ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ จากชนเผ่า ‘ลาหู่’ สู่โฆษกพรรค ‘ไทยสร้างไทย’

รายงานพิเศษ | วรลดา

 

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ

จากชนเผ่า ‘ลาหู่’

สู่โฆษกพรรค ‘ไทยสร้างไทย’

 

ชื่อ “ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ” ปรากฏบนสื่อโลกออนไลน์หลังการประชุมใหญ่ของพรรคไทยสร้างไทย เมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ในฐานะ “โฆษกพรรค” ซึ่งเป็นอีกตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง และด้านกลยุทธ์

ด้วยวัย 30 ต้นๆ “ธิดารัตน์” ได้ชื่อเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแรงกล้าคนหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอสนใจด้านนโยบายการศึกษา ด้วยว่าที่ผ่านมาการศึกษาได้เปลี่ยนชีวิตของเธอ จากเด็กสาวบนดอยสูง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ชาติพันธุ์ “ลาหู่” สอบชิงทุนเข้าเรียนจุฬาฯ คณะรัฐศาสตร์ ไปต่อปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ด้วยทุนจากรัฐบาลอังกฤษและมูลนิธิออกซ์ฟอร์ด (ไทย)

แถมปริญญาโทอีกใบด้านรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหัว ด้วยทุนรัฐบาลจีน

เธอยังได้รับเลือกเป็นศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นในประเทศไทย ประจำปี 2021-2022

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม One Young World Summit 2017 ที่โคลอมเบีย

ธิดารัตน์เริ่มต้นเข้าสู่วงการการเมืองเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ในสังกัดพรรคเพื่อไทย ตามเส้นทางฝันที่วางไว้

จากนั้นย้ายมาอยู่กับไทยสร้างไทยในปัจจุบัน

ด้วยความที่ต้นทุนชีวิตติดลบ การเดินทางไปสู่จุดหมายแห่งความฝันที่อยากเป็น “นักการเมือง” ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย แต่วันนี้เธอสามารถทำสำเร็จในเบื้องต้น ซึ่งมาจากความมุ่งมั่น ความพยายามที่มากกว่าปกติ

“ธิดารัตน์” แทนตัวเองว่า “ธิดา” พูดถึงเส้นทางชีวิตก่อนจะมาถึงจุดนี้ ว่าเกิดและโตที่ อ.แม่สรวย แม่เป็นคนไทยบ้านเกิดอยู่ที่อุตรดิตถ์ ส่วนพ่อเป็นชนเผ่าลาหู่ในพม่า

ครอบครัวฝ่ายพ่อมีอาชีพทำไร่ทำนา แต่ต้องอพยพหนีรัฐบาลทหารพม่าเข้ามาในไทยเมื่อตอนอายุ 3 ขวบ เพราะตอนนั้นทหารเริ่มขึ้นมามีบทบาทในการปกครอง และมักจะยึดเอาผลผลิตของชาวบ้านไปเป็นผลประโยชน์ของตัวเอง

พ่อของธิดารัตน์เล่าให้ฟังว่า ต้องใช้เวลาเดือนกว่า ในการเดินข้ามภูเขากว่าจะมาถึงเขตชายแดนไทย ตอนที่หนีมามีปู่กับย่าและลูกๆ อีก 10 คน แต่พอมาถึงชายแดนไทยเหลือ 7 คน นอกนั้นเสียชีวิตระหว่างทางจากการเจ็บป่วยและความยากลำบากในการเดินทาง

เมื่อมาถึงได้ไปตั้งรกรากที่ อ.แม่สรวย เป็นชุมชนคริสเตียน

ชาวลาหู่นับถือศาสนาคริสต์และมีความผูกพันกับศาสนาสูงมากเพราะเป็นที่พึ่งทางเดียว มีการสร้างโบสถ์ไว้ในหมู่บ้าน

พ่อของธิดารัตน์ก็เป็นมิชชันนารีที่โบสถ์นั้น จนเดี๋ยวนี้ก็ยังสร้างโบสถ์ตามแนวชายแดน

 

วัยเด็กของธิดารัตน์มักจะถูกเพื่อนๆ ล้อเรื่องการเป็นชนเผ่า แต่เธอว่า “มันเป็นเรื่องปกติ” เพราะในชีวิตคนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่โดนล้อเรื่องหนึ่งก็โดนอีกเรื่องหนึ่ง

“ธิดาเป็นคนไม่มีต้นทุนทางสังคม ติดลบด้วยซ้ำ ตั้งแต่พ่อไม่มีสัญชาติ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข การเข้าถึงบำนาญ ไม่มีเลย ไม่ต้องไปคิด แต่สิ่งเดียวที่ทำให้เรามาถึงจุดตรงนี้ได้ ทำให้เรามีสิทธิ์มีเสียงในสังคม คนเริ่มมองเห็นเราก็เพราะการศึกษา”

“ที่บ้านไม่ได้มีฐานะดี ต่ำกว่าปานกลางมาก ถ้าไม่ได้ทุนจากจุฬาฯ ก็คงไม่ได้เรียนที่จุฬาฯ ไปเรียนที่อังกฤษ ถ้าไม่ได้ทุนจากรัฐบาลอังกฤษก็คงไม่ได้เรียนเหมือนกัน การเรียนของธิดาแต่ละขั้นแต่ละตอนต้องหาทุนเรียนให้ได้”

“และเรียนเปอร์เซ็นไทล์ 70-80 ก็ไม่ได้ ต้องเรียนให้ได้ 99 ไม่งั้นจะไม่ได้ทุน ยิ่งในชุมชนที่เรียกว่าบ้านนอกเท่าไร โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาดีๆ นั้นยากมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สนใจเรื่องนโยบายการศึกษา”

จากโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงรายมาเป็นนิสิตจุฬาฯ ใช่ว่าเส้นทางจะโรยด้วยกลีบดอกไม้ เธอว่าทุกครั้งที่ก้าวข้ามจากโรงเรียนที่ยิ่งบ้านนอกเท่าไร ยิ่งใกล้เข้ามาในเมือง ก็ยิ่งมีช่องว่างระหว่างตัวเองกับเพื่อนๆ

ปีแรกที่เรียนจุฬาฯ ต้องปรับตัวอย่างมาก ยกตัวอย่าง “เขาอ่านหนังสือ 5 ชั่วโมง เราต้องอ่าน 10 ชั่วโมง เขาอ่าน 10 เราต้องอ่าน 20 เขาไปเล่นกัน เราก็ไปไม่ได้ ต้องพยายามมากกว่าเขา ไม่งั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขึ้นไปถึงจุดของพวกเขา”

ความชื่นชอบและกลายมาเป็นจุดพลิกผันของโฆษกสาวผู้นี้ คือการเป็นนักดีเบต หรือ “นักโต้วาที” ธิดารัตน์เป็นสมาชิกชมรมโต้วาทีภาษาอังกฤษ จุฬาฯ ตั้งแต่เป็นนิสิตแรกเข้า กระทั่งเมื่อขึ้นปี 4 จึงได้เป็นประธานชมรม

ระหว่างที่ทำงานในชมรมมีโอกาสเดินทางไปประเทศต่างๆ แม้แต่เมื่อไปเรียนที่อังกฤษก็ยังเป็นกัปตันทีมโต้วาทีอีกเช่นกัน

เรียกว่าสั่งสมประสบการณ์ไว้มากพอตัว นำไปสู่การเป็น “นักการเมือง” ตามที่ใฝ่ฝัน

“ตั้งใจเลยว่าอยากเป็นนักการเมือง รอเลือกตั้งมานานมาก สมัยนั้นรัฐประหารเลยไม่มีเลือกตั้ง จนไปเรียนอังกฤษกลับมาน่าจะปี 2017 พอดีเป็นปีที่จะเลือกตั้งจึงมีโอกาสได้คุยกับหลายๆ พรรค และเจอกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตอนอยู่เพื่อไทย คุยกันแล้วคลิกเลยไปอยู่เพื่อไทยก่อน”

“จากนั้นพอคุณหญิงสร้างพรรคก็ย้ายมาอยู่ไทยสร้างไทย ธิดามองว่าการจะเข้าพรรคอะไร มีเหตุผลอยู่ 2-3 ข้อ แรกคือความเป็นไปได้ที่จะชนะ ถ้ามาแล้วต้องได้ สอง-อยากได้คนมาเป็นครูสอนเราได้ เพราะเราเป็นเด็กใหม่ในวงการ สาม-มองหาคนที่เปิดกว้างและรับฟัง”

 

การรับหน้าที่โฆษกพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย หากพูดดีเป็นศรีแก่ปากก็รุ่ง แต่ถ้าหากพูดแล้วตรงกันข้ามก็ร่วงได้ โฆษกสาวบอกว่าเธอเข้าใจเรื่องนี้ดี แต่งานนี้เป็นงานที่ท้าทายและเป็นจุดฝึกฝนให้ก้าวไปสู่การเมืองระดับใหญ่ “ไม่ใช่ว่าเข้ามาทำแล้ว โอ้โห เพอร์เฟ็กต์ 100 เปอร์เซ็นต์ ธิดาโชคดีที่มีผู้ใหญ่สนับสนุน มีทีมงานที่ค่อนข้างใหญ่ใช้อยู่ 2-3 ทีม วางตัวไว้มีทั้งสายบู๊และสายบุ๋น ทุกคนทำงานกันเต็มที่ ทุกวันจันทร์เช้าจะประชุมดูประเด็นและหารือว่าเราจะเล่นประเด็นไหน แถลงเรื่องอะไร ต้องดูกระแสด้วย ถ้าเป็นการเมืองจ๋าก็จะปรึกษากับหัวหน้าพรรคด้วย พูดอะไรไปอาจมีผลกระทบได้ ช่วงนี้เป็นการแพลนแผนงานที่ค่อยๆ เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง”

ในความเห็นของธิดารัตน์การทำหน้าที่โฆษกพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องตอบโต้ทุกข่าว แต่ต้องดูว่าข่าวไหนใหญ่และต้อง “เล่นมากได้มาก ไม่ใช่เล่นมากได้น้อย” ธิดารัตน์เองมีโฆษกที่เป็นไอดอลคือ “บารัก โอบามา” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เธอว่า “เป็นคนที่ชอบมากๆ พูดได้จับใจคน เคยเจอเมื่อปี 2015 ที่ไวท์ เฮาส์ ได้เข้าพบในฐานะคนรุ่นใหม่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จับมือและคุยกัน รู้สึกเลยว่าเป็นคนที่มีออร่ามาก มีพลังมาก”

เมื่อถามว่าคำถามแบบไหนที่รับมือได้ยาก ธิดารัตน์บอกรับมือได้ยากจริงๆ เป็นคำถามเรื่องการเมืองจ๋า “เพราะบางทีนักข่าวถาม ไม่ได้ให้เราตอบถูก เขาถามให้เราไปซ้ายหรือไปขวา ก็ต้องเลือกว่าเราจะตอบยังไง ตอบแบบไหนให้ดูแย่น้อยที่สุด”

แล้วเคยพลาดบ้างหรือยัง เป็นคำถามปิดท้าย

“ยังไม่ระดับพาดหัวข่าว ถ้าอย่างนั้นคงไม่มาถึงตรงนี้” โฆษกสาวหัวเราะเสียงดัง