‘บีซีจี’ แค่คุยหรือทำได้จริง? / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

‘บีซีจี’ แค่คุยหรือทำได้จริง?

 

อีกแค่เดือนครึ่ง ไทยจะโชว์ความเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 19 ปี รัฐบาลประกาศให้วันที่ 16-18 พฤศจิกายน เป็นวันหยุดพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเดินทางไปไหนมาไหนได้คล่อง ไม่ต้องเจอรถติดควันพิษเหมือนที่คนกรุงเทพฯ เผชิญอยู่ทุกวัน

ประเด็นหลักที่ไทยจะนำไปเสนอในที่ประชุมเอเปคหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคราวนี้ เป็นเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน หรือโมเดล “บีซีจี” (Bio-Circular-Green Economy)

หลักการนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรง ประเทศต่างๆ พากันล็อกดาวน์ โรงงานปิด เศรษฐกิจทรุดตัว ผู้คนว่างงาน เมื่อความรุนแรงของโควิด-19 บางเบาลง ทุกประเทศเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็วด้วยมาตรการต่างๆ ในบางมาตรการนั้นไม่ได้มองผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน

เป้าหมายของบีซีจี มีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง

1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกทำให้สภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวนเกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเสียหายหายไม่น้อยกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีอาเซียน

2. ปรับทิศทางการค้าการลงทุนที่ยั่งยืน

3. การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

4. การลดและบริหารจัดการของเสีย นำของเหลือใช้กลับมาใช้ซ้ำหรือกลับมาผลิตใช้ใหม่ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค ต้องการชูโมเดล “บีซีจี” ต่อที่ประชุม เพราะเชื่อว่าจะช่วยตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้ตรงประเด็น ทั้งการเติบโตอย่างยั่งยืน ความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม ของสมาชิกกลุ่มเอเปคในระยะยาว

 

เป้าหมายของ “บีซีจี” นั้นดูดี แต่ประเด็นที่สมาชิกเอเปคต้องถกเถียงกันต่อ นั่นคือทำอย่างไรจึงบรรลุความสำเร็จได้จริงโดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพ

ในประเด็นการบริหารจัดการของเสียและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของบ้านเรานั้น ต้องยอมรับว่ามีปัญหามานานแล้ว การลักลอบทิ้งกากของเสียขยะพิษหรือขยะอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อต้นเดือนนี้มีข่าวการลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมแถวๆ บ้านหนองสาธิต ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านได้กลิ่นเหม็นฟุ้งกระจาย เมื่อตรวจสอบพบร่องรอยการฝังกลบสิ่งปฏิกูล กากของเสีย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำปนเปื้อนมีสีดำคล้ายน้ำมัน

ปลายเดือนกันยายน เกิดเหตุในพื้นที่เขาตะแบก ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ชาวบ้านขอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพบเป็นเศษซากลักษณะเป็นของแข็งตะกอนสีดำ มีตะกั่วเจือปน ทิ้งกระจัดกระจายหลายกอง ยังพบแหล่งน้ำใกล้ๆ กับกองขยะมีสีดำคล้ำ ชาวบ้านเป็นห่วงจะเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับชุมชนโดยรอบ

ข่าวการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมสะท้อนให้เห็นว่า เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ให้ความสำคัญการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

การตัดสินใจให้คนงานขนขยะไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะ แสดงถึงความเห็นแก่ตัว ผลักภาระความรับผิดชอบให้พ้นตัว โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบกับสาธารณะ

 

สาเหตุหลักของการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม มีการศึกษาพบว่ามาจากการส่งขยะไปกำจัดอย่างถูกต้องตามวิธีการในโรงงานกำจัดของเสีย ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากไม่คุ้มทุน มีการประเมินราคาขยะอันตราย 1 ตัน จะเสียค่ากำจัดตั้งแต่ 4,000-5,000 บาท ไปถึงตันละ 150,000 บาท

เมื่อราคาค่ากำจัดในระบบแพงจึงมีกระบวนการลักลอบทิ้งขยะผิดกฎหมาย เกิดบริษัทขนขยะเถื่อนรับขยะจากโรงงานแล้วนำไปทิ้งตามที่รกร้างกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษตามมา

การจัดการกับขยะอุตสาหกรรมในแง่มุมทางกฎหมายพบว่ามีครบถ้วนทั้งในด้านการควบคุม วิธีการกำจัด แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงการบังคับใช้กฎหมายกลับมีปัญหา เนื่องจากมีบทลงโทษต่ำ กฎหมายอนุญาตให้เปรียบเทียบโทษสูงสุดคือ 2 แสนบาท และมีอายุความ 1 ปี

ถ้าหากเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วคนทิ้งขยะยอมรับข้อกล่าวหา ส่วนใหญ่จะปรับเพียงหลักหมื่น ไม่ค่อยมีการปรับถึง 2 แสนบาท ปรับแค่นี้โรงงานจ่ายสบาย

 

ทราบมาว่าปีนี้กรมโรงงานอตุสาหกรรมมีแผนบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลบีซีจี จะยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด เพิ่มโทษจำคุกผู้ลักลอบทิ้งกากของเสียและแอบลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ จากเดิมบทลงโทษเฉพาะโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จะเพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังมีแผนการป้องกันการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมอีกหลายด้าน เช่น เอาเทคโนโลยีด้านจีพีเอสมาใช้ติดตั้งกับรถขนส่งของเสียอันตราย บันทึกข้อมูลการขนส่งกับระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร หรือการแจ้งขออนุญาตขนส่งกากของเสียผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ยังลดขั้นตอนระบบขออนุญาตและแจ้งการนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงาน ยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต กากของเสียที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เพิ่ม 37 รายการ รวมเป็น 64 รายการ กากของเสียจำพวกน้ำมันใช้แล้ว 22 รายการ ใช้เวลาพิจารณาอนุญาตไม่เกิน 1 วัน

กากของเสียที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน และที่เป็นของเสียอันตรายใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน ทำให้ลดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานจากเดิม 21 วัน

เป้าหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะผลักดันอุตสาหกรรม “เขียว” หรือ Green Industry โรงงานต้องเข้าระบบ 60% จาก 65,000 โรงงาน ในการขับเคลื่อนพื้นที่เป้าหมายสู่การเป็น “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม” ครบทั้ง 5 มิติ คือ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ทั่วประเทศ 39 จังหวัด 53 พื้นที่ เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงงานอย่างยั่งยืนตามแผนงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระยะ 20 ปี

กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีแผนบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ร่วมกับจังหวัดเป้าหมาย เพื่อยกระดับพื้นที่สู่ระดับที่ 5 เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม 18 พื้นที่ ภายในปี 2570 และครบทั้งหมด 53 พื้นที่ ด้วยหวังว่าในปี 2580 “เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ให้ประชาชนและพนักงานโรงงานในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตรวมไปถึงสุขภาพที่ดี สอดคล้องไปกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเมืองและประเทศ

ถ้ากรมโรงงานอุตสาหกรรมทำได้จริงอย่างที่วาดหวังไว้ โมเดล “บีซีจี” ของไทยจะดังกระหึ่มโลกเป็นแน่ •