คุยกับตัวเต็งนายกฯ ชื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’ กลางกระแส ‘เพื่อไทยแลนด์สไลด์’

20 กันยายน 2565 ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ร่วมด้วยสื่อสายการเมืองในเครือมติชน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

หลังวาระ 16 ปี “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” เพิ่งผ่านพ้นไปหนึ่งวัน

และก่อนหน้าที่พรรคเพื่อไทยจะคว้าชัยชนะอย่างเด็ดขาดในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจล่าสุดของนิด้าโพลที่สอบถามว่าประชาชนจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็บ่งชี้ว่าแพทองธารมีคะแนนนิยมนำโด่งอยู่ที่ร้อย 21.60 ทิ้งห่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีคะแนนนิยมร้อยละ 10.56 และ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่มีคะแนนนิยมร้อยละ 10.12

นี่คือบทสนทนาบางส่วนที่ได้พูดคุยกับอุ๊งอิ๊ง ในห้วงเวลาที่กระแส “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” กำลังขึ้นสูง

: เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนจะถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า วันนี้พร้อมจะนำพรรคเพื่อไทยและถือเป็นแคนดิเดตนายกฯ เต็มตัวหรือยัง?

ยังไม่เป็น อันนี้คือยังไม่เป็น คือถ้าเป็น (พิธีกร) ทั้งสองท่านทราบแล้วค่ะ ไม่มีตกข่าวแน่นอน แต่คือยังไม่ได้เป็น ในพรรคยังไม่ได้เสนอชื่อขึ้นมา ถามว่ามีการคุยกันไหม? มีการคุยกัน แน่นอนค่ะ ไม่โกหก คือคุยกันแน่นอน ใครจะเป็นอะไรยังไง คุยกัน แต่มันยังไม่ได้เสนอชื่อออกมาอย่างเป็นทางการเลยน่ะค่ะ คือถ้าเสนอชื่อแล้ว แน่นอนทุกคนต้องทราบ

 

: ปัจจัยอะไรที่ทำให้พร้อมจะประกาศตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี?

พรรคค่ะ พรรคต้องพร้อมที่จะเลือกก่อน คนในพรรคต้องมาคุยกันก่อน ว่าเขาจะเลือกเราเป็นแล้วนะ โอเค วันนั้นแหละก็จะประกาศ ว่าเป็นเรานะ แล้วมีใคร (เป็นแคนดิเดต) บ้างนะ

แต่วันนี้มันยังไม่มี ให้อิ๊งแบบเดินเข้ามาบอก อ๋อ ฉันนี่แหละ (เป็นแคนดิเดต) แล้วคนอื่นก็แบบ ไม่มีใครตกลงเลยนะ (เหรอ?)

: แต่พร้อมใช่ไหม? ถ้าสมมุติพรุ่งนี้เขาประกาศให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ

คำนี้ อิ๊งกลับไปนั่งคิดกับตัวเอง อิ๊งโดนถามทุกสนามที่อิ๊งไป ว่าอิ๊งพร้อมหรือเปล่า? ถูกไหมคะ? อิ๊งก็คิดจริงๆ ว่าคำตอบของอิ๊งคืออะไรกันแน่? ถามตัวเองว่า เราบางทีทำอะไรไปสักพัก (แล้ว) ขาดสติ (ควร) คิดก่อนสิ

อิ๊งคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตอิ๊ง อิ๊งไม่เคยมีโอกาสได้พูดว่าพร้อมหรือไม่พร้อมเลย สุดท้ายอะไรมันมาถึง เราก็พร้อม เพราะเราตั้งใจ เรามีความตั้งใจ แต่อิ๊งไม่มีโอกาส (พูด) เลยว่าพร้อมไหม? ถ้าไม่พร้อมแล้วไงต่อ

ตอนนั้น ที่คุณพ่อโดนปฏิวัติปี 2549 พร้อมไหมอ่ะ? ตอบไงล่ะ? ไม่มีเวลาตอบ ไปหมดแล้ว นึกออกไหมคะ? คือมันก็เป็นอะไรอย่างนั้นที่มันเกิดขึ้น อิ๊งก็เลยคิดว่า อิ๊งก็ทำทุกวันให้มันดี ทำให้มันเต็มที่ แล้วอิ๊งคิดเลยค่ะว่าการที่จะเป็นนายกฯ ใครก็ตามหรือรัฐบาลชุดต่อไป งานหนักค่ะ อันนี้ขอบอกไว้เลยว่างานหนัก มีอีกเยอะแยะมากที่ต้องทำ ต้องแก้ไข

แล้วอิ๊งก็มั่นใจค่ะว่า ใครก็ตามที่จะเป็นนายกฯ ไม่สามารถทำงานเพียงหนึ่งคนได้ ยังไงก็ต้องการทีมที่ดีแน่นอน เพราะว่าเรื่องมันเยอะ หนึ่งคนทำได้นี่ต้องเป็นแบบมีซูเปอร์เพาเวอร์บางอย่าง

: มีนักการเมืองในดวงใจบ้างไหม? นอกจากคุณทักษิณ

จริงๆ แอบชอบนายกฯ นิวซีแลนด์ “จาซินดา อาร์เดิร์น” เพราะรู้สึกว่าเขาสตรอง (เข้มแข็ง) มากเลย คือรู้สึกว่าเขาเป็นผู้หญิงก็จริง ตอนนั้น (ดำรงตำแหน่งใหม่ๆ) เขาท้องด้วยใช่ไหมคะ? ตอนนี้เขาอายุ 42 แก่กว่าอิ๊งไม่เยอะ แต่อิ๊งรู้สึกว่าทำไมเขาดูสตรองจังเลย

เขาแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน แล้วไอเดียที่เขาออกมามันดูชัดเจน คือเห็นแล้วรู้สึกชอบ เพราะเราคงเป็นผู้หญิงน่ะค่ะ

แต่จริงๆ อิ๊งก็ชอบอย่างคุณอายิ่งลักษณ์เหมือนกันนะคะ แคแร็กเตอร์ของคุณอา อิ๊งเคยแซวเขาว่าคุณอาเป็นคนน่ารักอ่ะ ไปที่ไหนก็ดูยิ้มตลอด บางคนบอกอิ๊งหน้าเหวี่ยงบ้างอะไรบ้าง ก็ (รู้สึกว่า) ทำยังไงดี? เราก็รู้สึกว่าคุณอาเขาเป็นคนน่ารัก

 

: ให้สัญญาได้ไหมว่าถ้าได้เป็นผู้นำรัฐบาลในอนาคต จะไม่ไปจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายที่เคยทำรัฐประหารหรือฝ่ายเผด็จการ?

อันนั้นเป็นข้อยึดมั่นของเพื่อไทยอยู่แล้วค่ะ อันนั้นเราชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเราอยู่ฝั่งประชาธิปไตย อะไรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย มันไม่ใช่อุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย เราไม่เคยสนับสนุนเผด็จการอยู่แล้วค่ะ


: หลายฝ่ายคิดว่าคุณจะมาเติมความเป็นคนรุ่นใหม่ให้กับพรรคเพื่อไทย เช่น การขับเคลื่อนเรื่องประเด็นซอฟต์เพาเวอร์และความหลากหลายทางเพศ แต่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยคาดหวังเรื่องที่แหลมคมมากกว่านั้น เพื่อไทยจะตอบสนองพวกเขาอย่างไร?

ก่อนอื่นก่อนก็ต้องยอมรับความหลากหลายที่มันเกิดขึ้นในสังคม เราเป็นยุคนี้แล้วมัน 2022 เราไม่ได้อยู่ในโลกของอดีตแล้ว เรามาพูดถึงอนาคตแล้ว ว่าอนาคตจะไปยังไงต่อ

ความหลากหลายมีแน่นอน การที่ถ้าอีกหน่อยเราสามารถเลือกตั้งได้ มีประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ ร่วมตั้งแต่กากบาทเลือกตั้งนี่แหละ แล้วปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเราก็ต้องผ่านกระบวนการ นำไปแก้ไขในสภา

แน่นอนค่ะ เราต้องเอาความคิดของประชาชนมาเป็นหลักอยู่แล้ว ว่าความต้องการอะไรยังไง มันก็ต้องแก้ไขกันในสภา เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากสุด มันต้องเข้าระบบ อะไรที่มันไม่เข้าระบบ หรือจู่ๆ มันเล่นนอกกระดาน มันต้องไม่มี เพราะว่าการเล่นนอกกระดาน เราเห็นแล้วว่ามันเสียเวลาประเทศไปเยอะ เสียเวลาของประชาชนไปเยอะ

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างพอมันกลับเข้าระบบ กระบวนการการเลือกตั้ง การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ นั่นแหละคือถึงจุดค่ะ จุดที่ว่าปัญหาทุกอย่างจะถูก (นำ) ขึ้นมาถก แล้วก็แก้ไขกันไปตามเรื่องราว แล้วก็ต้องตามความสำคัญด้วย

นึกออกไหมคะ? อย่างเช่นตอนนี้ ปัญหาปากท้องคือปัญหาหลักของประเทศ ปัญหาใหญ่ทั้งหมดมันก็ค่อยๆ แก้กันไป เพราะปัญหามีเยอะ ตอนนี้ปัญหามีทุกมิติ ยาเสพติด สังคม เศรษฐกิจ มีทุกอย่าง

เราจะไม่สามารถ อ๋อ เพื่อไทยเป็นรัฐบาลปุ๊บ หนึ่งเดือนดีดนิ้ว มันไม่ใช่ค่ะ รัฐบาลต่อไปยากแน่นอน เพราะมันถูกแช่แข็งมานานมากแล้วประเทศน่ะ มันจะขึ้นมาปั๊บ ทุกอย่างถูกแก้ไขให้ทันใจมันไม่ได้

แต่มันต้องถูกเรียงลำดับความสำคัญ ว่าอะไรจะต้องถูกแก้ไขก่อนหลัง

: ต่อให้บางเรื่องที่อาจอ่อนไหวในความรู้สึกคน และดูแล้วต้องใช้เวทีที่ปลอดภัยในการพูดคุย รัฐบาลเพื่อไทยก็พร้อมจะดำเนินการพูดคุย แต่ต้องผ่านกลไกสภาเป็นหลักใช่ไหม?

ต้องผ่านกลไกลสภาเป็นหลักค่ะ หลายๆ อย่างเราเข้าใจนะคะ ว่าหลายเรื่องมันอ่อนไหว ต้องคุยต้องอะไร แต่ว่าถ้าเราไม่กำหนดกรอบไว้บ้าง มันก็จะยากต่อการที่จะแก้ปัญหา เพราะปัญหามันไม่ได้มีหนึ่งเรื่อง มันมีเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น มันก็ต้องเข้าในกรอบพอสมควร เพื่อที่จะจัดการกันก่อน

แล้วหลังจากนั้นมันมีอะไรเพิ่มเติม เมื่อเราเป็นประเทศที่แข็งแรงขึ้น เป็นประเทศที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเอาคนกลับมามีศักยภาพมากยิ่งขึ้นอีก แน่นอนค่ะ มันจะถูกแก้ไขกันต่อๆ ไป