟเฟ็กต์กรีนสกรีนในการพัฒนาระบบที่จะช่วยให้คณะลูกขุนรู้สึกเหมือนได้เข้าไปเหยียบอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ

จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องนำทางพวกเขาให้แวะดูตามจุดต่างๆ และพิจารณาหลักฐานในคดี ยิ่งมองเห็นรายละเอียดได้ลึกและชัดเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากเท่านั้น

โดยอุปกรณ์ที่คณะลูกขุนจะใช้ในการชมภาพก็คืออุปกรณ์สวมศีรษะแสดงภาพเสมือน อย่าง HTC Vive, Oculus Rift หรือ Sony PlayStation VR ซึ่งราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป

เมื่อไรก็ตามที่เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในระบบการไต่สวนคดีได้จริง เวลาที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ แทนที่จะแค่ถ่ายภาพนิ่งและบันทึกคลิปวิดีโอเอาไว้ ก็จะต้องนำเทคโนโลยีที่สามารถเก็บภาพแบบ 360 ภาพสามมิติ ภาพพาโนรามา เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เครื่องสแกนแบบเลเซอร์ หรือแม้กระทั่งโดรนติดตัวไปด้วย เพื่อที่จะได้เก็บรายละเอียดทุกเม็ดเอาไว้มาฉายซ้ำได้แบบไม่มีพลาด

หากต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย แทนที่จะใช้อุปกรณ์สวมศีรษะราคาแพงเรือนหมื่น ภาพถ่ายแบบ 360 องศาที่เก็บมาจากสถานที่เกิดเหตุก็สามารถนำมาดูได้บนอุปกรณ์ทางเลือกอย่าง Google Cardboard ที่ทำจากกระดาษลัง ราคาประมาณชิ้นละสามสี่ร้อยบาท หรือจะแค่แสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และสมาร์ตดีไวซ์แทนก็ได้

ความสำคัญอยู่ที่คณะลูกขุนจะต้องสามารถซูมเข้าซูมออก แพนซ้ายขวา เปลี่ยนมุมมองเงยขึ้น ก้มต่ำ ได้แบบที่ยังเห็นรายละเอียดชัดๆ แต่หากแสดงผลผ่านเฮดเซ็ตก็จะสมจริงมากที่สุด

โครงการที่นักวิจัยของ Staffordshire University กำลังทำอยู่นี้ได้รับทุนสนับสนุนแล้วมากกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากคณะกรรมาธิการยุโรป โดยเป็นการทำโปรเจ็กต์แบบนี้เป็นครั้งแรกของยุโรปด้วย

ถ้าหากคุณผู้อ่านอ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้นและช่วยลุ้นไปด้วยในใจว่าอยากให้มีการนำระบบเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้จริงในการพิจารณาคดี ก็อาจจะต้องอดใจรอกันต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ

เพราะดูท่าทางแล้วไม่น่าจะสามารถนำมาใช้งานได้ภายในเร็วๆ นี้แน่นอน ถึงแม้ว่าจะมีการพิสูจน์ให้เห็นว่ามันทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปได้อย่างสะดวก ราบรื่น และรอบด้านขึ้นได้

แต่การต้องเปลี่ยนทั้งระบบที่พึ่งพากระดาษ ปากกา ภาพถ่าย สิ่งของที่จับต้องได้มาโดยตลอด มาเป็นการใช้เทคโนโลยีเสมือนแบบนี้ กว่าจะผ่านขั้นตอนการทบสอบ พิสูจน์ อนุมัติ อบรม ฯลฯ ก็คงอีกนานหลายปีแน่นอน

และจากการที่สำนักข่าวบีบีซีไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องก็พบว่ายังมีการ ให้ความไว้วางใจกับระบบเดิมของการเก็บบันทึกภาพวิดีโอลงไปในดีวีดีอยู่ และไม่เห็นความแตกต่างหรือประโยชน์ที่จะมาพร้อมภาพสามมิติแต่อย่างใด

ตบท้ายกันอีกสักนิดว่าโปรเจ็กต์ของ Staffordshire นี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการนำอาชญากรรมมาเปลี่ยนให้เป็นสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ให้คนนอกเหตุการณ์ได้ลองเข้าไปอยู่ในสถานที่เกิดเหตุดูบ้าง เพราะเมื่อปีที่แล้วก็มีทีมสื่อมวลชนที่นำคดีที่อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยในชุมชนแห่งหนึ่งในฟลอริดา ยิง เทรย์วอน มาร์ติน เด็กหนุ่มชาวแอฟริกันอเมริกันวัย 17 ปีเสียชีวิตในปี 2012 มาจำลองให้เป็นซีรี่ส์วิดีโอที่สามารถชมในรูปแบบ 360 องศา ผ่านอุปกรณ์สวมศีรษะแสดงภาพเสมือนจริงได้

เวลาพูดถึงเทคโนโลยีแสดงภาพเสมือนจริง หนึ่งในปฏิกิริยาโต้ตอบของคนจำนวนไม่น้อยมักจะมองว่านี่เป็นเทคโนโลยีฟุ่มเฟือยที่ออกแบบมาให้สามารถเล่นวิดีโอเกมได้อย่างถึงใจมากขึ้นเท่านั้น แต่การนำ VR มาปรับใช้กับการพิจารณาไต่สวนคดีก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถนำมาใช้ได้หลากหลายรูปแบบ และแม้ว่ามันจะยังไม่กลายเป็นมาตรฐานในระบบยุติธรรมเร็วๆ นี้ แต่เราน่าจะได้เห็นตัวอย่างของการใช้ VR เข้ามาช่วยเล่ารายละเอียดในคดีต่างๆ มากขึ้นอย่างแน่นอน

และหวังว่าจะเป็นการเปิดโปงอาชญากรตัวร้ายได้มากขึ้นด้วยค่ะ