ภาพยนตร์/BLADE RUNNER 2049 “สามสิบปีให้หลัง”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

BLADE RUNNER 2049 “สามสิบปีให้หลัง”

กำกับการแสดง Denis Villeneuve

นำแสดง Ryan Gosling, Ana de Armas, Robin Wright, Jared Leto, Harrison Ford, Sylvia Hoeks

Blade Runner ของ ริดลีย์ สก็อตต์ ที่ออกฉายใน ค.ศ.1982 สร้างความแปลกใหม่น่าประทับใจให้แก่หนังไซไฟโลกอนาคต ถึงขั้นที่ขึ้นหิ้งกลายเป็นหนังคลาสสิคในใจแฟนพันธุ์แท้ของหนังประเภทนี้ไปเลย

หนังวาดภาพของโลกอนาคตอันชวนหดหู่ในปี 2019 “สติปัญญาเทียม” เป็นงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อให้รับใช้เยี่ยงทาส หุ่นยนต์ที่มนุษย์สร้างเลียนแบบตัวเอง มีหน้าตาไปจนถึงสติปัญญาเหมือนมนุษย์ทุกประการ ถูกส่งไปทำงานเสี่ยงภัยที่ไม่มนุษย์ไม่อยากทำเอง โดยเฉพาะการสร้างอาณานิคมนอกโลก

หุ่นยนต์พวกนี้เรียกว่า “มนุษย์จำลอง” หรือ Replicant

เมื่อหุ่นยนต์เริ่มมีความคิดความอ่านเหมือนมนุษย์ขึ้น บางตัวก็มองเห็นว่าเจ้านายมนุษย์ปฏิบัติต่อหุ่นยนต์เยี่ยงทาส จึงเกิดการต่อต้านขัดขืนอยู่เนืองๆ

พวกตัวจำลองที่ขัดขืนจึงถูกตามล่าตัว เพื่อให้ “เกษียณ” หรือยุติการทำงานไปเสีย

คำว่า “เกษียณ” เป็นคำสวยหรูที่ใช้เรียกการกระทำตรงตามตัวอักษรว่า “สำเร็จโทษ” หรือกำจัดทิ้งเสีย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ทำหน้าที่ยุติการทำงานด้วยการไล่ล่าตัวอย่างไม่ลดละ เป็นตำรวจสังกัดกรมตำรวจ และมีตำแหน่งเป็น “เบลดรันเนอร์”

แฮร์ริสัน ฟอร์ด เป็นเบลดรันเนอร์ในตอนนั้น และพบรักกับ “เรเชล” หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างมาด้วยเทคโนโลยีล้ำเลิศเพื่อรับใช้มนุษย์ ถึงขนาดที่เธอนึกว่าตัวเองเป็นคนมีเลือดเนื้อ จิตใจและดวงวิญญาณของมนุษย์มาตลอด

ในตอนจบของหนังปี 1982 เบลดรันเนอร์ชื่อเดกเคอร์ (แฮร์ริสัน ฟอร์ด) จัดการกับคู่อาฆาตสำเร็จ ก่อนที่จะหลบหนีไปกับเรเชล

สามสิบปีให้หลังในโลกสมมติตามท้องเรื่อง และสามสิบห้าปีให้หลังในโลกจริงของเรา เดนิส วิลล์เนิฟ (Arrival, Sicario) ผู้กำกับฯ ฝีมือดีก็เล่าเรื่องภาคสอง กลายเป็น Blade Runner 2049 ซึ่งยังเป็นโลกอนาคตสำหรับคนรุ่นเราอยู่ดี

กลางศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด โลกยิ่งไม่น่าอยู่ขึ้นไปอีก ประชากรล้นโลกและระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้นไม้ใบหญ้ามีอยู่แต่ในอดีตกาลเท่านั้น ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และความอดอยากไปทั่ว

บริษัทภายใต้การนำของผู้บริหารตาบอดที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ชื่อ นีแอนเดอร์ วอลเลซ (จาเร็ด เลโต) พัฒนาระบบการทำไร่แบบสังเคราะห์ขึ้น จนเป็นแหล่งอาหารของประชากรโลก อันทำให้เขาร่ำรวยล้นฟ้า และซื้อกิจการของบริษัทผลิตหุ่นยนต์ที่ล้มละลายไปแล้ว (คือบริษัทไทเรลล์ในหนังภาคแรก) มาดำเนินการต่อ

ความหวังของวอลเลซคือพัฒนามนุษย์จำลองต่อไปให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

ซึ่งสามารถเปิดประเด็นไปสู่ความขัดแย้งเรื่องจริยธรรม และการที่มนุษย์ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทนพระเจ้าในฐานะ “ผู้สร้าง”

และปาฏิหาริย์ของการสร้างและสิ่งที่ถูกสร้าง…

กลับมาสู่พล็อตเรื่องของเรา เบลดรันเนอร์คนใหม่ที่มีชื่อเป็นอักษรย่อว่า “เค” (ไรอัน กอสลิง) ในสังกัดของกรมตำรวจลอสแองเจลิส กำลังไล่ล่ามนุษย์จำลองที่หลบหนีการจับกุมมาร่วมสามสิบปี จัดการยุติการทำงานของเขาได้สำเร็จ แต่ก็บังเอิญไปสะดุดตากับสิ่งที่ฝังอยู่ที่โคนของซากต้นไม้ที่ยังเหลือยืนต้นอยู่

หีบนี้จะนำไปสู่ความลับดำมืด ซึ่งมีคนบอกว่าจะเป็นภัยอันใหญ่หลวงที่คุกคามมนุษยชาติ หากความลับนี้เปิดเผยขึ้น

ขอขยักเรื่องราวไว้เพียงนี้ เพื่อไม่ให้เป็นสปอยเลอร์จนเกินไปนัก

หนึ่งในความน่าสนใจของหนังนิยายไซไฟพวกนี้สำหรับคนทั่วไป คือจินตนาการสร้างสรรค์ที่มีต่อโลกสมมติที่ยังมาไม่ถึง ดังนั้น การออกแบบโปรดักชั่นที่สร้างภาพได้ตรึงตราจึงมีส่วนสำคัญยิ่ง

นี่เป็นโลกที่ไม่มีใครอยากไปถึง แบบที่เรียกว่า “ดิสโทเปีย” ซึ่งเกือบจะตรงข้ามกับ “ยูโทเปีย” หรือโลกอันสมบูรณ์แบบในฝัน ดิสโทเปียเป็นดินแดนที่ชวนหดหู่และไม่น่าปรารถนา

ทิวทัศน์ในเมืองอันแน่นขนัด ถูกหลอกหลอนด้วย “ผี” ของป้ายโฆษณาที่ขยายมิติมากขึ้นด้วยภาพโฮโลแกรม ที่เราสามารถเดินทะลุผ่านได้ และใหญ่โตเป็นยักษ์ปักหลั่น

ชีวิตอันเหงาหงอยชวนหดหู่ใจหลังเลิกงานของ “เค” คือการกลับเข้าอพาร์ตเมนต์ซอมซ่อ และกดปุ่มเปิดเครื่องปลดปล่อยเพื่อนคู่ใจในชีวิต ชื่อ จอย (อานา เดอ อาร์มาส) ออกมาเป็นภาพโฮโลแกรม ที่ร่วมปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตกับเขาได้แทบทุกอย่าง ทำอาหารที่อยากกิน ร่วมโต๊ะอาหารและพูดคุยสนทนาได้ในทุกเรื่อง เสียแต่ไม่มีตัวตนและเลือดเนื้อจริงๆ

ประเด็นที่น่าเศร้าอีกอย่างคือ จอยซึ่งเคถือเป็นเพื่อนคู่ใจของเขานั้น ปรากฏร่างอยู่ทั่วทั้งเมืองในรูปโฆษณาโฮโลแกรม ซึ่งใครก็สามารถหาซื้อมาครอบครองได้

สิ่งที่เราเรียกกันว่า “วิญญาณ” นั้นอยู่ในส่วนไหนของตัวเรา

เคสามารถฆ่ามนุษย์จำลองได้ในแบบที่แทบไม่ต้องกะพริบตา แต่เขาบอกว่ายังไม่เคยฆ่าคนจริงๆ เนื่องจากมนุษย์ที่เกิดจากท้องแม่นั้นมี “วิญญาณ” อยู่ด้วย

นี่เป็นหนังที่แพรวพราวด้วยแก่นเรื่องและเนื้อหาเชิงปรัชญาและกระตุ้นความคิด นั่นหมายความว่าหนังยังคงติดค้างในใจคนดูหลังจากลุกจากที่นั่งออกจากโรงมาแล้ว และเนื้อหานั้นก็เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบชัดเจนบริบูรณ์ แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเคยพยายามหาคำตอบมาแล้วทั้งนั้นในชีวิต

แฮร์ริสัน ฟอร์ด กลับมารับบทเดิมเมื่อสามสิบปีให้หลัง เติมเรื่องราวที่ค้างคาไว้ในใจคนดูเมื่อสามสิบห้าปีก่อนให้บริบูรณ์มากขึ้น

จาเร็ด เลโต (ออสการ์จาก Dallas Buyers Club) ที่มารับบท “ผู้สร้าง” คนใหม่ มาในภาพลักษณ์ของตัวละครที่ชวนคิดและน่าจดจำ—คนตาบอดที่มีสายตายาวไกลเกินมนุษย์อื่นๆ ผู้ที่อยากก้าวขึ้นสู่สถานะเทียมเทียบกับพระเจ้าในการสร้างสรรค์ชีวิต

อีกคนที่ผู้เขียนชอบมากในเรื่องคือ ซิลเวีย โฮกส์ ในบท “เลิฟ” เป็นตัวร้ายที่เราอ่านไม่ออกมาตลอด จนถึงตอนท้ายๆ ที่ร้ายกาจเหลือเกิน

สำหรับแฟนพันธุ์แท้ที่ยังห่วงใยต่อความเป็นไปของ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ในบท ริก เด็กคาร์ด จะหาคำตอบอย่างลงตัวได้จากภาคสองนี้

ไม่รู้ว่าจะมีภาคสามตามมาในอีกสามสิบห้าปีข้างหน้าหรือเปล่า