คุณธรรมกฎหมาย หายไปไหน | เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

คุณธรรมกฎหมาย

หายไปไหน

 

“ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมา 8 ปี เพิ่งจะรู้สึกว่า การยกป้ายเชียร์ในเวลาไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ เป็นสิ่งที่น่าละอาย ทุเรศนัยน์ตา น่ารังเกียจ

พลันที่ “เสียงข้างมาก” จากศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ไปต่อ ก่อนจะออกตรวจพื้นที่ขอนแก่นกับอุบลราชธานี “ประยุทธ์” จึงได้กล่าวกับผู้ว่าฯ ทั้งสองว่า “ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องเอาคนมาถือป้ายนะ”

ธรรมเนียมราชการไทยคล้ายตัวประหลาด สอพลอนายกลายเป็นคุณงามความดี!

อาจเป็นไปได้ว่าในระหว่างที่ถูกสั่งให้หยุดพักจากการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้น

“ประยุทธ์” ได้เห็นภาพบาดตาบาดใจที่มีการเกณฑ์คน ขนนักเรียนไปยืนชูป้ายส่งเสียงเชียร์พี่ใหญ่ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ที่สลัดท่วงท่าอุ้ยอ้ายสวมรองเท้าผ้าใบใส่ยีนส์ออกลุยพื้นที่ถี่ยิบ ป้าย “เอฟซี ลุงป้อม” ป้ายให้กำลังใจลุงป้อม เรารักลุงป้อม อยากให้ลุงป้อมเป็นผู้นำประเทศ คงติดตา ฝังใจ

แต่จบแล้วนะลุงป้อม!

มติศาลรัฐธรรมนูญ 6 ต่อ 3 ว่าให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “ประยุทธ์” ตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้

ศาลทุกศาลทั่วโลกเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ถือเอา “เสียงข้างมาก” แต่ก็ไม่ละเลยต่อ “เสียงข้างน้อย” จะต้องเคารพและบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ทางความคิด แต่ถึงแม้ “เสียงข้างน้อย” จะพ่ายแพ้ต่อ “เสียงข้างมาก” ก็ยังไม่เคยมีใครรวบรวมสมัครพรรคแล้วใช้กำลังหรือใช้อาวุธเข้าหักหาญทำลาย “มติเสียงข้างมาก”

วิญญูชนย่อมไม่ปล้นชิงอำนาจกันด้วยอาวุธ!

ฝ่ายเสียงข้างน้อยต้องปฏิบัติตามมติเสียงข้างมาก รู้จักอดทน รอคอย แต่ก็สามารถหยิบยกข้อคิดที่แตกต่างมาค้นคว้าถกเถียงตีแผ่เผยแพร่แก่สังคม

กับคำถามที่ว่า “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติแล้วหรือยัง ประยุทธ์ควรจะอยู่ หรือควรจะไป

ในมุมมองจากการวินิจฉัยของ “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ” 1 ใน 3 ฝั่งเสียงข้างน้อย อธิบายเอาไว้น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง

…การที่บ้านเมืองอยู่ได้โดยปกติสุขมีความสงบเรียบร้อยนั้น มิใช่เพราะการบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากต้องอาศัยสำนึกที่ดี จริยธรรม และสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติ ซึ่งมีผลควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเป็นส่วนใหญ่ด้วย หลายเรื่องที่แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีลธรรม ก็ไม่ควรทำ เช่น การพูดเท็จอันเป็นต้นเหตุแห่งการปิดบัง หรือบิดเบือนความจริงทั้งมวล แม้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ผู้มีจริยธรรมหรือมีจิตสำนึกที่ดี แม้รู้ว่าไม่ผิดกฎหมายก็จะไม่ทำ ยิ่งหากเป็นผู้นำหรือผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงเป็นที่เชื่อถือของประชาชนยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป

ใน “ความเห็นส่วนตน” ของทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ จึงฟันธงว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (ประยุทธ์) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ คือตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 การนับวาระตามนี้เป็นการเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนตามที่ได้ลงประชามติไว้เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่พึงประสงค์และเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน

“เมื่อเจตนารมณ์ของการกำหนดวาระเป็นการควบคุมอำนาจมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองจึงต้องตีความไปในทางควบคุมอำนาจ ถ้าไม่ประสงค์จะนำวาระแปดปีมาใช้กับนายกรัฐมนตรี (คนปัจจุบัน) ก็ต้องบัญญัติกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจน”

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

อย่าลืมว่า ทุกถ้อยคำที่บัญญัติในกฎหมายทุกมาตรา มีเบื้องหลัง!

เบื้องหลังถ้อยคำคือความคิด หรือความมุ่งหมายที่กฎหมายจะคุ้มครอง ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “คุณธรรมของกฎหมาย”

เช่น คุณธรรมของกฎหมายจราจร ที่มุ่งคุ้มครอง “ความปลอดภัย” แก่ผู้ใช้รถทุกชนิดกับทุกคนที่ใช้ทาง แม้แต่คนเดินเท้า คนยืน วิ่ง ขี่จักรยาน มอเตอร์ไซค์ รถยนต์นั่ง รถกระบะ รถบรรทุกเล็ก รถบรรทุกใหญ่ สามล้อ ซาเล้ง ฯลฯ

กฎจราจรจึงเป็นกฎแห่งความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกันของทุกคน ที่อยู่ภายใต้ “กติกาเดียวกัน” อย่างเท่าเทียม

แต่ในประเทศที่เต็มไปด้วยความสับสนกับคำว่า “มาตรฐาน” จนไม่รู้จักคำว่า 1 มาตรฐาน 2 มาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานนี้ แม้แต่ “กฎจราจร” ก็กลายเป็น “กติกู” เช่นเดียวกัน บนท้องถนนทุกวันนี้ มือใครยาวสาวได้สาวเอา ใหญ่ข่มเหงเล็ก เอารัดเอาเปรียบ เล็กกว่าต้องรู้จักรอ ตั้งรับ กับถอยไป คนเดินถนน หรือข้ามทางม้าลาย ถ้าไม่อยากตายก็ต้องทำใจ คุณมีความสำคัญน้อยกว่ามอเตอร์ไซค์ที่วิ่งบนฟุตปาธหรือที่วิ่งสวนเลนมาชนบาดเจ็บและตาย รถยนต์ใหญ่กว่ารถจักรยานยนต์ ถ้าเป็นรถบรรทุกหกล้อสิบล้อสามารถห้อตะบึงได้ทั้งช่องทางซ้ายและขวา รวมทั้งไหล่ทาง

กฎไม่เป็นกฎ!

แม้แต่กฎจราจรยังมากไปด้วย “ข้อยกเว้น” อุบัติเหตุบนถนนตอกย้ำถึงความไม่มีมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย คน “เชื่อ” ในอานุภาพของเงินมากกว่า แค่พ่อแม่มีเงินก็ไม่คำนึงถึง “กติกา” ซื้อรถหรูราคาแพงให้ลูกได้เท่ทั้งที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์กฎหมายกำหนด

ขับรถไปชนคนตาย จากที่ไม่เคารพกฎเล็กๆ กลายเป็นการทำลายชีวิตผู้อื่นครั้งยิ่งใหญ่ บางคนเป็นเสาหลักเสาเดียวของพ่อแม่และครอบครัว บางคนกำลังจะแต่งงาน ต้องพลัดพรากไม่อาจกลับคืน

(Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP)

“กฎ” ที่ใหญ่สุดคือรัฐธรรมนูญ เป็นแม่บทแห่งกฎทั้งปวง ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติพิทักษ์ปกป้องเอาไว้ถึงขั้นว่า ถ้าใครล้มล้างฉีกทำลาย มีโทษถึง “ประหารชีวิต” หรือ “จำคุกตลอดชีวิต”

แต่ความเป็นจริงก็คือ เฉลี่ยทุกๆ 6 ปี มีทหารใช้กำลังและอาวุธล้มล้างรัฐบาลพลเรือน ที่มาจาก “เสียงข้างมาก” ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วเขียน “กติกู” ขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจต่อไป

ยังไม่เคยมีเลยสักครั้งที่ระบบยุติธรรมจะปกป้อง “คุณธรรมของกฎหมาย” ยืนยันความเป็น “นิติรัฐ” ของไทย

คนไม่มีเคารพกฎหมายเพราะขาดศรัทธา

สุดท้ายก็นึกถึงถ้อยสำนวนของ “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่แสดงความเห็นส่วนตนในเรื่อง “วาระ 8 ปีบนเก้าอี้นายกฯ ของประยุทธ์” ที่ว่า

“ผู้มีอำนาจทั้งหลายควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ ‘จริยธรรมนำกฎหมาย’ หรือ ‘เคร่งครัดตน ผ่อนปรนคนอื่น’ มิใช่ ‘เคร่งครัดคนอื่น ผ่อนปรนตนเอง’ เพื่อจะได้บรรเทาหรือระงับวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อจริยธรรมกฎหมายและผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายในบ้านเมืองลงได้บ้าง”!?!!!