‘ข้างขึ้นข้างแรม’ กับ ‘ศาสนาผี’ เปิดตัวหนังสือและ Special Talk โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ

รายงานพิเศษ | กรกฤษณ์ พรอินทร์

 

‘ข้างขึ้นข้างแรม’ กับ ‘ศาสนาผี’

เปิดตัวหนังสือและ Special Talk โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ

 

แม้จะบอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่พิธีกรรมต่างๆ อาทิ พระภูมิเจ้าที่ พิธีบายศรีสู่ขวัญ การทำขวัญนาค การเก็บอัฐิคนตายไว้ในบ้านและในวัด การลอยกระทงขอขมาผีน้ำผีดิน ฯลฯ กลับเป็นพิธีกรรมที่ไม่ใช่พุทธ และได้รับอิทธิพลสืบเนื่องมาจาก “ศาสนาผี” แทบทั้งสิ้น

สิ่งเหล่านี้บอกแก่เราว่า แท้จริงแล้ว “คนไทยยังคงนับถือศาสนาผี” ควบคู่ไปกับการนับถือพุทธและพราหมณ์ ซึ่งศาสนาผีดำรงอยู่ในไทยมาแล้วหลายพันปีจวบจนถึงปัจจุบัน

เพื่อเป็นการไขข้อข้องใจดังกล่าวให้กระจ่างชัด สุจิตต์ วงษ์เทศ กวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์ ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ได้เปิดเวทีบรรยาย “ศาสนาผี” ในไทยหลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ ถึงปัจจุบัน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เวลา 12.30-15.00 น.

พร้อมด้วยกิจกรรมสุดพิเศษ “อ่านบทกวี ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ขบคิดสังคมไทยผ่านโคลงกลอน” โดย “ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” และ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ” ที่คัดสรรโคลงกลอนจากผลงานเล่มใหม่ล่าสุด “ข้างขึ้นข้างแรม” ผลงานของสองกุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ คำนำเสนอโดย เสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการต้นฉบับโดย กฤช เหลือลมัย และประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาพประกอบโดย ตะวัน วัตุยา ที่สำนักพิมพ์มติชนเปิด Pre-Order ครั้งแรกในงานนี้

หลังการลงทะเบียนหน้างานในเวลา 12.30 น. แฟนานุแฟนกว่า 150 ชีวิต อัดแน่นเต็มความจุท้องพระโรงวังหน้า เพื่อรอการบรรยายของสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่จะเริ่มต้นในเวลา 13.00 น. โดยมีนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รอร่วมฟังบรรยาย พร้อมด้วยนางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายนฤตย์ เสกธีระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด นายสมปรารถนา คล้ายวิเชียร ผอ.ฝ่ายดิจิทัลมีเดีย มติชนทีวี และนายมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ต้อนรับ

มีบุคคลในแวดวงต่างๆ มาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก อาทิ นายตะวัน วัตุยา ศิลปินชื่อดัง ผู้วาดภาพประกอบหนังสือ “ข้างขึ้นข้างแรม” หนังสือโคลงกลอนเล่มล่าสุดของสองกุมารที่เปิด Pre-Order ครั้งแรกในงานนี้ นางสาววิราวรรณ นฤปิติ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือการเมืองเรื่องพระพุทธรูป สำนักพิมพ์มติชน นายฆนัท นาคถนอมทรัพย์ นักวิชาการอิสระ

และยังได้รับเกียรติจาก นางสาวนิตยา กนกมงคล ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร และนายเขมชาติ เทพไชย อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร ร่วมฟังบรรยายครั้งนี้ด้วย

วิญญาณ ขวัญ ผี

สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มต้นบรรยายว่า ส่วนมากคนไทยมักคิดว่าพิธีกรรมต่างๆ ในสังคมมาจากศาสนาพุทธทั้งหมด แต่ที่จริงไม่ใช่ เพราะแต่เดิมเรานับถือศาสนาผีก่อนที่จะมีศาสนาพุทธเผยแผ่เข้ามาในบริเวณนี้ จนกระทั่งคนในพื้นที่ได้รู้จักพุทธศาสนา จึงเอาความเชื่อหลากหลายประการมาควบรวมเข้ากับสังคมพุทธแบบไทยๆ มาผสมพราหมณ์ จนออกมาเป็น “ศาสนาไทย” โดยมีเรื่อง “ขวัญ” เป็นเรื่องสำคัญ

ซึ่งขวัญนี้ไม่เหมือนวิญญาณทางศาสนาพราหมณ์-พุทธ เพราะวิญญาณในศาสนาพราหมณ์-พุทธมีดวงเดียวในมนุษย์ทุกคน เมื่อคนตาย วิญญาณก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ในทันที

แต่ขวัญในศาสนาผีมีนับไม่ถ้วน เมื่อคนตาย แต่ขวัญไม่ตาย แล้วถูกเรียกว่า “ผี”

สุจิตต์กล่าวว่า คนมักสับสนนำ “ขวัญ” ไปปะปนกับ “วิญญาณ” ซึ่งแท้จริงไม่ใช่สิ่งเดียวกัน “คนเชื่อเรื่องขวัญ แต่มักคิดว่าเป็นวิญญาณ คนตาย ขวัญไม่ตาย ปัจจุบันเวลามีการนิมนต์พระไปเชิญวิญญาณ จริงๆ แล้วไม่ใช่วิญญาณ แต่เป็นเชิญขวัญ”

และอธิบายเพิ่มเติมว่า “ขวัญเคลื่อนไหวทั่วไปในทุกมิติ และเข้าสิงได้ในทุกสิ่ง เช่น หิน ไม้ ฯลฯ วัตถุเหล่านั้นเป็น “ร่างเสมือน” ที่คนมีชีวิตต้องการให้เป็น เช่น ขวัญของหลวงพ่อที่มรณภาพ เข้าสิงรูปปั้นหรือรูปแกะสลักอย่างใดอย่างหนึ่ง รูปปั้นหรือรูปแกะสลักนั้นได้รับการยกย่องเป็น “ร่างเสมือน” ของหลวงพ่อซึ่งมีพลังอำนาจต่างๆ อย่างเดียวกับที่หลวงพ่อมีชีวิต”

หญิงเป็นใหญ่ในศาสนาผี

ในศาสนาผี นับถือผู้หญิงเป็นใหญ่ มีอำนาจเหนือชาย

มีหลักฐานจากการพบโครงกระดูกสตรีที่สวมใส่ลูกปัดนับแสนเม็ดที่แหล่งโบราณคดีบ้านโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี ถือว่ามีอำนาจและศักดิ์ศรีมากกว่าชาย

ผู้หญิงคือหัวหน้าเผ่าพันธุ์

สุจิตต์กล่าวว่า “เวลาแต่งงาน เรียกบ่าว-สาว ผู้หญิงเป็นนาย ผู้ชายเป็นบ่าว ผู้สืบสายตระกูลคือหญิง ศาสนาผีต้องเข้าทรง ร่างทรงคือตัวกลาง และต้องเป็นผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ติดต่อผีฟ้าได้ ผีฟ้าไม่ลงผู้ชาย ลงแต่ผู้หญิง”

แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเพศหญิงในศาสนาผี

ความตาย เรื่องใหญ่ในศาสนาผี

เรื่องใหญ่ที่สุดในศาสนาผีคือความตาย ในศาสนาผีไม่มีโลกหน้า มีแต่โลกของผีและโลกของคน

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบแสดงให้เห็นว่า พิธีกรรมความตายของศาสนาผีมีเรื่องของชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง

คือ เมื่อชนชั้นรากหญ้าตายให้แร้งกากิน ทำขวัญ 1-2 วัน, ชนชั้นนำหรือหัวหน้าเผ่าตายจะมีพิธีกรรมยืดยาวมาก แสดงให้เห็นว่าหลายพันปีก่อนก็มีระบบอภิสิทธิ์ชนเกิดขึ้นแล้ว

“ชุมชนสมัยก่อนมีลานกลางบ้านเป็นศูนย์กลาง เวลาฝังศพก็ฝังที่ลานกลางบ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีการสู่ขวัญ เรียกขวัญหลายคืน เพราะขวัญหาทางกลับไม่ถูก ต้องตีเกราะเคาะไม้ สนุกเฮฮา เพื่อเรียกขวัญกลับร่างที่นอนตาย ศาสนาอื่น ร้องไห้เสียใจ แต่งานศพไทย สนุก เล่นไพ่ ใส่ชุดสีสัน ไม่ใช่เรื่องเศร้า เพราะฐานคิดมาจากตรงนี้”

สุจิตต์กล่าว

อ่านกลอนหลังฟัง Talk

เมื่อการบรรยายจบลง สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ตอบคำถามของผู้ร่วมงานถึงประเด็นที่ได้รับฟังในวันนี้ก่อนจบการ Talk สุดพิเศษในครั้งนี้อย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นเป็นกิจกรรม “อ่านบทกวี ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ขบคิดสังคมไทยผ่านโคลงกลอน” ร่วมอ่านบทกวีโดย “ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” และ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ” มาถ่ายทอดโคลงกลอนจากปลายปากกาของสองกุมารแห่งสยาม ในรูปแบบของเสียงอ่านจากบทกวีคัดสรรจากหนังสือ “ข้างขึ้นข้างแรม”

ในช่วงท้ายคุณนฤตย์ เสกธีระ กรรมการผู้จัดการบริษัท งานดี จำกัด ได้มอบหนังสือที่ระลึกให้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ ที่ร่วมอ่านโคลงกลอน ต่อด้วยเรียนเชิญคุณตะวัน วัตุยา ศิลปินผู้วาดภาพประกอบหนังสือ “ข้างขึ้นข้างแรม” มอบภาพที่ระลึกให้แก่คุณขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในโอกาสนี้ และถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกัน

ผู้สนใจ Pre-Order “ข้างขึ้นข้างแรม” ผลงานของสองกุมารสยาม ได้ที่นี่ •