อาทิศังกราจารย์ : ดวงตะวันแห่งฟากฟ้าปรัชญา (จบ) | ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

อาทิศังกราจารย์ : ดวงตะวันแห่งฟากฟ้าปรัชญา (จบ)

 

ในเวลานั้นมีคุรุผู้มีชื่อเสียงนามว่า โควินทปาทะ ผู้เป็นศิษย์ของเคาฑปาทะ อาจารย์แห่งสำนักเวทานตะผู้ยิ่งใหญ่ อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำนรรมทา ศังกรน้อยเดินทางฝ่าอุปสรรคนานาไปพบคุรุของตน

คุรุชื่นชมในสติปัญญาอันเลิศ และมอบหมายให้ค้นคว้าเขียนอรรถาธิบาย “พรหมสูตร” ของท่านพาทารายณะผู้ล่วงลับ เพื่อฟื้นคืนปัญญาญาณของพระเวทที่กำลังเสื่อมถอย

คุรุได้มอบฉายาทางธรรม “ภควัตปาทะ” แก่ศังกรและมอบตำแหน่ง “ปรมหงส์” หรือสันยาสีในชั้นสูงสุดให้ กระนั้นผู้คนทั้งหลายก็ยังรู้จักท่านในชื่อ “ศังกราจารย์” (ศังกร + อาจารย์)

สี่ปีที่ใช้ชีวิตกับคุรุผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อสิ้นภารกิจที่คุรุมอบให้ ศังกราจารย์ออกเดินทางไปทั่วทุกแว่นแคว้น ในขณะเดียวกันก็ยังแต่งอรรถาธิบายอุปนิษัทสำคัญทั้งสิบเอ็ดเล่มและภควัทคีตา

นอกเหนืองานในฐานะนักปรัชญา ท่านยังสามารถประพันธ์กวีนิพนธ์ที่ไพเราะและบทสรรเสริญแด่เทพเจ้าต่างๆ เอาไว้เป็นจำนวนมาก

ในกาลต่อมาชาวอินเดียจึงถือเป็นขนบนิยมว่า ใครจะได้รับการยกย่องเป็นนักปรัชญา จำต้องเขียนอรรถถาธิบายทั้งพรหมสูตร อุปนิษัทและภควัทคีตา ตามรอยที่ศังกราจารย์ได้ทำเอาไว้

 

เวลานั้นสังคมอินเดียเต็มไปด้วยการปะทะทางความคิดระหว่างศาสนาและปรัชญาสำนักต่างๆ แม้ในศาสนาเดียวกันก็ยังมีการโต้เถียงระหว่างนิกาย ศังกราจารย์จึงต้องออกเดินทางเผยแผ่ความคิดของตนเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า จำจะต้องไปสู่เวทีการโต้วาทีอันเผ็ดร้อนพร้อมๆ กับการนิพนธ์งานทางปรัชญาต่ออย่างไม่หยุดยั้ง

งานทางปรัชญาของท่านตกทอดมาถึงสมัยของเราอย่างมากมาย ล้วนเป็นงานซึ่งหาที่ติมิได้ ทั้งตรรกะอันแม่นยำ การอ้างอิงเฉกเช่นเดียวกับงานวิชาการในปัจจุบัน และยังมีการสร้าง “ข้อโต้แย้ง” แก่ข้อเสนอในงานของตนเองเพื่อปิดช่องโหว่เท่าที่จะเป็นไปได้

หลักปรัชญาของศังกราจารย์กล่าวโดยสรุปคือ “พรหมันคือสิ่งจริงแท้หนึ่งเดียว โลกเป็นมายา ชีวาตมันมิได้แตกต่างจากพรหมัน” (พฺรหฺมสตฺยั ชคนฺมิถฺยา ชีโวพฺรหฺไมวนาประ) สำนักนี้ยืนยันว่าจักรวาลนี้มีเพียงความจริงหนึ่งเดียวเท่านั้น เรียกว่า “พรหมัน” อันเป็นสัจธรรมสูงสุด มิอาจเข้าใจได้ด้วยภาษาและความคิด พ้นจากคุณสมบัติทั้งปวง ภาวะนี้เรียกว่า “นิรคุณพรหมัน” ถ้าจะเทียบได้ก็คงเหมือนกับสภาวะอสังขตธรรมในพุทธศาสนา

ความจริงหนึ่งเดียวนี้ยังสามารถ “ปรากฏ” หรือ “ฉายแสดง” ออกมาเป็นพระเจ้า (อีศวร) ผู้มีคุณสมบัติต่างๆ (สคุณพรหมัน) และยังปรากฏออกมาเป็นโลกที่เรารับรู้ เสพเสวยและอาศัย

ทว่า ทั้งหมดนั้นมิได้มีอยู่จริง เป็นเพียง “มายา” หรือความลวงเท่านั้น เช่นเดียวกับขดเชือกที่คนสะดุ้งเห็นเป็นงู ความแตกต่างหลากหลายและสรรพสิ่งที่เราเห็นก็เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น

ศังกราจารย์ประกาศกร้าวตามอุปนิษัทว่า ตัวตนที่แท้ของเรากับสัจธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน มิได้แยกออกเป็นอาตมันกับปรมาตมันตามที่หลายสำนักสอน

สำนักของศังกราจารย์จึงมีนามว่า “อทฺไวตะ” หมายความว่า ไม่เป็นทวินิยม ไม่เป็นสอง เพราะเชื่อมั่นในความจริงหนึ่งเดียว

แม้จะเห็นว่าปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้เราบรรลุถึงความจริงสูงสุด กระนั้นท่านก็ให้ความสำคัญกับความภักดีต่อพระเจ้า การสละความยึดติดผูกพันต่อโลกียะ และการบำเพ็ญเพียร ในฐานะที่เป็นการปฏิบัติพื้นฐาน

 

ศังกราจารย์เดินทางไปทั่วอนุทวีปอินเดีย สถาปนามัฐหรืออารามไว้ทั้งสี่ทิศให้ศิษย์เอกทั้งสี่ปกครอง บางสำนักยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบันโดยไม่ขาดสาย

แม้ท่านอาจไม่ได้มีข้อเขียนโต้แย้งเรื่องระบบวรรณะมากนัก แต่มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในชีวิตขณะอยู่ที่เมืองกาศี ศังกราจารย์เผชิญหน้ากับอวรรณะหรือจัณฑาลคนหนึ่ง เมื่อศิษย์บอกให้จัณฑาลคนนั้นหลีกทาง “หลีกไป! หลีกไป!” จัณฑาลย้อนตอบด้วยปรัชญาลึกซึ้งว่า

“ท่านผู้เลิศในหมู่ทวิชาติกล่าวกับเราว่า จัณฑาลเอ๋ยจงหลีกไป หลีกไป แต่จะให้สิ่งใดหลีกไปเล่า ย้ายกายนี้อันสร้างด้วยอาหารไปสู่กายอันสร้างด้วยอาหาร? หรือจะย้ายจิตไปสู่จิตกระนั้นหรือ?”

ร่างกายมนุษย์ล้วนสร้างขึ้นจากอาหารไม่ว่าจะเป็นใครหรือวรรณะใด และจิตบริสุทธิ์เดิมแท้ (ไจตันยะหรืออาตมัน) ก็ปราศจากความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว ฉะนั้น สิ่งใดกันเล่าที่ต้องหลีกออกไป

ศังกราจารย์ตกตะลึงกับคำถามของจัณฑาลผู้นั้นและถึงกับก้มกราบแสดงความเคารพ

ท่านได้ประพันธ์กวีเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในชื่อ “มานิษาปัญจกัม” โดยมีส่วนหนึ่งกล่าวว่า

“ผู้ใดเข้าใจว่า “ข้าคือพรหมัน” สกลจักรวาลเป็นเพียงการสำแดงของพรหมันด้วยอำนาจมายา…ผู้ใดที่สติปัญญายึดมั่นในความจริงแท้อันเป็นสัตจิทานันทะนี้ไซร้ ผิว่าคนนั้นจะเป็นพราหมณ์หรือจัณฑาล ข้าย่อมยึดถือผู้นั้นเป็นคุรุ”

นี่คงแสดงให้เห็นว่า ศังกราจารย์ซึ่งแต่เดิมคงยึดมั่นในขนบเรื่องวรรณะเพราะเกิดเป็นพราหมณ์ ได้เปลี่ยนแปลงความคิดไปอย่างไรบ้าง

ดังนั้น ในสังฆะของศังกราจารย์ นักบวช (สันยาสี) จำจะต้องละวรรณะเดิมโดยถอดสายยัชโญปวีตทิ้ง ถือว่าตนเองพ้นไปจากระบบวรรณะ (ปรวรรณะ)

 

หลังเดินทางยาวนานหลายปี ท่านได้ข่าวจากบ้านเกิดว่ามารดาป่วยหนัก คำสัญญาของแม่ยังคงชัดเจนในความทรงจำ แม่ผู้แก่เฒ่ารอคอยลูกชายเพียงคนเดียวมาทำพิธีศพให้ หวังว่าจะได้ไปสู่สุคติตามความเชื่อ ศังกราจารย์รีบเดินทางกลับแคว้นเกราละทันที

แม่ลูกได้มาพบหน้ากันในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต แต่เวลาเหลือน้อยแล้ว

ยามแม่ใกล้สิ้นใจ ศังกราจารย์สวดโศลกจากภควัทคีตาให้ฟังแต่แม่ยังกระวนกระวาย ท่านจึงสวด “วิษณุสหัสสรนาม” หรือพระนามทั้งพันของพระวิษณุแทน แม่ซาบซึ้งในนามและคุณลักษณะต่างๆ ของพระเป็นเจ้า อารยัมพาสิ้นใจในอ้อมกอดลูกชายด้วยความสงบ

ครั้นถึงการพิธีศพ ศังกราจารย์ประสงค์จะจัดพิธีตามประเพณีในฐานะลูกชายตามที่สัญญาไว้กับแม่ ทว่า ญาติพี่น้องต่างไม่พอใจ เพราะสังคมในเวลานั้นถือว่าสันยาสีเมื่อออกบวชไปแล้วเป็นคนนอก ไม่สามารถจัดพิธีกรรมของฆราวาสได้อีกต่อไปแม้จะเป็นคนในครอบครัวของตนก็ตาม

ศังกราจารย์จึงต้องจัดพิธีศพแม่เพียงลำพัง ไร้ญาติมิตรมาช่วยเหลือ ท่านต้องไปหอบเอาเศษไม้เศษฟืนมากองไว้ เผาศพแม่ในลานบ้านเพราะไร้คนช่วยหามไปท่าน้ำ และได้ประพันธ์ถึงพิธีกรรมสุดท้ายของแม่ไว้บทหนึ่งในชื่อ “มาตฤปัญจกัม” ซึ่งผมขอยกมาบางส่วน ดังนี้

“ปากท่านบ่นพร่ำอยู่เสมอว่า ลูกจ๋า แก้วตาดวงใจ เจ้าชายน้อยของแม่ อายุยืนนะลูกนะ โอ้แม่จ๋า ลูกขอถวายธัญญหารนี้

ยามแม่ให้กำเนิดลูก แม่เจ็บปวดเหลือจะทนทาน กระนั้นก็มิเคยปริปากบ่นถึงความทรมานกาย แม้ยามนอนอยู่ไฟนานหลายเดือน ทั้งความทรมานยามตั้งท้อง ลูกคนนี้มิอาจจะชดใช้ได้เลย โอ้แม่จ๋า ลูกขอก้มกราบแม่

ในฝัน แม่เห็นลูกแต่งตัวด้วยชุดนักบวช แม่สะดุ้งตื่น ไปยังสำนักเรียนและร้องไห้ ครานั้นทั้งสำนักก็ร้องไห้ต่อหน้าแม่ แม่จ๋า ลูกขอก้มกราบเท้าของแม่…”

ความรักของแม่ลูกคู่นี้ก็เช่นเดียวกับมหาบุรุษอีกหลายคน เป็นทั้งความโศกเศร้าและความบันดาลใจ แต่ก็เป็นแง่มุมที่มักไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ทั้งๆ ที่ช่วยสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่อ่อนไหวของเขาผู้นั้น

 

ชีวิตของศังกราจารย์ก็เช่นเดียวกับนักบุญคนอื่น เต็มไปด้วยเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ และปาฏิหาริย์มากมาย ถึงขนาดถือกันว่าท่านเป็นพระศิวะอวตารลงมาเพื่อสอนสั่งปรัชญาลึกซึ้ง แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่ท่านทิ้งไว้ เราอาจกล่าวได้ว่า ศังกราจารย์ได้ปฏิรูปคำสอนของฮินดูจนกลายเป็นรากฐานสำคัญในปัจจุบัน

กระนั้นท่านมิได้มีแต่คนรัก ฝ่ายพุทธศาสนาบางส่วนโจมตีว่า ศังกราจารย์ปลอมแปลงคำสอนพุทธและทำสัทธรรมปฏิรูป ฝ่ายฮินดูเองก็มีบางพวกที่คิดว่า ศังกราจารย์นำเอาคำสอนของพุทธศาสนาเข้ามาปลอมปนกับฮินดูธรรม

ข้อวิจารณ์เหล่านี้จะจริงเท็จแค่ไหนเราคงต้องพิจารณาอย่างแยบคาย และก่อนจะตัดสิน เราคงต้องรู้จักศังกราจารย์และคำสอนให้มากขึ้นอีกหน่อยกระมัง

ศังกราจารย์สิ้นชีพที่เกทารนาถในเทือกเขาหิมาลัย

แม้ผ่านมานับพันปี แต่นามและเกียรติคุณของท่าน

ยังคงเปล่งประกายเสมอ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง