ความเฮี้ยนของหินใหญ่ที่พุทธศาสนาญี่ปุ่นผนึกไว้ในนามจิ้งจอกเก้าหาง | On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ความเฮี้ยนของหินใหญ่ที่พุทธศาสนาญี่ปุ่นผนึกไว้ในนามจิ้งจอกเก้าหาง

 

ในญี่ปุ่นมีตำนานเกี่ยวกับ “จิ้งจอกเก้าหาง” หลายเรื่อง แต่ที่โด่งดังที่สุดก็คือ นิทานเกี่ยวกับหินก้อนหนึ่งที่มีชื่อว่า “หินเซ็ตโชเซกิ” (Sesshoseki Stone) หรือที่รู้จักกันในโลกภาษาอังกฤษว่า “Killing Stone” (หินสังหาร) ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น

นิทานเรื่องหินสังหารอ้างว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นางจิ้งจอกเก้าหางได้เนรมิตกายมาเป็นหญิงงามเมืองที่ชื่อว่า “ทามาโมะ โนะ มาเอะ” แล้วได้กลายมาเป็นพระสนมคนโปรดของพระจักรพรรดิโทบะ (มีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ โดยครองราชย์ระหว่างเรือน พ.ศ.1650-1666 ก่อนจำยอมต้องสละราชบัลลังก์ แล้วออกบวชจนกระทั่งเสียชีวิตลงในอีกหลายสิบปีต่อมา)

แน่นอนว่า จิ้งจอกเก้าหางได้ยั่วยวนพระจักรพรรดิองค์นี้ เสียจนละเลยจากราชกิจการงานต่างๆ แถมยังสูบเอาพลังชีวิตของพระองค์ เสียจนร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน

โดยที่ใครก็ไม่ทราบถึงสาเหตุที่ร่างกายของพระองค์ล้มป่วยลง

 

ดังนั้น ทางราชสำนักจึงได้ไปเชื้อเชิญเอา “องเมียวจิ” (มีความหมายตรงตัวว่า นักพรตผู้ประกอบพิธีกรรมตามวิถีแห่งองเมียว ซึ่งก็คือเวทมนตร์โบราณแขนงหนึ่งของญี่ปุ่น ที่มีรากฐานมาจากวิชาโหราศาสตร์ และความเชื่อเกี่ยวกับหยินหยางในศาสนาเต๋าของจีน ซึ่งได้สมาทานตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาชินโต ของญี่ปุ่นในภายหลัง) ที่เก่งฉกาจที่สุดในยุคนั้นอย่างอาเบะ โนะ ยาสุนาริ มาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาเพศดังกล่าว

และคำตอบของยาสุนาริก็คือ องค์จักรพรรดินั้นป่วยไข้ก็เพราะทามาโมะ โนะ มาเอะ ที่พระองค์หลงใหลได้ปลื้มนั้น เป็นนางจิ้งจอกเก้าหางปลอมตัวมา โดยยาสุโนริได้ออกอุบายจนทำให้นางปีศาจโผล่หางออกมาในที่สุด

จากนั้นจึงเกิดมหกรรมไล่ล่านางปีศาจจิ้งจอกขึ้น โดยทางราชสำนักได้จัดเอาพลธนูที่ยิงได้แม่นยำที่สุด 2 นายคือ คาซึสะโนะสุเกะ กับ มิอุระโนะสุเกะ ออกตามไล่ล่า แต่ลูกศรธรรมดาไม่ระคายผิวของเจ้าปีศาจที่ชั่วร้าย แถมยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังระดับจิ้งจอกเก้าหางได้ ลูกศรของพวกเขาจึงต้องมีมนต์ของยาสุโนริคอยกำกับอยู่ โดยสุดท้ายพวกเขาก็สามารถโค่นปีศาจตนนี้ลงได้ที่ทุ่งนาสึ (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.โทชิงิ)

แต่ตายแล้วนางปีศาจจิ้งจอกก็ยังมีฤทธิ์ ความคับแค้นของมันได้ทำให้มันกลายร่างเป็น “หินใหญ่” สีดำก้อนหนึ่งอยู่ตรงที่ที่จบชีวิตลงนั่นเอง

แน่นอนว่า เจ้าหินก้อนที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นั้นก็คือ “หินเซ็ตโชเซกิ” นี่เอง และผมคงไม่ต้องเฉลยนะครับว่า ทำไมในโลกภาษาอังกฤษเขาจึงเรียกหินก้อนนี้กันว่า “Killing Stone”?

 

และในเมื่อเป็นหินที่เกิดมาจากปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง ตำนานจึงได้เล่าต่อไปว่า ความคลั่งแค้นของมันได้กลายเป็นไอพิษร้ายที่ระเหยออกมาจากก้อนหิน จนทำให้ไม่มีทั้งคน และสัตว์ชนิดไหน สามารถเข้าไปใกล้พื้นที่บริเวณนั้นได้ จึงกลายเป็นสถานที่ต้องห้ามไม่ให้ใครย่างกรายเข้าไปในที่สุด

อีกหลายร้อยปีต่อมา พระภิกษุในพุทธศาสนาที่ชื่อว่า “เก็นโน” ได้เดินทางผ่านยังทุ่งราบแห่งนี้ จึงได้พบวิญญาณหญิงสาวตนหนึ่ง ที่ออกมาเตือนท่านไม่ให้เข้าใกล้หินสังหารเซ็ตโชเซกิ โดยได้เล่าตำนานทั้งหมดให้กับพระภิกษุเก็นโนฟัง จากนั้นนางก็หายวับเข้าไปในเจ้าหินก้อนที่ว่านี้เอง

พระภิกษุเก็นโนจึงได้บันทึกเรื่องเล่าทั้งหมดที่วิญญาณหญิงสาวได้เล่าให้ฟังเอาไว้ จากนั้นท่านก็ได้ไปแสดงพระธรรมเทศนาให้กับหินสังหารก้อนนี้ฟังอย่างยาวเหยียด ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าความคลั่งแค้นที่ยังหลงเหลือของอยู่ของปีศาจจิ้งจอกเก้าหางจะยอมรับฟังแต่โดยดี

แต่ก็นั่นแหละครับ ในท้ายที่สุดตำนานทำนองนี้ย่อมให้พระ ให้เจ้า เป็นฝั่งที่ได้รับชัยชนะจากภูตผีปีศาจอยู่เสมอ พระภิกษุเก็นโนจึงได้ใช้ค้อนทุบลงไปบนหินใหญ่ก้อนนั้น นัยว่าเป็นการดับความคลั่งแค้น และทำลายอาถรรพ์ของปีศาจจิ้งจอกเก้าหางไป จากนั้นจึงได้นำเชือกมาพันรอบหินใหญ่เอาไว้

นับแต่นั้นเป็นต้นมา บริเวณพื้นที่ตั้งของหินสังหารเซ็ตโชเซกิ บนที่ราบนาสึ ก็ได้กลายเป็นที่จาริกแสวงบุญของบรรดานักบวชสารพัดศาสนา และนิกายในญี่ปุ่น และก็จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนักที่เมื่ออยู่ดีๆ หินก้อนนี้เกิดแตกออกเป็นสองส่วน เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมานี้ จึงมีการพูดถึงอาถรรพ์ของนางจิ้งจอกเก้าหาง

ตํานานเรื่องของของนางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดอยู่ในหนังสือเรื่อง “โอโทงิ โซชิ” ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมตำนานนิทานต่างๆ จำนวน 350 เรื่อง

เขียนขึ้นเป็นร้อยแก้ว โดยมีภาพเล่าเรื่องประกอบ ทั้งแบบที่เป็นเล่ม และที่เป็นม้วนหนังสือ

หนังสือโอโทงิ โซชิ ถูกเรียบเรียงขึ้นในยุคมุโรมาชิ (ระหว่าง พ.ศ.1935-2116) ร่วมสมัยกับช่วงต้นจนถึงกลางยุคกรุงศรีอยุธยาของประวัติศาสตร์ไทย แต่ได้เก็บความเรื่องราวตำนานที่เก่าแก่กว่านั้นเอาไว้ เช่น เรื่องของปีศาจจิ้งจอกนางนี้ เป็นต้น โดยเชื่อกันว่าเรื่องของปีศาจจิ้งจอกเก้าหางแต่ดั้งเดิมนั้น เก่าไปจนถึงช่วงปลายของยุคเฮอิอัน ซึ่งเก่าแก่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาราว 300 ปีเลยทีเดียว

และนั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องเดียวที่ข้อมูลเกี่ยวกับตำนานเรื่องนางปีศาจจิ้งจอกตนนี้ มีรายละเอียดแตกต่างไปจากตำนานที่มักจะเล่ากันอยู่ในปัจจุบัน เพราะเรื่องราวอีกหลายส่วนก็ถูกแต่งเสริมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตำนานเรื่องนี้เป็นที่นิยม จนมีการนำไปแสดงเป็นละครพื้นบ้าน รวมไปถึงละครหลวงในญี่ปุ่นมาโดยตลอด

แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ตำนานที่แพร่หลายที่สุดก็คือ เป็นเรื่องที่มีบันทึกอยู่ในหนังสือยุคหลังจากนั้นมาก แถมยังเป็นหนังสือที่ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกันของจีน คือในหนังสือ “ห้องสิน” ซึ่งเขียนขึ้นในช่วง พ.ศ.2100 กว่าๆ โดยเฉพาะเมื่อในเอกสารรุ่นหลังของญี่ปุ่นอย่างหนังสือ “ทามาโมะ โนะ โซชิ” ที่พิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ.2196 ได้ระบุไว้ด้วยว่าที่จริงแล้ว นางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ นั้นก็คือปีศาจตนเดียวกันกับที่ไปล่มราชวงศ์ซางในจีน ตามอย่างที่เล่าไว้ในหนังสือห้องสิน (แถมยังอ้างด้วยว่า นางจิ้งจอกเคยไปก่อเรื่องทำนองนี้ไว้ในอินเดียเอาไว้ก่อนแล้วด้วย)

และก็เป็นหนังสือทามาโมะ โนะ โซชิ เล่มหลังสุดนี่แหละครับ ที่เริ่มมีการเชื่อมโยงเรื่องของนางจิ้งจอกตนนี้เข้ากับหินสังหารเซ็ตโชเซกิ โดยอ้างว่า พระภิกษุเก็นโนนั้นได้ไปปราบเจ้าหินสังหารเอาในช่วงก่อนยุคมุโรมาชิที่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.1935 เพียงเล็กน้อย (เทียบได้กับช่วงก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา) เพราะว่าในหนังสือ โอโทงิ โซชิ นั้นเล่าว่า เมื่อนายฉมังธนูทั้งสองคนปราบนางจิ้งจอกสองหางได้แล้ว ก็นำซากศพกลับมาให้จักรพรรดิที่เกียวโต พร้อมกับนำไปทำเป็นของวิเศษต่างๆ เพียงเท่านั้น

ไม่ได้มีเรื่องหินอะไรที่ไหน

 

ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง The Evolution of a Legend : A Comparative of a Character of Tamamo no Mae ของเอียน สจ็วต เฟอร์กูสัน (Ian Stuart Ferguson) ที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2555 ได้เสนอว่า พัฒนาการของนางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ ในตำนานเรื่องดังกล่าว ที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยต่างๆ นั้น สัมพันธ์อยู่กับการขยายตัวของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น

โดยพระภิกษุรูปต่างๆ จะเอาเรื่องเล่าพื้นบ้าน ไปสอดแทรกธรรมะในศาสนาพุทธ แล้วยัดบทพูดเข้าใส่ปากนางจิ้งจอกว่า ไม่เห็นด้วยกับพระธรรมของพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะถูกปราบลงอย่างสิ้นซาก ด้วยพระธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา

ลักษณะอย่างนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการจับเอา “หินใหญ่” หลายๆ ก้อนในอุษาคเนย์ ให้กลายมาเป็นสถานที่ในศาสนาพุทธ เช่น พระธาตุอินทร์แขวน ในประเทศพม่า หรือพระธาตุผาเงา ที่เชียงแสน จ.เชียงราย ที่ศาสนาพุทธได้จับบวชเอาหินใหญ่ที่เฮี้ยนของศาสนาผี เข้ามาเป็นเจดีย์ในพุทธศาสนา ด้วยการผูกตำนานต่างๆ ขึ้นมา แล้วต่อยอดเจดีย์ลงไปบนก้อนหิน

เอาเข้าจริงแล้ว “หินใหญ่” ที่ถูกเรียกว่า “หินสังหาร” นั้น จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองของญี่ปุ่น ที่ถูกทำให้กลายมาเป็นที่กักขังดวงวิญญาณของนางจิ้งจอกในภายหลัง เพื่อที่จะปราบเอาความเฮี้ยนและศักดิ์สิทธิ์ในก้อนหิน ลงไปพร้อมๆ กับการผนึกดวงวิญญาณของนางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ