วงค์ ตาวัน : จบคดีเอกยุทธ-บทเรียนอคติการเมือง

หลังจากเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อกว่า 4 ปีก่อน สำหรับเหตุการณ์สังหาร นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจที่มีบทบาททางการเมืองในการต่อต้านทักษิณ โดยตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุได้พร้อมพยานหลักฐานแน่นหนา ระบุว่าเป็นการลงมือสังหารเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์สินและมีการบังคับรีดเอาเงินสดอีกกว่า 4 ล้านบาท

โดยผู้ต้องหาสามารถนำไปชี้จุดที่นำศพไปฝัง และขุดเจอได้อย่างชัดเจน รวมทั้งของกลางอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเงินสดกว่า 4 ล้านบาท ที่ฝากไว้กับพ่อแม่

“แต่มีความเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเอาปมประเด็นทางการเมืองเป็นที่ตั้ง พยายามจุดกระแสว่า ตำรวจจับผิดตัว คดีนี้ต้องมีชนวนเหตุมาจากการเมือง ไม่ใช่เรื่องปล้นทรัพย์!?”

หลังจากสร้างกระแสอย่างครึกโครมยกใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ มารองรับในประเด็นทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย

ในขณะที่รูปคดีของฝ่ายตำรวจ ซึ่งจับกุมคนขับรถส่วนตัวพร้อมเพื่อนที่ร่วมก่อเหตุ และพ่อแม่ที่นำเงินไปซุกซ่อน ทั้งหมดให้การรับสารภาพ พร้อมกับให้เบาะแสจนติดตามของกลางได้เกือบครบถ้วน โดยทรัพย์สินหลักคือเงินสดได้ครบพร้อม

จุดสำคัญคือ ฝ่ายที่เชื่อเรื่องการเมือง พยายามบอกว่าที่ถูกจับนั้นเป็นแพะ

“ทั้งที่ผู้ต้องหาทั้งหมด ไม่เคยมีใครโวยวายว่าตนเองถูกบีบบังคับให้เป็นผู้ต้องหา”

รับสารภาพทุกขั้นตอน ผ่านมา 4 ปีเศษ กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีก็ยืนกรานคำรับสารภาพตลอด ไม่เคยมีใครร้องเรียนแม้แต่แอะเดียว

“จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา คดีได้มาถึงที่สุดแล้วอย่างแท้จริง ในชั้นศาลฎีกา!”

ยังไม่รู้ว่าป่านนี้ คนที่อ้างว่าเป็นเหตุการเมือง ยังยืนยันว่าเป็นการเมืองอยู่หรือไม่

ถ้ายังมั่นใจ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า คงเผลอคิดไปไกลแล้วว่า จำเลยทั้ง 6 ที่ติดคุกกันถ้วนหน้านั้น คงรู้เรื่องการก่อเหตุน้อยกว่าพวกตนเองก็เป็นได้!?

จุดสิ้นสุดของคดีเอกยุทธ มาถึงในเช้าวันที่ 18 ตุลาคม เมื่อศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฆ่า นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสันติภาพ หรือบอล เพ็งด้วง อายุ 25 ปี, นายสุทธิพงศ์ หรือเบิ้ม พิมพิสาร อายุ 30 ปี, นายชวลิต หรือเชาว์ วุ่นชุม อายุ 25 ปี, นายทิวากร หรือทิว เกื้อทอง อายุ 20 ปี, จ.ส.อ.อิทธิพล เพ็งด้วง อายุ 53 ปี และ นางจิตอำไพ เพ็งด้วง อายุ 50 ปี บิดา-มารดาของนายสันติภาพ ทั้งหมดเป็นชาว จ.พัทลุง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-6

“โดยในชั้นฎีกานี้ มี จ.ส.อ.อิทธิพล จำเลยที่ 5 ยื่นฎีกาเพียงคนเดียว”

คำพิพากษาระบุว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ที่จำเลยที่ 5 ยื่นฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าจำเลยได้รับเงินของกลางจำนวน 4 ล้านบาทเศษ จากนางจิตอำไพ จำเลยที่ 6 ซึ่งได้รับต่อจากนายสันติภาพ จำเลยที่ 1 โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการทำผิดกฎหมาย มาแบ่งเป็น 2 ส่วน นำไปซุกซ่อนฝังดิน

จำเลยที่ 5 ในฐานะบิดารู้ว่าบุตรของตนกระทำผิดกฎหมายกลับไม่ห้ามปราม และยังช่วยซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ถือว่ามีส่วนให้เกิดอาชญากรรม เป็นเรื่องร้ายแรงต่อสังคม จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ยืนตามอุทธรณ์ จำคุก 1 ปี 4 เดือน

“คำพิพากษาของศาลฎีกานี้ ยังทำให้ได้ทราบว่า สำหรับจำเลยอื่นอีก 5 ราย ซึ่งไม่ยื่นฎีกาถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุด ให้บังคับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

เท่ากับเป็นบทสรุปอย่างถึงที่สุดของคดีนี้แล้ว

“โดยทุกอย่างเป็นไปตามรูปคดีเดิมที่ตำรวจจับกุมและสรุปสาเหตุ นำสำนวนเสนอต่ออัยการ”

ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ฆาตกรรมอันโด่งดังนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556

หลังจากตำรวจสืบสวนสอบสวนไม่นาน ก็พบร่องรอยของการก่อเหตุชัดเจน จนนำไปสู่การจับกุมนายสันติภาพหรือบอล ซึ่งเป็นคนขับรถประจำตัวของนายเอกยุทธ ขณะขับรถตู้กลับจากพัทลุง หลังจี้จับตัวนายเอกยุทธไปกักขังเพื่อรีดเอาทรัพย์สิน แล้วลงมือรัดคอจนตาย จากนั้นนำศพไปฝังที่ไร่รกร้าง พื้นที่บ้านเกิด ใน อ.เมืองพัทลุง

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย กำลังขับรถกลับเข้ากรุง ก็ถูกตำรวจดักจับได้กลางทาง

ก่อนจะยอมสารภาพว่า ได้ลงมือวางแผนทั้งหมด เพราะจากการขับรถใกล้ชิดทำให้ทราบดีว่า นายเอกยุทธทำธุรกิจจนมีเงินเข้าออกจำนวนมาก จึงได้ชักชวนนายสุทธิพงศ์หรือเบิ้มมาร่วมก่อเหตุ

พร้อมกับนำตำรวจไปชี้จุดฝังศพในไร่ร้าง โดยเพื่อนอีก 2 คนที่ร่วมฝังศพ ยอมรับสารภาพและนำไปชี้จุดด้วย จนพบร่างนายเอกยุทธถูกฝังอยู่จริง จากนั้นนายสันติภาพหรือบอลก็นำชี้จุดทิ้งของกลางและซ่อนเงิน จนนำมาสู่การจับกุมพ่อแม่เพิ่ม ในฐานะผู้ร่วมซุกซ่อนเงินของกลาง

“เมื่อสำนวนพร้อมของกลางและพยานหลักฐาน ที่ตำรวจนำเสนออัยการ ได้ผ่านการกลั่นกรองแล้ว ในวันที่ 4 กันยายน 2556 อัยการจึงนำจำเลยทั้ง 6 ขึ้นฟ้องศาล”

ระบุความผิดสรุปว่า ระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2556 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันมีอาวุธปืนพกออโต้เมติก ขนาด .380 พร้อมเครื่องกระสุนและอาวุธมีด แล้วปล้นเอาทรัพย์สินของ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร รวม 9 รายการ มูลค่า 6.6 ล้านบาท โดยใช้อาวุธทำร้าย และหน่วงเหนี่ยวกักขังบังคับให้นายเอกยุทธออกเช็คเบิกถอนเงิน แล้วใช้เชือกรัดคอจนนายเอกยุทธถึงแก่ความตาย

ก่อนนำศพไปไว้ในรถยนต์ตู้ทะเบียน ฮพ 9304 ขับไปฝังไว้ในไร่นาสวนผสมทิ้งร้าง อ.เมือง จ.พัทลุง เพื่อปกปิดความผิด โดยมีจำเลยที่ 3-4 ช่วยขุดหลุมฝังศพ ส่วนจำเลยที่ 5-6 ซึ่งเป็นบิดา-มารดาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บเงินสดของผู้ตาย จำนวน 4,242,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 นำไปฝากไว้

“ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ให้ประหารชีวิตนายสันติภาพ หรือบอล และนายสุทธิพงศ์ หรือเบิ้ม จำเลยที่ 1-2 แต่คำให้การชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์อยู่บ้างจึงลดโทษ เหลือจำคุกตลอดชีวิต และให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 ด้วยในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ คนละ 18 ปี และให้จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันชดใช้เงิน จำนวน 1.9 ล้านบาท ให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตด้วย”

ส่วนนายชวลิต หรือเชาว์ จำเลยที่ 3 ให้จำคุก 13 เดือน สำหรับนายทิวากรหรือทิว จำเลยที่ 4 ให้จำคุก 8 เดือน ส่วน จ.ส.อ.อิทธิพล และนางจิตอำไพ บิดา-มารดาของนายสันติภาพ จำเลยที่ 5-6 ให้ลงโทษฐานรับของโจร แต่จำเลยรับสารภาพ และช่วยติดตามนำเงินของกลางมาคืนจำนวน 4.4 ล้านบาท จึงพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน

ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น หลังจากนั้น จ.ส.อ.อิทธิพล จำเลยที่ 5 ยื่นฎีกาเพียงคนเดียว จนกระทั่งศาลฎีกาพิพากษายืน

ส่วนจำเลยอีก 5 รายนั้น ไม่ฎีกา จึงถือว่าคดีสิ้นสุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์!

ในช่วงระยะที่เกิดคดีเอกยุทธนั้น เป็นช่วงที่สถานการณ์การเมืองกำลังขัดแย้งอย่างหนักหน่วงรุนแรง มีอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่คล้ายๆ กับคดีของนายเอกยุทธ นั่นคือ มีกลุ่มคนที่เอากระแสความคิดความเชื่อทางการเมืองเข้ามาปะปน จนทำให้หลายเรื่องเกิดความสับสนและการโต้แย้งกันไม่สิ้นสุด

“เพราะไม่ยึดเอาเหตุผล หรือตามพยานหลักฐาน แต่เอาอคติทางการเมืองเป็นธงนำ”

อย่างคดีนายเอกยุทธ ก็อ้างว่าตำรวจจับผิด คนร้ายที่ก่อเหตุต้องเป็นทีมนักฆ่ามีสีมืออาชีพ และมีใบสั่งทางการเมือง

ครั้นตำรวจแสดงพยานหลักฐานว่า ที่จับกุมนั้นถูกต้องแน่นอน

“กลุ่มคนดังกล่าวก็ยืนยันว่า ที่ตำรวจอ้างไม่เป็นความจริง แต่สิ่งที่พวกตนเชื่อนั้นก็ไม่เคยมีหลักฐานเลยแม้แต่น้อยมาแสดง”

จริงอยู่มีหลายคดีที่ผ่านการตัดสินจนสิ้นสุดแล้ว แต่เรื่องมาพลิกในภายหลัง พบว่าตำรวจได้ใช้พยานหลักฐานเท็จมาปรักปรำ

แต่เราจะพบว่าคดีที่จับผิดจับแพะเหล่านั้น ฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย จะยืนกรานหนักแน่นว่าตนเองถูกใส่ร้าย

ต่างจากคดีเอกยุทธ ที่ไม่เคยมีการโวยว่าตนเองเป็นแพะ

รับสารภาพตั้งแต่ต้น จนผ่านมา 4 ปี จนคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่เคยพูดว่าตนเองเป็นแพะ!