จิตต์สุภา ฉิน : VidCon โลกคนรุ่นใหม่ที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ถ้าหากซู่ชิงจะบอกว่าตอนนี้คนดูโทรทัศน์น้อยลงมาก และหันไปเสพคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ตกันหมดแล้ว คุณผู้อ่านก็อาจจะเบ้ปากใส่แล้วบอกว่า ใครๆ เขาก็รู้กันอยู่แล้วนี่ ไม่ใช่ข้อมูลใหม่อะไรสักหน่อย ซึ่งก็จริงค่ะเพราะเราพูดเรื่องนี้กันมาสักระยะแล้วว่าทีวีถูกลดความสำคัญลง ไพรม์ไทม์ของสถานีโทรทัศน์ก็ไม่ได้ไพรม์ขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะผู้ชมมีสมาร์ตดีไวซ์อย่างสมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเลือกชมคอนเทนต์ได้ตามเวลาที่ตัวเองสะดวก

แต่คำกล่าวที่ว่ามานี้ยิ่งดู “จริง” และ “ใกล้ตัว” มากยิ่งกว่าเดิม ก็ตอนที่ซู่ชิงเดินทางมาร่วมงาน VidCon 2016 ในเมืองอนาไฮม์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้นี่แหละค่ะ

ท้าวความก่อนนิดนึงนะคะว่างาน VidCon คืองานที่จัดขึ้นสำหรับคนรักวิดีโอออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำวิดีโอแล้วอัพโหลดขึ้นไปให้คนอื่นดูบนอินเทอร์เน็ต (โดยเฉพาะบนยูทูบ) หรือที่เขาเรียกว่า “ครีเอเตอร์” ไปจนถึงผู้ชมคลิปวิดีโอ งานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีงานนี้เป็นสื่อกลางให้ครีเอเตอร์ได้พบกับแฟนๆ ของตัวเอง ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้าฟัง และนำพาครีเอเตอร์มาเจอกับแบรนด์ที่อาจจะต่อยอดนำไปสู่การร่วมงานกันได้ในอนาคต

งาน VidCon จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2010 โดยพี่น้องตระกูลกรีน คือ แฮงค์ กรีน และ จอห์น กรีน ซึ่งเขาสองคนนี้มีแชนนัลของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า VlogBrothers อยู่บนยูทูบด้วยค่ะ ยิ่งจัด ขนาดของงานก็ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากงานที่มีคนเข้าร่วมแค่ 1,400 คน ก็เติบโตกลายเป็น 19,500 คนในปีที่แล้ว และมียูทูบมาร่วมเป็นสปอนเซอร์หลักด้วย

ซู่ชิงเดินทางไปถึงงานในวันแรกก็ต้องตกใจเล็กน้อยด้วยความที่เคยชินกับงานเทคโนโลยีที่มักจะถูกจับจองพื้นที่ไปด้วยผู้ชาย งานนี้กะประมาณคร่าวๆ ด้วยตาเปล่าคิดว่าผู้เข้าร่วมงานกว่า 85% น่าจะเป็นผู้หญิง และเป็นเด็กผู้หญิงที่อยู่ในวัยตั้งแต่ประถมไปจนถึงมัธยมต้นด้วยค่ะ กลุ่มผู้เข้าร่วมงานที่รองลงมาคือกลุ่ม LGBT หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนผู้ชายนั้นดูจะมีหร็อมแหร็มกลายเป็นประชากรส่วนน้อยไปเลยค่ะ

บรรยากาศภายในงานคึกคักและสนุกสนานเหมือนอยู่ในสวนสนุกผสมกับงานคอนเสิร์ต แววตาของเด็กสาวทุกคนฉายประกายความตื่นเต้นและความหวังที่จะได้เจอกับครีเอเตอร์ที่ตัวเองชื่นชอบ และถ้าเดินเข้าไปถามพวกเธอเหล่านั้นว่าชอบครีเตอร์คนไหน แต่ละคนจะรีบตอบชื่อครีเอเตอร์คนโปรดมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและภาคภูมิใจพอๆ กับที่เราในวัยรุ่นจะบ้าคลั่งดารา นักร้อง นักแสดง แบบนั้นเลยค่ะ

ซู่ชิงได้พูดคุยกับครีเอเตอร์หลายคน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านที่ทำวิดีโอสอนทำขนมหวานบนยูทูบจนโด่งดัง (My Cupcake Addiction) สามสาวชาวออสเตรเลียที่เดิมทำงานเป็นพนักงานในร้านขายเสื้อผ้าจนมาถึงวันที่ตัดสินใจอัพโหลดคลิปวิดีโอฮาๆ ของตัวเองลงบนยูทูบ (SketchShe) ชายหนุ่มญี่ปุ่นที่อยากโด่งดังมีชื่อเสียงกับเขาบ้างและคิดว่ายูทูบน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (Hajime) และกลุ่มวัยรุ่นชายห่ามฮาที่มีความฝันอยากเป็นคนทำภาพยนตร์ก็เลยมาเริ่มต้นด้วยการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นในแบบของตัวเองลงบนยูทูบ (Racka Racka และ Royal Stampede) คนทั้งหมดที่ว่ามานี้ใช้เวลาไม่กี่ปีจากในตอนแรกที่ไม่มีใครรู้จักตัวตนของพวกเขาบนอินเทอร์เน็ตเลย มาถึงวันที่แต่ละคน แต่ละแชนนัล มียอดคนตามเป็นหลักล้าน และกลายเป็นคนดังที่มีคนปรี่เข้ามาทักทายตามท้องถนนโดยที่ไม่ต้องอาศัยการออกทีวีเลย

ครีเอเตอร์ทุกคนที่ซู่ชิงได้พูดคุยด้วยตอนนี้หันมายึดการทำวิดีโอบนยูทูบเป็นอาชีพหลักกันหมดแล้วค่ะ รายได้หลักๆ ของพวกเขามาจากหลายทางด้วยกัน ทางแรกก็คือการเป็นพาร์ตเนอร์กับยูทูบในการอนุญาตให้นำโฆษณามาแปะไว้ในคลิปของพวกเขาและแบ่งปันรายได้ค่าโฆษณากัน ทางที่สองก็คือเมื่อทำไปสักพักและเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็จะมีแบรนด์ต่างๆ ติดต่อมา จ้างให้ทำโฆษณาให้ หรือส่งของมาให้พูดถึงผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ไปจนถึงรายได้ทางที่สามสำหรับครีเอเตอร์ที่โด่งดังมากๆ แล้ว ก็สามารถออกผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ เช่น ครีเอเตอร์ที่ทำวิดีโอสอนแต่งหน้าก็จะออกเครื่องสำอางคอลเล็กชันของตัวเอง ครีเอเตอร์สอนทำอาหารก็จะออกหนังสือรวมสูตรทำอาหาร ในขณะที่ครีเตอร์ที่เขาเรียกว่าเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” หรือคนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในสังคมทั้งหลายก็จะทำสินค้าอย่าง เสื้อยืด หมวก กระเป๋า รองเท้า ที่มีตราโลโก้ของตัวเองออกมาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า รายได้และชื่อเสียงทั้งหมดนี่แหละค่ะที่ทำให้คนหันมาสร้างแชนนัลของตัวเองบนยูทูบมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดหวังว่าปลายทางจะประสบความสำเร็จเหมือนดั่งครีเอเตอร์แถวหน้าเหล่านั้น

IMG_9844

ซู่ชิงอยากรู้ว่าแต่ละคนที่มาเข้าร่วมงาน VidCon ในครั้งนี้ เป็นใคร ทำอะไร และมาเพราะอะไร ก็เลยเดินขอสัมภาษณ์ไปเรื่อยๆ นอกจากเด็กสาวที่มารอกรี๊ดครีเอเตอร์ที่ตัวเองชื่นชอบแล้ว ซู่ชิงก็ได้เจอเรื่องราวที่น่าสนใจอีกไม่น้อย อย่างเช่นคุณแม่คนหนึ่งที่พาลูกสาวของตัวเองมางาน ลูกสาวของเธอพูดจาฉะฉาน ยิ้มและโปรยเสน่ห์ใส่กล้องของทีมงานเราราวกับมืออาชีพ คุณแม่คนนี้บอกว่าตั้งใจพาลูกสาวมาเพราะอยากให้ลูกสาวมาฟังเสวนาจากบรรดาครีเอเตอร์เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำแชนนัลของตัวเอง เพราะลูกสาวกำลังเข้าสู่วงการนักแสดงและอยากเป็นคนที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ ดังนั้นคุณแม่คนนี้ก็พร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนทุกทาง หนึ่งในนั้นก็คือการพาลูกสาวของตัวเองมาร่วมงาน VidCon เพื่อให้ดูตัวอย่างจากคนที่เขาประสบความสำเร็จแล้วนี่แหละค่ะ

อีกหนึ่งเรื่องที่เจอแล้วรู้สึกประหลาดใจและฮาไปพร้อมๆ กันก็คือ ซู่ชิงสัมภาษณ์เด็กผู้ชาย 3 คน ที่อายุน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 13-15 ปี และถามคำถามว่า ตอนนี้ดูทีวีหรือดูคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ตมากกว่ากัน ทั้งสามคนใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการตอบว่า “อินเทอร์เน็ต” และอธิบายให้ฟังว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะใช้เวลาอยู่บนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แสน็พแช็ต หรือยูทูบมากกว่า และยืนยันว่าไม่แตะทีวีเลยโดยสิ้นเชิงมาสักระยะหนึ่งแล้ว ซู่ชิงถามว่า อ้าว แล้วทุกวันนี้ติดตามข่าวสารจากไหน หนึ่งในสามคนสวนกลับมาทันทีว่า “จากพ่อครับ” ทำเอาฮากันไปทั้งวง แล้วอีกสองคนก็ขานรับด้วยการบอกว่าตัวเองก็รับข่าวสารมาจากญาติผู้ใหญ่ในบ้านเหมือนกัน นอกจากนั้นก็อัพเดตข่าวเอาจากหน้าไทม์ไลน์ของโซเชียลมีเดียนั่นแหละ และมั่นใจว่าไม่ได้รู้ช้ากว่าคนที่ดูทีวีแน่ๆ

ดังนั้นงาน VidCon นี้จึงเป็นงานที่ไม่ได้จัดขึ้นมาเพื่อผู้ใหญ่เลย ผู้ใหญ่ที่หลงเข้ามาในงานจะรู้สึกงงงวยมากว่าคนที่เด็กๆ เหล่านี้กรี๊ดใส่เป็นใคร มาจากไหน ด้วยความที่สองเจเนเรชั่นนี้ใช้เวลาอยู่บนหน้าจอคนละประเภทกันนั่นเอง ดีไม่ดีเด็กเหล่านี้อาจรู้ข้อมูลรอบด้านกว่าด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่อยู่บนทีวีทุกวันนี้ก็ย้ายไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตด้วยแล้วทั้งหมด แถมพวกเขาได้ดูเยอะกว่าเพราะได้ดูสิ่งที่มีเฉพาะบนอินเทอร์เน็ตไปพร้อมๆ กันด้วย

สำหรับคนทำทีวีแบบซู่ชิงแน่นอนว่าฟังแบบนี้แล้วก็ต้องรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ บ้างเป็นเรื่องธรรมดา ทีวีคงยังไม่ล้มหายตายจากไปเร็วๆ นี้แน่ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนหันไปใช้เวลาอยู่บนอินเทอร์เน็ตมากกว่า นี่เป็นการตอกย้ำให้ต้องรีบปรับตัวว่าทำอย่างไรให้คอนเทนต์ที่เรานำเสนอสามารถอยู่ได้ทั้งสองแพลตฟอร์ม เพราะอะไรที่อยู่บนทีวีแล้วโอเค เมื่อนำมาแปะไว้บนอินเทอร์เน็ตอาจจะกลายเป็นยาว ย้วย ไม่น่าสนใจไปเลยก็ได้

สำหรับคนทั่วไปที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ ซู่ชิงว่านี่เป็นแรงบันดาลใจที่ดีเลยค่ะ ครีเอเตอร์ทุกคนบอกว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้ที่รายได้หลักมาจากบนยูทูบ แถมยังเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกอีกต่างหาก ซึ่งก็แปลว่าหากพวกเขาทำได้ เราก็มีโอกาสที่จะทำได้เหมือนกัน

สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการมีไอเดียออริจินัลที่ไม่ได้ไปลอกเลียนแบบใครมา ตามมาด้วยการทำอย่างสม่ำเสมอ อัพโหลดวิดีโอบ่อยๆ บางคนอาจจะให้คำแนะนำว่าอย่าเริ่มต้นด้วยการทำเพราะหวังเงิน หรือหวังดัง แต่ซู่ชิงคิดว่าถ้าจะเริ่มทำเพราะความต้องการแบบนั้นก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหนเลยค่ะ แต่ถ้าอยากดังและทำเงินได้แบบยั่งยืนก็ต้องหมั่นท่องไว้ค่ะว่า คุณภาพ กับ ความสม่ำเสมอ สองอย่างนี้จะทำให้คุณอยู่ได้บนอินเทอร์เน็ตแน่ๆ

ส่วนจะดังและรวยไปได้ในระดับไหนอันนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าคอนเทนต์ที่นำเสนอถูกใจ สะกดติ่ง กระตุ้นต่อม ของคนบนอินเทอร์เน็ตแค่ไหนนั่นแหละค่ะ ขอให้ทุกคนโชคดีกับการสร้างตัวตนบนอินเทอร์เน็ตกันนะคะ