ที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ราคาพุ่ง | ก่อสร้างและที่ดิน

ภาพประกอบ : www.colliers.com

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

ที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ราคาพุ่ง

 

ช่วงนี้ข่าวธุรกิจเศรษฐกิจระดับประเทศ ระดับโลกท่วมไปด้วยปัจจัยลบทุกวัน

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาอีก 0.75% ซึ่งเป็นอัตราที่ถือว่าสูงมากในประวัติศาสตร์การเงินสหรัฐ และขึ้นอัตรานี้มาแล้ว 3 ครั้งต่อติดกัน

ไม่เพียงแค่นั้น ประธานธนาคารกลางสหรัฐยังย้ำว่า จะเดินหน้าขึ้นต่อไปอีก จนกว่าเงินเฟ้อจะลดลง ผลตามมา ตลาดหุ้นก็ร่วงลงทั้งโลกอย่างพร้อมเพรียง

ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทของไทยก็อ่อนตัวลงไปเป็นประวัติการณ์จาก 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 37 บาท ทำให้หลายส่วนเกิดความวิตกกังวล หรือบางคนอาจเลยคิดไปถึงค่าเงินบาทเมื่อวิกฤติปี 2540 ไปโน่น

แต่ภาษิตจีนที่ว่า ในวิกฤตมีโอกาส ยังเป็นความจริงอยู่เสมอ

 

คนที่มีธุรกิจเดินทางติดต่อกับสิงคโปร์หลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า ราคาที่อยู่อาศัยในเกาะสิงคโปร์เพิ่มขึ้นสูงประมาณ 50% จากราคาเดิม

เหตุมีความต้องการซื้อมากขึ้น จากคนฮ่องกงที่มีฐานะการเงินย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ที่สิงคโปร์ เพราะเชื่อว่าอนาคตของฮ่องกงคงไม่รุ่งเรืองเหมือนอดีตที่ผ่านมาอีกแล้ว

ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินฮ่องกงถูกเบียดจากเซี่ยงไฮ้ ความเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมสินค้าหลายอย่างทุกวันนี้ก็เทียบไม่ได้กับเซินเจิ้น และที่สำคัญทุกวันนี้ฮ่องกงมีสภาพคล้ายเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีความแตกต่างโดดเด่นเหมือนที่ผ่านมา

คนที่คิดมาตั้งถิ่นฐานที่สิงคโปร์นอกจากคนฮ่องกงดังกล่าวแล้ว ยังมีคนจีนจากแผ่นดินใหญ่รวมอยู่ด้วย

ส่วนหนึ่งเป็นชาวจีนที่ประสบความสำเร็จร่ำรวย ต้องการมีทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยนอกประเทศจีนไว้

อีกส่วนหนึ่งก็เป็นนักธุรกิจจีนที่เตรียมรับมือกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จึงต้องมาสร้าง เปิดสาขาหรือตั้งบริษัทนอกประเทศจีนไว้ที่สิงคโปร์

ในความผันผวนแต่ละระลอกส่งผลเสียหายกับบางสิ่ง แต่ก็เกิดผลดีแก่บางอย่างด้วยเช่นเดียวกัน ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับอสังหาฯ สิงคโปร์ในเวลานี้ โดยสิงคโปร์สามารถปรับตัวรับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงระลอกเล็กๆ ให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของตัวเองได้

 

ขณะที่ประเทศไทยเรา กำลังจะถกเถียงกันว่า การให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยได้ จะเป็นการ “ขายชาติหรือไม่”

ขณะที่การค้าผลไม้สำคัญที่ “คุม” ตลาดโดย “ล้งจีน” ด้วยวิธีดั๊มพ์ราคาจนล้งท้องถิ่นเจ๊ง แล้วจึงควบคุมตลาดภายหลัง กรณีแบบนี้ไม่ถูกนำมาพิจารณาเป็นปัญหาระดับชาติ

หรือกรณีการควบคุมรวมกิจการค้าปลีก จนทำให้กลุ่มเดียวมีมาร์เก็ตแชร์เหนือตลาด การควบรวมกิจของธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งทำให้นำไปสู่แนวโน้มมีอำนาจต่อรองเหนือตลาดเช่นกัน กลับไม่ได้รับการใส่ใจ

สนใจเต้นตามเรื่องดราม่า เพิกเฉยกับเรื่องปัจจัยพื้นฐาน •