E-DUANG : ฐานะ “ออนไลน์” ในสถานการณ์ “น้ำท่วม”

ยิ่งปัญหา “อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง” ดำรงอยู่ยืด เยื้อและยาวนานเพียงใด

บทบาท “ออนไลน์” จะยิ่งเด่นชัดเพียงนั้น

หากติดตามอย่างเปรียบเทียบระหว่างภาพ ข่าวที่ปรากฏผ่านทาง “สื่อออนไลน์” กับ “สื่อหนังสือพิมพ์”

ก็จะสัมผัสได้ใน “ความต่าง”

แม้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการนำเสนอผ่าน “สื่อโทรทัศน์” ก็จะประจักษ์ในรายละเอียดซึ่งไม่เหมือนกัน

แม้กระทั่งกับ “ทีวีดิจิตัล” ก็ตาม

“ความต่าง” ภายในกระบวนการ “นำเสนอ” นั่นแหละคือปัจจัยสำคัญนำไปสู่ “การเปรียบเทียบ”และส่องชี้

“อนาคต” ของ “ออนไลน์” จะเป็นเช่นใด

 

ความแตกต่างอย่างเด่นชัดระหว่าง “สื่อหนังสือพิมพ์” กับ “สื่อออน ไลน์” แทบไม่ต้องกล่าว

เพราะอย่างหนึ่งเป็น “ภาพนิ่ง”

เพราะอย่างหนึ่งเป็น “ภาพเคลื่อนไหว” ได้ยินเสียงน้ำไหล ได้ยินเสียงคนที่อยู่ในเหตุการณ์

ยิ่งกว่านั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยของ “เวลา”

สื่อหนังสือพิมพ์ยังต้องขึ้นกับเวลา “ปิดข่าว” เพื่อทำเพลต เพื่อไปสู่กระบวนการพิมพ์

เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วถือว่า “จบ”

ขณะที่สื่อออนไลน์สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามเวลาของสถานการณ์การณ์ได้แทบไม่หยุดนิ่ง

เป็น 24 ชั่วโมงแห่งการรายงาน

 

ความสนใจของ “รัฐบาล” ที่พุ่งเข้าไปยังสื่อออนไลน์หรือที่เรียกอย่าง เป็นศัพท์แสงว่า “โซเชียล มีเดีย” ในกรณี “น้ำท่วม”

จึงสามารถเข้าใจได้

ที่สนใจและมักออกมาชี้แจง แถลงไข อย่างเป็นระบบก็เพราะตระหนักในบทบาทและความสำคัญ

ความสำคัญที่ “ออนไลน์” ลงลึกไปในหมู่ “ชาวบ้าน”

ยิ่งกว่านั้น บรรดาชาวบ้านซึ่งอยู่ในสถานภาพแห่ง “นักข่าวพลเมือง” นั้นเองที่มีส่วนอย่างสำคัญในการถ่ายคลิปและส่งภาพไหวเคลื่อนออกเผยแพร่

ข่าวจาก “ออนไลน์” จึงอยู่ในสถานะ “เป็นหลัก”