แบงก์ชาติหวั่น ‘หนี้ครัวเรือน’ พุ่ง เร่งคุม ‘บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล’ สกัดแคมเปญกระตุ้น ‘ของมันต้องมี’ | บทความพิเศษ

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

แบงก์ชาติหวั่น ‘หนี้ครัวเรือน’ พุ่ง

เร่งคุม ‘บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล’

สกัดแคมเปญกระตุ้น ‘ของมันต้องมี’

 

“หนี้ภาคครัวเรือน” ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ประชาชนจำนวนมากต้องประสบปัญหาตกงาน ขาดรายได้ จนทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การทำให้เศรษฐกิจ Smooth take off ฟื้นตัวแบบไม่สะดุด เป็นความสำคัญลำดับแรก จากบริบทเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ประเทศไทยฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน

“หนี้ครัวเรือน” ยังถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจ “Take off” ได้แบบยั่งยืนหรือไม่

ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวว่า ก่อนเกิดวิกฤตโควิด หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ที่ 50% ต่อจีดีพี และเมื่อเกิดโควิดก็เคยขึ้นไปถึง 90% แม้ว่าไตรมาส 2/2565 จะปรับลงมาอยู่ในระดับ 88% ของจีดีพี แต่ก็ถือว่าสูงเกินไปอาจทำให้การฟื้นตัวสะดุดได้

โจทย์ของแบงก์ชาติคือต้องจัดการให้ “หนี้ครัวเรือน” อยู่ในระดับยั่งยืน คือไม่เกิน 80% ของจีดีพี

ทั้งนี้ การจัดการให้สัดส่วน “หนี้ครัวเรือน” ลดลงมาได้ ต้องมีการดูแลตลอดช่วงชีวิต คือตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างก่อหนี้ และในช่วงที่มีปัญหาหนี้ที่จะต้องแก้ไข

ดร.เศรษฐพุฒิระบุว่า แม้ว่าที่ผ่านมา ธปท.ได้จัดให้มี “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” รวมถึงการทำมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาปลายทาง หลังจากเป็นหนี้และมีปัญหาการชำระหนี้

แต่หากจะแก้ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” แบบครบวงจร จะต้องเริ่มตั้งแต่การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ (Responsible Lending) แต่ถ้าเอาแนวทางนี้มาบังคับใช้ในช่วงวิกฤตก็จะยิ่งทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เรื่องนี้ก็ต้องยึดหลักการให้ถูกต้อง

“เรื่องหนี้ครัวเรือน ไม่มียาวิเศษที่จะได้ผลทันที และต้องทำให้ถูกต้อง และไม่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard รวมถึงไม่เป็นการผลักภาระหนี้ไปในอนาคต อย่างการพักหนี้ แม้ว่าจะดูดี แต่ดอกเบี้ยและหนี้ยังวิ่งอยู่ ซึ่งเป็นการเตะปัญหาไปข้างหน้า แต่ปัญหายังอยู่ นอกจากนี้ วิธีการต่างๆ ไม่ควรทำให้คนออกจากระบบสินเชื่อ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่กับเรามายาวนาน จึงไม่มียาวิเศษ ไม่เร็ว ต้องใช้เวลา

รณดล นุ่มนนท์

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ประเด็น “หนี้ครัวเรือน” ธปท.มีเป้าหมายที่จะทำให้ลดลงมาอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี ขณะที่ตัวเลขล่าสุดเมื่อไตรมาส 2/2565 ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 88%

การที่จะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงไปสู่จุดนั้นได้มีเรื่องต้องทำ 3 เรื่อง คือ

1. การลดหนี้ปัจจุบัน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการบริโภค

โดยแบงก์ชาติก็มีแนวทางดูแลลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ ตั้งแต่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ จนถึงมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีทางเลือกของสมการแก้หนี้มากขึ้น

2. การปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ในเฟสแรก ธปท.จะออกหนังสือเวียนให้สถาบันการเงินทั้งแบงก์และนอนแบงก์ ตระหนักถึงการออกโปรดักต์-แคมเปญส่งเสริมการขายที่เป็นการ “กระตุกพฤติกรรม” ให้เกิดการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับลูกหนี้ หรือการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อาทิ การโฆษณากระตุ้นให้จับจ่าย “ของมันต้องมี” ซึ่งคาดว่าจะออกประกาศภายไตรมาสแรกปี 2566

การปล่อยสินเชื่อ นอกจากสถาบันการเงินจะพิจารณาความสามารถในการชำระของลูกหนี้แล้ว ต่อไปจะต้องคำนึงถึงรายได้คงเหลือในการดำรงชีพของลูกหนี้ด้วย แต่แนวทางเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ด้วย

ดังนั้น ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าแนวทางกำกับออกมาเร็วเกินไป ก็จะกระแทกกลุ่มลูกหนี้เปราะบาง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยังต้องเปิดรับฟัง และรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม

3. การให้ความรู้ทางการเงินและวินัยทางการเงิน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตั้งก่อนที่จะเป็นหนี้ โดย ธปท.จะมีการจับมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 10 แห่ง เพื่อให้ความรู้ถึงระดับชุมชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือน 88% ของจีดีพี ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้มีหลักประกันประเภทหนี้บ้าน หนี้รถ รวมถึงหนี้เพื่อประกอบอาชีพ (ประมาณ 53%) แต่หนี้ที่แบงก์ชาติเป็นกังวลคือหนี้เพื่อการบริโภค ที่ไม่มีหลักประกัน ประเภทหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล (พีโลน) มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 35% ของจีดีพี

“เรื่องการก่อหนี้ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เช่น การกู้เพื่อไปทำอาชีพ ทำให้เราไม่จมกองหนี้ และยังสามารถจ่ายหนี้ได้ โดย ธปท.ก็จะดูแลลดแคมเปญที่ไปกระตุ้นกระตุกพฤติกรรมก่อหนี้ไม่จำเป็น เพราะในระยะยาว สินเชื่อเหล่านี้จะขาดคุณภาพ” รองผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าว

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2565 จะลดลงมาที่ระดับ 88% ต่อจีดีพี แต่ในแง่ของมูลค่าหนี้ครัวเรือน ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 14.65 ล้านล้านบาท

โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2/2565 เติบโตในอัตราที่ชะลอลง หลังลูกหนี้รายย่อยชะลอการก่อหนี้ก้อนใหญ่ ประเภท “หนี้บ้าน-หนี้รถ”

ในทางกลับกัน ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีหนี้สินที่อยู่ในรูปบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ 8.2% ของหนี้ครัวเรือนรวม จาก 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า

ตัวเลขการเติบโตของหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ก็สะท้อนว่าครัวเรือนจำนวนมากมีการกู้ยืมผ่านสินเชื่อดังกล่าวเพื่อเสริมสภาพคล่องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

โจทย์สำคัญดังที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นกังวล คือมาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้จะต้องไม่เป็นการผลักให้ประชาชนออกไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ เพราะจะทำให้ปัญหาเลวร้ายขึ้นไปอีก