ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ท่าอากาศยานต่างความคิด |
เผยแพร่ |
ท่าอากาศยานต่างความคิด
อนุสรณ์ ติปยานนท์
บางอย่างในความรักของเรา (28)
ไม่มีเสียงโทรศัพท์จากโจดี้หลังจากนั้น ผมเฝ้ารอเสียงโทรศัพท์ดังกล่าวในอาทิตย์แรก บางทีเธออาจโทร.หาผมจากสมุย พะงัน หรือเกาะเต่า บางทีเธออาจโทร.หาผมจากเชียงใหม่ ปายหรือแม่สอด
แต่เมื่อหนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ผมคิดว่าเธอคงกำลังวุ่นกับการเดินทาง อีกสองอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน เมื่อเธอจะจากประเทศนี้ไป เธอคงโทร.หาผมเพื่อกล่าวคำอำลา
แต่เมื่อหนึ่งเดือนผ่านไป ผมก็แน่ใจแล้วว่าเธอคงจากประเทศนี้ไปโดยไม่มีคำอำลาถึงผม
ผมใช้เวลาแห่งการเฝ้ารอหนึ่งเดือนนั้นด้วยการแปลนวนิยาย “Poland” ของมิชเชนเนอร์อย่างต่อเนื่อง งานการของผมคืบหน้าไปอย่างมากพร้อมกับการถดถอยของการเดินเข้ามหาวิทยาลัย
ผมไปมหาวิทยาลัยน้อยเต็มที และเมื่อไปที่นั่น ผมก็ตรงไปที่หอสมุดกลางแทนการไปยังคณะของตน ผมยืมพจนานุกรมมากกว่าหนังสือชนิดอื่น ไล่อ่านมันฆ่าเวลาจากตัวอักษร A ถึงตัวอักษร Z
คลังศัพท์ภาษาอังกฤษของผมขยายตัวในขณะที่ความสัมพันธ์ของผมต่อมนุษย์ผู้อื่นแทบจะหมดสิ้นไป
บุคคลเดียวที่ผมยังคงได้พบเขาอยู่เสมอคือบรรณาธิการ ผมโทร.หาเขาแทบทุกสัปดาห์ หากไม่มีต้นฉบับใหม่ไปนำเสนอ ผมก็มักเป็นเพื่อนร่วมดื่มกับเขา ร้านอาหารเล็กๆ แถวสยามสแควร์ หรือไม่ก็เป็นร้านอาหารบนถนนราชดำเนิน ทั้งสองร้านนั้นดูจะเป็นร้านอาหารที่เขาชื่นชอบและโปรดปราน
ที่ร้านอาหารเหล่านั้น เขาจะทักทายเพื่อนนักเขียน เพื่อนนักข่าว หรือบุคคลที่เขาเรียกว่า “ญาติน้ำหมึก”
ผมเพิ่งพบว่าวงการนักเขียน นักแปล สิ่งพิมพ์ในประเทศเรานั้นมีขนาดเล็กกว่าที่ผมคิด
เมื่อนักเขียนซีไรต์คนล่าสุดตรงเข้ามานั่งที่โต๊ะของเราในร้านอาหาร “ท้องฟ้าสูง” ในวันหนึ่ง เขาเล่าเรื่องราวของชีวิตเด็กริมคลอง แก่นของนวนิยายที่ได้รางวัลของเขาที่ไม่มีนักวิจารณ์คนใดกล่าวถึง ผมนั่งฟังฉากที่เขาประกอบสร้างขึ้นจากชีวิตในชนบท การตัดสินผู้คนอย่างมักง่าย แนวคิดว่าด้วยการดำรงอยู่แบบเป็นเอกเทศ หรือ Existentialism ของตัวละครที่ไม่แคร์สายตาผู้ใดแม้ว่าจะถูกกล่าวหาว่ามีสัมพันธ์กับเมียที่ถูกทิ้งไว้ของพ่อตนเอง
ความสนุกสนาน ความเพลิดเพลินและองค์ความรู้ในวงเหล้าเหล่านั้นทำให้ผมมองเห็นความไม่สมจริงของชีวิตนักศึกษามากขึ้นทุกที เราสามารถสร้างสิ่งที่เป็นของเราเองได้นับแต่นาทีนี้แทนที่จะรอให้เวลาสี่ปีมันผ่านไปพร้อมกับความหวังและการถูกต้อนให้เดินทางไปในทางเดียวกัน
หากจะมีสิ่งที่เรียกว่า “สำนึกขบถ” ของวัยหนุ่มอยู่จริง ผมคิดว่า “สำนึกขบถ” ของผมได้ถือกำเนิดขึ้นจากวงเหล้าเหล่านี้เอง
หลังจากวันนั้น ผมแวะเข้าร้านหนังสือหน้ามหาวิทยาลัย ซื้อนวนิยายเล่มนั้นและใช้เวลาสามวันอ่านมันอย่างไม่ทำสิ่งใดอื่น ความรู้สึกหดหู่ หม่นหมองเกิดขึ้นกับผมเป็นระยะ
ชายภารโรงผู้ด้อยค่าถูกกระทำจากทุกคนแม้กระทั่งครูใหญ่ผู้เป็นเจ้านายของเขาเอง การถูกตัดสินจากชุมชนและผู้คนรอบข้างทำให้เขาไม่มีที่ยืนในสังคมเล็กๆ นั่น และในที่สุดเรื่องราวทั้งหมดก็จบลงที่โศกนาฏกรรม
ผมจบการอ่านหนังสือเล่มนั้นพร้อมกับความรู้สึกคิดถึงอาจารย์นพพรอีกครั้ง ผมอยากนั่งลงถกเถียงกับอาจารย์ถึงนวนิยายเรื่องนี้ ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์นพพรอ่านนวนิยายเรื่องนี้แล้วหรือยัง แต่ผมแน่ใจว่าหากผมเล่าเรื่องราวของนวนิยายให้อาจารย์ฟัง อาจารย์นพพรย่อมมีความเห็นที่น่าสนใจให้ผมอย่างแน่นอน
เช้าวันรุ่งขึ้น ผมเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสุภาพ ออกจากที่พัก นั่งเรือข้ามฟากไปยังมหาวิทยาลัย ผมรอลิฟต์ที่อาคารคณะศิลปศาสตร์เพื่อไปยังห้องพักของอาจารย์นพพร
มีนักศึกษาหญิงสองสามคนรอลิฟต์ถัดจากผม พวกเธอถือเรื่องสั้นว่าด้วยชีวิตรักของนักศึกษาไว้ในมือ ในขณะที่ผมถือนวนิยายว่าด้วยความรันทดของผู้คน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของพวกเธอบ่งบอกถึงโลกที่สดใส ในขณะที่ผมรู้สึกได้ถึงความเคร่งเครียดและทดท้อของตนเอง อะไรหนอที่เปลี่ยนวันเวลาระหว่างผมกับพวกเธอได้ถึงเพียงนี้
ลิฟต์โดยสารหยุดลงที่ชั้นแปด ผมเดินออกจากลิฟต์ตรงไปยังห้องพักของอาจารย์นพพร ประตูไม้สีเข้มและกล่องใส่งานและเอกสารของนักศึกษายังคงเป็นเช่นเดิม สิ่งที่แตกต่างไปมีเพียงว่ามีข้อความสั้นๆ ติดประกาศอยู่หน้าห้องพักนั้นว่าอาจารย์นพพรเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลาสามเดือนและจะกลับมาหลังจากนั้น ผมอ่านวันเวลาท้ายข้อความมันเพิ่งผ่านไปได้เพียงสองอาทิตย์
อีกกว่าสองเดือนที่อาจารย์จะกลับมา อีกกว่าสองเดือนที่ผมจะได้มีบทสนทนาอย่างที่ตั้งใจ
ผมเดินลงบันไดกลับมาที่ชั้นล่างของอาคารแทนการโดยสารลิฟต์ ผมไม่อยากปะปนหรือใกล้ชิดกับใครเลยหลังจากเห็นประกาศดังกล่าว เมื่อถึงชั้นล่างของอาคาร ผมมองหาพี่พจนาที่บริเวณลานโพธิ์แต่ก็ไม่พบ ดูเหมือนว่าทุกคนจะหายสาบสูญไปจากชีวิตผม มีแต่ความว่างเปล่าเวิ้งว้างเกิดขึ้นในใจผมในชั่วขณะนั้น
ผมคิดถึงการเดินไปหาปิ่นที่คณะของเธอ แต่ก็ยุติความคิดนั้นในฉับพลัน ไม่มีประโยชน์ที่จะหล่อเลี้ยงอารมณ์ถวิลหาแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว
ผมเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย ลอดผ่านทางเชื่อมระหว่างตึกโดมกับสนามฟุตบอล จ้องมองดูทัศนียภาพยามเช้าวันนั้นด้วยความรู้สึกอาลัยก่อนจะเดินตรงไปที่คณะของตนเอง เจ้าหน้าที่ธุรการเพิ่งจะเดินทางมาถึงที่ทำงาน พวกเขานั่งสนทนาถึงละครหลังข่าวด้วยความเพลิดเพลิน ดังนั้น เมื่อผมเอ่ยขอเอกสารจากพวกเขาจึงไม่ต่างจากผู้ทำลายความอภิรมย์ของบทสนทนาในเช้าวันนั้น
เจ้าหน้าที่หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งดึงแผ่นกระดาษออกจากลิ้นชักของโต๊ะกลางห้องก่อนจะตะโกนถามเพื่อนร่วมงานของเธอ “เอกสารแจ้งความประสงค์ลาออก นี่เราใช้แผ่นเดียวใช่ไหม ต้องมีอะไรเพิ่มหรือเปล่า?”
“ให้นักศึกษาแนบสำเนาบัตรนักศึกษาด้วยนะ” เจ้าหน้าที่อีกคนตอบก่อนที่จะหันมามองผม “สอบเข้าที่ใหม่ได้หรือเธอ?”
ผมสั่นศีรษะ “ไม่ครับ”
“อ้าว แล้วมาลาออกทำไม หรือว่าไม่สบาย ลาพักไปก่อนก็ได้ น่าเสียดาย นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยปิดที่ใครจะเข้าหรือออกได้ง่ายๆ นะ ใครๆ ก็อยากเรียนที่นี่ อยากเรียนคณะนี้กันทั้งนั้น เธอจะลาออกไปทำไม คิดดูดีๆ นะ”
“ผมเบื่อ” ผมตอบเจ้าหน้าที่ไปเพียงเท่านั้น และรู้สึกตนว่ามันเป็นคำตอบที่ไร้สาระที่สุด
“เบื่อ คนเรามันก็เบื่อกันเสมอ เบื่อวันนี้ พรุ่งนี้ก็หายเบื่อ ดูพี่สิ พี่เบื่อผัวพี่ทุกวัน แต่พอไม่เจอหน้านานๆ ก็คิดถึง”
ผมไม่มีคำตอบสำหรับความเห็นนี้ “ต้องใช้สำเนาบัตรนักศึกษาใช่ไหมครับ เดี๋ยวผมมา”
การได้โอกาสปลีกตัวจากบริเวณนั้นทำให้ผมหายใจสะดวกขึ้น ผมนึกถึง “ฟัก” ชายหนุ่มผู้ถูกตัดสินในนวนิยายเล่มนั้น ผมเองก็ไม่ต่างจากเขาในยามนี้ ถูกชุมชนตัดสินในการกระทำทั้งที่มันเป็นเรื่องเรียบง่าย ผมไม่เห็นอนาคตในการศึกษาของผมอีกต่อไป โลกข้างนอกให้อะไรกับผมมากกว่าที่คิด และผมไม่ควรพิรี้พิไรเสียเวลากับมัน
ผมรับเอกสารสำเนาจากร้านถ่ายเอกสารใต้ถุนคณะ จ่ายค่าถ่ายเอกสารและนำกลับมายื่นที่ห้องธุรการ ผมเขียนเหตุผลประกอบการลาออกว่าหมดสมรรถภาพที่จะศึกษาต่อ ซึ่งฟังดูเป็นเหตุผลที่ไร้สาระ แต่มันใกล้เคียงกับคำว่าเบื่ออย่างมาก
ผมลงนามท้ายเอกสารพร้อมกับลงลายมือชื่อกำกับสำเนาก่อนจะยื่นทุกอย่างให้เจ้าหน้าที่
ผมจากบริเวณนั้นมาก่อนที่แสงแดดยามสายจะทำงาน รู้สึกปลอดโปร่งใจอย่างบอกไม่ถูก ผมแวะซื้อกาแฟจากซุ้มขายกาแฟหน้าคณะ เดินจิบกาแฟในถ้วยไปตลอดทางจนถึงท่าเรือ ผมข้ามฟากกลับไปยังที่พัก บอกกับเจ้าของที่พักว่าผมจะขอย้ายออกจากห้องพักในวันนี้ เขามีสีหน้าตกใจ แม้ว่าผมจะไม่ใช่ผู้เช่าที่มีมิตรภาพนัก แต่ผมก็ไม่เคยก่อปัญหาใดๆ
เขาถามผมไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่ธุรการว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่สำหรับเขา ผมแจ้งเพียงว่าผมจะกลับไปอยู่บ้านเพราะผู้ปกครองป่วยกะทันหัน
เขาแสดงแววตาที่เข้าใจก่อนจะคำนวณเงินมัดจำที่เหลือมาให้ผม ผมรับเงินดังกล่าว หยิบลังกระดาษจากบริเวณกองขยะขึ้นไปใช้ใส่สิ่งของทั้งหมดที่ผมมี ผมเดินแบกลังกระดาษนั้นไปยังไปรษณีย์ที่โรงพยาบาลศิริราช จ่าหน้าถึงบ้านและมองลังกระดาษนั้นถูกยกเข้าไปในห้องส่งของ
หลังจากนั้น ผมไปที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย ใช้เงินมัดจำที่เหลือซื้อตั๋วรถไฟสายใต้ สถานีแห่งนี้มีรถเที่ยวต่อไปถึงหลังสวน ชุมพร เพียงแค่นั้นก็ไกลพอแล้วสำหรับการเดินทางวันนี้
เมื่อขึ้นไปบนรถไฟ ผมสำรวจสิ่งของที่นำติดตัวมา หนังสือนวนิยาย “Poland ” สมุดจดคำแปล เสื้อผ้าสองสามชุดและหนังสือเดินทางที่ผมทำไว้หลังจากการเจอโจดี้ ผมคิดถึงโจดี้ หากเธอมี “ปีว่าง” ผมก็มีเช่นกัน เพียงแต่จำนวนปีอาจยาวนานกว่าเธอ
รถไฟออกจากสถานี ผมโดยสารไปถึงสถานีหลังสวน ก่อนจะพักนอนที่เก้าอี้ไม้ที่สถานี หลังจากนั้นผมต่อขบวนรถไฟไปถึงหาดใหญ่
ผมนอนค้างที่หาดใหญ่หนึ่งคืน รถประจำทางเที่ยวไปกัวลาลัมเปอร์คือรถคันแรกที่ผมพึ่งพา ก่อนขึ้นรถ ผมโทรศัพท์ไปที่สำนักพิมพ์ แจ้งแก่เลขาฯ สำนักพิมพ์ว่าผมจะขอส่งต้นฉบับทางไปรษณีย์ รถประจำทางออกจากประเทศไทยทางด่านสะเดา ผมถึงกัวลาลัมเปอร์ในดึกของคืนถัดมา
และอีกสองวันผมก็ต่อรถไฟจากกัวลาลัมเปอร์ไปยังสิงคโปร์ ที่สิงคโปร์ผมได้งานทำในฐานะของคนงานก่อสร้าง ผมได้ที่พักแถว “เกลัง” ผมเขียนจดหมายหาที่บ้านจากที่นั่น เล่าเรื่องราวยืดยาวเกี่ยวกับชีวิตตนเอง
จดหมายตอบจากที่บ้านมีเพียงสั้นๆ ว่า “ผมไม่ควรกลับมา” มีจดหมายมาที่บ้านแจ้งให้ผมไปขึ้นศาลในคดีทำร้ายร่างกาย แต่เนื่องจากผมไม่ปรากฏตัว ผมจึงตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับแล้ว
นับแต่นี้ผมไม่ใช่เพียงอดีตนักศึกษา แต่ยังมีสถานภาพใหม่เป็นผู้ต้องหาที่กำลังหลบหนีคดีอีกด้วย •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022