คันไม้ คันมือ อยากเลือกตั้ง | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

คันไม้ คันมือ

อยากเลือกตั้ง

 

ผมเป็นคนสนใจที่จะติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงชีวิตสี่ปีที่อยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างพุทธศักราช 2516 ถึง 2520 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นถึงสองครั้งคือเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 คราวหนึ่ง และเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 อีกครั้งหนึ่ง

รวมทั้งวิชาที่ตัวเองเรียนหนังสือหรือมาสอนหนังสือในภายหลังก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของการบ้านการเมืองอยู่ไม่ใช่น้อย

ดังนั้น ความอยากรู้อยากเห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้ากับบ้านเมืองของผมจึงไม่เคยห่างหายไปจากความสนใจของตัวเอง

พูดกันตามตรงเถิดครับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการนับเวลาแปดปีในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตัดสินไปเมื่อปลายเดือนก่อนที่ผ่านมา ไม่ได้ผิดไปจากความคาดเดาของผม

ถ้าซื้อหวยเริ่มแม่นยำขนาดนี้ก็ดีสินะ

ท่านที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นคงพอนึกออกว่า การให้เหตุผลทางกฎหมายว่าจะนับเวลาแปดปีกันอย่างไร นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเวลานั้น หรือจะมาเริ่มนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อเดือนเมษายน 2560 ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่อธิบายสนับสนุนความเห็นของตนเอง

แต่สำหรับผมแล้ว ประเด็นนี้กลับมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าการให้เหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งจะออกหัวออกก้อยอย่างไรก็ได้

แต่มนุษย์เช่นผมซึ่งอยู่ในเมืองไทยมานานพอสมควร ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า อย่าได้ไปคิดเพ้อฝันเลยว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านจะให้เริ่มนับแปดปีตั้งแต่ปี 2557 อย่างไรเสียท่านก็ต้องให้นับตั้งแต่ปี 2560 แน่นอน เพราะมันมีอะไรอีกมากมายก่ายกองนอกเหนือจากตัวบทรัฐธรรมนูญ ที่ท่านต้องนำมาคิดคำนวณบวกลบคูณหารด้วย

ทำไมเราจะไม่รู้จักศาลรัฐธรรมนูญเมืองไทย ฮา!

เอาเถอะครับ แล้วก็แล้วไป เรามาดูเหตุการณ์ในวันนี้วันหน้าดีกว่า

อย่างไรเสียทุกคนก็เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้นก่อนเดือนพฤศจิกายนซึ่งจ่อประตูรออยู่อีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว เพราะต้นเดือนพฤศจิกายนจะมีการประชุมนานาชาติระดับมหึมา ที่เรียกว่าการประชุมเอเปค ซึ่งมีความหมายความสำคัญทั้งในด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งก็กินแดนบนแผนที่โลกเข้าไปตั้งเยอะแยะแล้ว

คนที่นึกว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยุบสภาก่อนการประชุมเอเปคเกิดขึ้นต้องเป็นคนเสียสติอย่างหนัก จนไม่สามารถใช้เหตุผลธรรมดาสามัญมนุษย์ได้แล้ว

ท่านนายกฯ ของเรา ท่านนับนิ้วคอยมากี่เดือนกี่ปีแล้วที่จะได้จับมือเป็นมัดข้าวต้มเข้าแถวยาว ใส่เสื้อผ้าไตร Theme เดียวกัน กับผู้นำประเทศนับสิบ จะมาพลาดโอกาสจะได้อย่างไร

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองจึงให้ความเห็นตรงกันว่า อย่างไรเสียในเดือนพฤศจิกายนนี้จะไม่มีการยุบสภาอย่างแน่นอน

เดือนธันวาคมก็ยังไม่ยุบครับ

ถามว่าทำไมไม่ยุบสภาเดือนธันวาคม คำตอบก็คือ เดือนธันวาคมนั้นทุกคนอยู่ในบรรยากาศของความรื่นเริงเฉลิมฉลอง ที่ฝรั่งเรียกว่า Holiday mood ขืนใครไปยุบสภาเข้า แล้วจะหาเสียงกันได้อย่างไรล่ะครับ ชาวบ้านที่ไหนใครจะมาสนใจว่าพรรคไหนเสนอนโยบายอะไร ทุกคนกำลังใจจดใจจ่ออยู่ว่า วันนี้พรุ่งนี้จะไปกินเลี้ยงที่ไหนดี

ความเป็นไปได้ในสายตาของผมและเพื่อนฝูงหลายคนที่พูดคุยกัน จึงมีโอกาสจึงความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาในเดือนมกราคม โดยไม่ต้องล้างรอจนถึงปลายเดือนมีนาคมให้สภาหมดอายุไปตามวาระ

ถ้ายุบสภาในเดือนมกราคมแบบที่ผมเดา บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรคสองบอกว่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ยุบสภา ถ้าเป็นแบบนี้ นั่นก็หมายความว่าการเลือกตั้งจะอยู่ประมาณเดือนมีนาคมปลายเดือน หรืออย่างช้าอาจไปถึงต้นเดือนเมษายน

แต่ไม่น่าคร่อมไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ เพราะ Holiday mood อีกแล้วครับท่านผู้ชม

ในเมื่อปฏิทินทางการเมืองมีโอกาสเป็นไปได้สูงแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นพรรคการเมืองทั้งหลายเริ่มเปิดตัวกันอย่างอลหม่าน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งเก่าทั้งใหม่หรือทั้งคนที่ไม่เคยสอบได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย ต่างวิ่งหาพรรคสังกัดกันจ้าละหวั่น เพราะขืนเข้าไปเป็นสมาชิกช้าไปนิดหนึ่ง ไม่ครบจำนวนวันที่ต้องมีชื่ออยู่ในพรรคนั้นๆ ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะลงสมัครผู้แทนฯ

ชีวิตนี้ก็ต้องนั่งหงอยไปอีกหลายปีล่ะครับ

เรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันรู้ยิ่งกว่า คือความอยากรู้อยากเห็นของผมว่าในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้นปีหน้าจะมีพรรคการเมืองอะไรที่เป็นพรรคสำคัญในสนามเลือกตั้งบ้าง

พรรคการเมืองสมัยนี้ตั้งชื่อคล้ายกันหลายพรรค ถึงวันเลือกตั้งจริง ก่อนเข้าคูหากาบัตรคงต้องท่องชื่อพรรคไว้ให้ขึ้นใจ

 

เมื่อเราพูดถึงพรรคการเมืองและการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก ถ้าเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยแท้จริง พรรคการเมืองก็ต้องนำเสนอแนวทางหรือนโยบายการเมืองของตนให้ประชาชนได้เลือกว่าดีกว่าอีกพรรคหนึ่งอย่างไร

เรื่องของตัวบุคคลที่อยู่ในพรรคนั้นแม้มีความสำคัญอยู่ก็จริง แต่ไม่สำคัญเท่ากับนโยบายของพรรค เช่น เราอาจจำแนกว่าพรรคชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นพรรคแนวทางอนุรักษนิยม หรือเป็นพรรคในแนวทางก้าวหน้า

จากการติดตามการเมืองในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา ผมพอขานชื่อได้ว่าพรรคใดพรรคแนวอนุรักษนิยมหรือพรรคในแนวทางก้าวหน้า คงไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือผิดร้ายอะไรถ้าผมจะบอกว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีนโยบายในแนวทางก้าวหน้าขณะที่พรรคไทยภักดีเป็นพรรคที่มีแนวทางอนุรักษนิยม

แต่ก็มีอีกหลายพรรคเหมือนกันครับในเมืองไทยของเรา ที่นโยบายของพรรคไม่อาจชี้ขาดลงไปได้ว่าไปในแนวไหน หลายพรรคดูเหมือนจะเป็นพรรคของท้องถิ่นของจังหวัด หรือของภูมิภาค

หนักข้อยิ่งกว่านั้น บางพรรคเป็นสมบัติส่วนบุคคล

Photo by MIKE CLARKE / AFP

ความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคการเมืองในประเทศไทยของเราเวลานี้ยังไม่มั่นคงเพียงพอ เหตุที่เกิดผลอย่างนี้ขึ้น ในทัศนะของผมคือ บ้านเรายุบพรรคง่ายเกินไป บ้านเราปฏิวัติบ่อยเกินไป ปัจจัยสองข้อนี้เป็นตัวบั่นทอนการเกิดขึ้นและเติบโตของพรรคการเมืองที่แท้จริงอย่างสำคัญ

ตามความรู้ที่พอมีอยู่บ้าง ผมไม่คิดว่าจะมีประเทศไหนเค้ายุบพรรคการเมืองได้ง่ายและบ่อยเท่าบ้านเราอีกแล้ว

พรรคการเมืองในหลายประเทศ ไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอนโยบายครบทุกด้านและหวังจะเป็นรัฐบาล ฟังดูแปลกอยู่มิใช่น้อย ที่จะบอกว่า ในเมืองนอกบางประเทศ เขาตั้งพรรคการเมืองขนาดเล็กขึ้นเพื่อเสนอไอวายหรือทำงานการเมืองในประเด็นเดี่ยวอย่างใดอย่างหนึ่ง แค่นั้นเขาก็พอใจแล้ว

ลองนึกถึงพรรค Green ที่มุ่งมั่นทำงานในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอยู่กับธรรมชาติ การประหยัดพลังงาน การต่อต้านการใช้ทรัพยากรทุ่มเฟือย หรืออะไรทำนองนี้

ถ้าจับพลัดจับผลู พรรคทำนองนี้ได้ร่วมรัฐบาล เขาก็ไม่ปฏิเสธ ถึงแม้ไม่ใช่แกนนำในการตั้งรัฐบาล แต่การได้เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐมนตรีก็มีน้ำหนักพอที่จะทำให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายบางอย่างของเขาได้แล้ว

พูดวนไปวนมา เพื่อจะบอกว่า ใกล้วันเลือกตั้งเข้าไปทุกทีแล้ว สำหรับบางพรรคการเมืองที่ยังนึกไม่ออกว่าตัวเองจะมีนโยบายอะไร นอกจาก “นโยบายอยากร่วมรัฐบาล” ก็ต้องรีบประแป้งแต่งตัว คิดนโยบายอะไรขึ้นมาสักอย่างพอแก้เขินแก้ขวยนะครับ

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างผมจะได้พอมีทางเลือกได้บ้าง จะได้รู้ว่าพรรคแต่ละพรรคสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ละพรรคมีนโยบายดีหรือด้อยกว่ากันอย่างไร

ไม่ใช่เอะอะอะไรๆ ก็บอกนโยบายสำคัญแต่เพียงว่า จะสนับสนุนพลเอก… เป็นนายกรัฐมนตรี

พลเอกสองสามคนที่ผมนึกชื่อออกเวลานี้ น่ารักน่าเอ็นดูทั้งนั้น

แถมคนเขายังลือว่า เป็นพี่น้องกันด้วย เพียงแต่ต่างนามสกุล

อยากให้ถึงวันลงคะแนนเลือกตั้งเร็วๆ จัง

คันไม้คันมือไปหมดแล้ว