สุจิตต์ วงษ์เทศ/พระเมรุมาศ จำลองเขาพระสุเมรุ ที่สถิตเทพยดา

สุจิตต์ วงษ์เทศ www.sujitwongthes.com

พระเมรุมาศ จำลองเขาพระสุเมรุ ที่สถิตเทพยดา

“พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง” หมายถึง ภูเขาสูงระหงชื่อพระสุเมรุเป็นแกนของโลก (ที่เชื่อว่าโลกแบน) หรือเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

[ข้อความนี้มาจากวรรคหนึ่งของกลอนไหว้ครูเสภา (วรรคที่ 2 ในจำนวน 4 วรรค) ที่คนเสภาจำได้ตรงกัน ส่วนวรรคอื่นๆ ไม่ตรงกัน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนิพนธ์บอกไว้ในตำนานเสภา เมื่อ พ.ศ.2460]

พระเมรุมาศ ที่สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ยุคอยุธยา จำลองเขาพระสุเมรุเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่สถิตเทพยดาตามความเชื่อจากอินเดีย

สวรรค์รอบเขาพระสุเมรุ

เขาพระสุเมรุ มีสวรรค์อยู่โดยรอบ มีคำอธิบายตามคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ ดังนี้

ทิศเหนือ เป็นที่ตั้งสวรรค์ของพระอินทร์

ทิศใต้ เป็นไวกูณฐ์ แดนสถิตของพระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) และเป็นไกลาส ที่สถิตของพระศิวะ (หรือพระอิศวร)

แล้วเชื่อกันว่าเหนือจอมเขาพระสุเมรุ คือ พรหมโลก เป็นที่สถิตของพระพรหม

ส่วนคัมภีร์ศาสนาพุทธ บอกว่าเหนือจอมเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่สถิตของพระอินทร์ ใต้ลงไปในมหาสมุทรสุดหยั่งลึกได้เป็นที่ตั้งอสูรพิภพ กึ่งกลางระหว่างเหนือกับใต้เป็นสวรรค์ชั้นอื่นๆ กับโลกมนุษย์

[สรุปจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พิมพ์ครั้งที่ 11/2 พ.ศ.2551 หน้า 324-325]

ปริมณฑลเขาพระสุเมรุ

เขาพระสุเมรุ ประกอบด้วยภูเขาและทะเล, ชมพูทวีป, ป่าหิมพานต์

จะสรุปจากหนังสือ จิตรกรรมภาพสัตว์หิมพานต์ พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม [พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารีมหาเถร ป.ธ.9 อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์) พ.ศ.2559 หน้า 63-91] ดังต่อไปนี้

ภูเขาและทะเล เขาพระสุเมรุ มีทิวเขาและทะเลสมุทรล้อมรอบสลับเป็นชั้นๆ ทิวเขา 7 ชั้น มีชื่อต่างๆ ได้แก่ ยุคนธร, อิสินธร, กรวิก, สุทัศน์, เนมินธร, วินันตก, อัศกรรณ รวมทั้งหมดเรียกว่า ภูเขาสัตบริภัณฑ์ ทะเลสมุทรล้อมรอบสลับภูเขา เรียก สีทันดร

ชมพูทวีป มหาสมุทรทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นที่ตั้งของทวีปหรือแผ่นดินเป็นเกาะใหญ่ (ทวีป แปลว่า เกาะ) ชื่อ ชมพูทวีป คือโลกที่มนุษย์อยู่อาศัย

หิมพานต์ แผ่นดินชมพูทวีป ประกอบด้วยน้ำ, ป่าและเขาหิมพานต์, สระอโนดาต, สระฉัททันต์

มีสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่น ราชสีห์, ช้างฉัททันต์, ปลาใหญ่, ครุฑ, นาค, กินรี, พระยาหงส์ เป็นต้น

เขาพระสุเมรุ จากสมุดภาพไตรภูมิ

(ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6 ปัจจุบันเก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)

แสดงลำดับแหล่งต่างๆ ตั้งแต่ต่ำสุด (หมายเลข 1) แล้วถัดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนี้

1 พิภพแห่งครุฑอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เบื้องล่างเป็นแม่น้ำต่างๆ มีความกว้าง ความลึกต่างๆ กัน

2 วิมานบนยอดเขาสัตบริภัณฑ์ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นประธาน ล้อมรอบด้วยเขาต่างๆ เช่น เขาอิสินธร เขากรวิก และเขาสุทัศน์

3 สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาที่ประทับของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ทิศ

4 พระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระราหู แสดงวิถีโคจรของพระอาทิตย์ใน 3 ฤดู

5 เขากำแพงจักรวาลมีดาวนพเคราะห์ต่างๆ รัศมีสีต่างๆ โดยมีขนาดต่างๆ กันด้วย

จิตรลดาวันอุทยานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเมืองของพระอินทร์อยู่เหนือจอมเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักวาล

ส่วนที่ถัดขึ้นไปจากภาพนี้จะเป็นสวรรค์ชั้นต่างๆ สูงขึ้นไปอีกตามลำดับ อาทิ สวรรค์ชั้นมายา สวรรค์ชั้นดุสิต และสวรรค์ชั้นนิมาน นรดี

(ธัชชัย ยอดพิชัย เขียนอธิบาย)