วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย | บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย

 

ท่ามกลางความปรีดาปราโมทย์ของกองเชียร์ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 กรณีวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่ายังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่

คำตอบของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้หลังจากถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 โดยความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเริ่มนับตั้งแต่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 อันเป็นเริ่มต้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และครบกำหนด 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2568 หากในกรณีที่ประชาชนยังคงสนับสนุนพรรคที่เสนอชื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรี

นัยยะของคำวินิจฉัย จึงบ่งบอกว่าจากนี้จนถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ เป็นเวลาราว 6 เดือน เรายังคงมีนายกรัฐมนตรีคนเดิมบริหารงานต่อไปโดยไม่น่าจะมีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น

ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับทาบทามให้เป็นรายชื่อของผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใด จะเป็นรายชื่อเดียวโดดๆ ของพรรค หรือเป็นหนึ่งในสามรายชื่อ หรืออาจไม่รับการทาบทามนั้นยังเป็นเรื่องในอนาคตที่ยากคาดเดา แต่หนทางกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นข้างหน้า ไม่น่าจะใสสดเหมือนเมื่อครั้งยังลงแข่งขันโดยมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 อย่างแน่นอน

ชัยชนะที่ประกอบเงื่อนไขให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อได้เพียง 2 ปี เสริมกับความร้อนในอุณหภูมิทางการเมืองในวันนี้ อาจเป็นสัญญาณถึงความพ่ายแพ้แบบหมดรูปในอนาคตหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

คำวินิจฉัย ที่เคลือบแคลงคือเชื้อไฟ

แม้เสียงข้างมาก 6 ใน 9 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นฝ่ายชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาอธิบายกลับเป็นสิ่งคลางใจประชาชนไม่ใช่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2557 นั้นเป็น “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ไม่ใช่ “สภาผู้แทนราษฎร” ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ

หรือการโต้แย้งเกี่ยวกับมาตรา 264 ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าเป็นเพียงความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน

ส่วนประเด็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยให้รัฐธรรมนูญมีผลย้อนหลังในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นเรื่องคนละตำแหน่งคนละเงื่อนไขกับการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งระบุเหตุผลว่าที่สิ่งอยู่ในบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะหากสำคัญคงต้องเขียนไปในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายรายมาตราที่เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว

แม้กติกาในสังคมจะถูกปลูกฝังว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดและผูกพันทุกองค์กร แต่คำวินิจฉัยที่ขัดกับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าของประชาชนว่า ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 บุคคลที่ใช้ชื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งครบถ้วน ไปไหนมาไหนใช้รถประจำตำแหน่งหรู มีบอดี้การ์ดคุ้มกันหนาแน่น นั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้นชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนถึงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี แล้วมาบอกว่า ไม่นับเวลาดังกล่าว

ถามใครก็ขัดกับความรู้สึก เอาตรรกะกฎหมายอะไรมายก ประชาชนก็ส่ายหัว

คำวินิจฉัยจึงเปรียบเหมือนเชื้อไฟ เป็นแรงเพลิงเติมให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในวันเลือกตั้งที่ยิ่งถล่มทลายในอนาคต

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

เส้นทางการเมืองในอนาคต
ของ พล.อ.ประยุทธ์

เงื่อนไขของคำวินิจฉัยที่ว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ทำให้เส้นทางทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเปลี่ยนไป

หนึ่ง ต้องมีสภาพที่เป็นสินค้าที่มีอายุจำกัด ใกล้หมดอายุ โดยหากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2566 กว่าจะเลือกตั้งใน 45 วัน กว่า กกต.จะประกาศผลอีก 60 วัน กว่าจะประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี กว่าคณะรัฐมนตรีจะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จะกินเวลาไปถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 ซึ่งหมายความว่า หากนับถึงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2568 จะเหลือเวลาเพียง 1 ปี 8 เดือนเท่านั้น

สอง พรรคการเมืองที่จะชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี อาจต้องคิดหนักว่า จะชูเพียงหนึ่งชื่อ หรือจะชูครบสามชื่อตามเงื่อนไขในมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ การชูหนึ่งชื่อ เป็นความเสียเปรียบในการหาเสียง เพราะพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะนำไปเป็นประเด็นที่ชี้ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือก จะเกิดความวุ่นวายต้องเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ในปี พ.ศ.2568 และในโอกาสนั้น สมาชิกวุฒิสภาไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว

สาม หากพรรคการเมืองเลือกเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหนึ่งในสามของผู้ถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประกาศว่าการเสนอชื่อดังกล่าวเป็นเพียงความต้องการได้เสียงสนับสนุนจากบุคคลที่เป็นแฟนคลับเท่านั้น แต่จะไม่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะไม่สามารถดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี อีกทั้งไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายและโอกาสพ่ายแพ้ในกรณีต้องเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ที่ไม่มีสมาชิกวุฒิสภามาช่วยแล้ว สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นเพียงไม้ประดับในการเลือกตั้งเท่านั้น

สี่ จึงเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจในชีวิตทางการเมืองของตนเอง ว่าจะอยู่จนครบวาระแล้วเพียงพอ ส่งไม้ต่อให้คนอื่นในซีกฝั่งของตนเองให้เหมาะสม หรือจะฝืนเดินหน้าต่อสู้แข่งขันในสนามการเลือกตั้งปี 2566 อีกต่อไป

ไม่มีหรอก คำว่านายกฯ อมตะ

ไม่มีหรอก คำว่านายกรัฐมนตรีตลอดกาล

ในเมื่อกติกาที่ร่างขึ้นมา ไม่ว่าจะเพื่อป้องกันใครคนอื่นที่เป็นนักการเมืองให้ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานเกินไปอันจะเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมือง แต่เมื่อกติกาดังกล่าววกกลับมาเกิดผลกับตนเอง ความสง่างามของผู้เป็นนายกรัฐมนตรีคือการโค้งรับกติกา และขอบคุณประชาชนที่ให้โอกาสบริหารประเทศมาจนครบกำหนดเวลาในเงื่อนไข

ไม่ใช่ใช้องคาพยพต่างๆ ที่ตนเองสร้างขึ้นมา บิดเบี้ยวการตีความในกติกาเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ต่อ มีลมหายใจไปได้อีกระยะหนึ่ง

วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ชัยชนะที่ได้มาจากสิ่งที่ขัดกับสายตาของประชาชน หนำซ้ำยังทำให้เกิดปัญหาการสั่นคลอนในความเชื่อถือขององค์กรต่างๆ ที่ควรเป็นเสาหลักของบ้านเมือง ย่อมนำไปสู่ผลทางลบที่ตามมาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชนะศึก แต่นำไปสู่การพ่ายแพ้สงคราม

จะโบราณไปไหมหากจะใช้เพลงอมตะของศิลปินแห่งชาติมาเป็นตอนจบของเรื่องราวนี้

“วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย แล้วจะโทษใคร โทษใครเล่าเธอ”