ประกาย ‘ความหวัง’ | เมนูข้อมูล

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ประกาย ‘ความหวัง’

 

ในความรู้สึกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ แม้ความเป็นไปของประเทศจะมีเรื่องราวที่ชวนให้สิ้นหวังอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อไม่นานมานี้สัญญาณที่สะท้อนว่า “ความหวังบางอย่างได้เกิดขึ้นแล้ว”

ก่อนหน้าการพัฒนาประเทศ ในมิติของ “นักการเมือง” ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การก่อสร้างสิ่งต่างๆ โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น

เป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งที่ความสนใจที่จะผลักดันการพัฒนาคนมีน้อยมาก “นักการเมือง” ที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยิ่งมีน้อยอย่างยิ่ง

นานๆ ทีจะได้ยิน “นักการเมือง” พูดเรื่องการศึกษาที่เอาจริงเอาจังกับการสร้างศักยภาพให้กับคนไทย

แต่เมื่อไม่นานมานี้ มี “นักการเมืองรุ่นใหม่” คนหนึ่ง นำเสนอการพัฒนาในมิติที่เป็นความหวังของเยาวชนไทยด้วยท่าทีเอาจริงเอาจังอย่างดีใจ

“ดร.หญิง-ลิณธิภรณ์ วรินวัชรโรจน์”

นักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เป็น “รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย” โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “มหา’ลัยล้น ห้องเรียนว่าง เด็กจบมาตกงาน วิกฤตใหญ่ที่การศึกษาไทยกำลังเผชิญ” ไว้ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ

ในบทสรุป “แน่นอนว่าการแก้ไขความเดือดร้อนของค่าครองชีพอย่างเร่งด่วนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าต่อไปในอนาคตก็สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งที่ทุกรัฐบาลควรจะต้องทำคือพัฒนาให้คนไทยสามารถลืมตาอ้าปากได้ ไม่ใช่บีบให้จนแล้วแจกอย่างที่ผ่านมา”

ดร.หญิงนำเสนอบางตัวเลขที่เรียกให้ทุกฝ่ายหันกลับไปมอง

“เด็กที่จบปริญญาตรีนั้น คือ กลุ่มที่หางานทำไม่ได้มากที่สุด” จากข้อมูลผลสำรวจสภาวะการทำงานของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในเดือนกรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีผู้ว่างงานกว่า 5.14 แสนคน ในจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คือ 2.35 แสนคน และจากจำนวนคนว่างงานที่จบปริญญาตรีนั้นมีมากกว่า 1.5 แสนคนที่เป็นนิสิตนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งนี่เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าตกใจและสะท้อนให้เราเห็นถึงปัญหาหลายๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับเยาวชนและการศึกษาไทย

ข้อเรียกร้องของ ดร.หญิงที่ว่า “วิกฤตการศึกษาไทยคือเรื่องใหญ่ที่เราต้องรีบแก้ไขนะคะ ปัญหาเด็กจบใหม่ไม่มีงานทำเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในปัญหาอีกมากมายของการศึกษาไทยเท่านั้นเอง ที่หญิงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพราะปัญหาเด็กจบปริญญาตรีแต่ยังหางานทำไม่ได้จะกลายเป็นระเบิดเวลา ถ้ายังคงเป็นแบบนี้ต่อไปสักวันในอนาคตอาจได้เห็นนักลงทุนย้ายไปลงทุนในต่างประเทศ ด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยไม่มีแรงงานคุณภาพตามที่ต้องการ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นปัญหางูกินหางที่แก้ยังไงก็แก้ไม่ตก ซ้ำร้ายจะยิ่งทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยถ่างออกมากกว่าเดิม ถ้าไม่รีบแก้ไขถึงวันนั้นมันอาจจะสายเกินแก้แล้วนะคะ”

ดูเหมือนจะไม่ง่ายนักที่ “การปฏิรูปการศึกษา” จะเกิดขึ้นในประเทศที่เน้นการสร้างระบบควบคุม ครอบงำความคิดของเด็กๆ มากกว่าจะเปิดอิสระในการเรียนรู้

ทำให้ “ปฏิรูปการศึกษา” ที่พูดถึงกันมายาวนานหลายชั่วอายุคนเกิดขึ้นจริงไม่ได้

และยิ่งน่าเศร้าคือ “นักการเมือง” ที่ใส่ใจเรื่องการสร้างคุณภาพความรู้ ความสามารถของคนไม่ค่อยมีให้เห็นนัก

ดังนั้น เมื่อ “นักการเมืองรุ่นใหม่” คนหนึ่ง ออกมาแสดงความคิดด้วยท่าทีสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจจริงจัง

จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ “ความหวัง” อย่างน้อยได้รับการจุดให้เป็นประกายเรียกความสนใจได้ แม้จะไม่มากนักเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ