มดงานไร้นาม / ประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด : รวี

ประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด

รวี

 

มดงานไร้นาม

 

เขาบอกว่าให้ขยันและอดออม วันหนึ่งก็จะมีเงินเก็บก้อนโตเป็นของตัวเอง อะไรที่ตัดออกได้ก็ตัดออกไป หาห้องเช่าราคาถูก เดินมาทำงาน ไม่ก็นั่งรถเมล์ อย่าไปนึกถึงอะไรที่มันหรูหรา วันหนึ่งก็จะพบกับเงินก้อนโตที่ได้จากการประหยัด

โกหกทั้งนั้น ฉันรู้ดีเพราะคำพูดเหล่านี้ออกมาจากปากพวกมีเงิน พวกผู้ดีที่เก่งแต่พูด มันเกิดมาก็มีเงินแล้ว ถ้ามันจะล้มมันก็ล้มบนฟูก ฉันนี่สิถ้าล้มก็ตาย ถ้าวันนี้ไม่ทำงาน อาทิตย์นี้ก็ไม่รู้จะมีข้าวให้กินไหม

ฉันก้มหน้าก้มตาล้างแก้วกาแฟกระเบื้องราคาแพง เป็นลูกจ้างไม่มีสิทธิ์บ่นเพราะเขาบอกว่าไม่เลือกงานไม่ยากจน แต่วันนี้ตั้งแต่แปดโมง ฉันทำทุกอย่างตั้งแต่เปิดประตูร้าน กวาดขยะ เสิร์ฟอาหาร ชงกาแฟ ยันล้างจานในเวลาใกล้หกโมงเย็น สิบชั่วโมงเต็มๆ ที่ฉันวิ่งวุ่นอยู่ในร้านกาแฟแห่งนี้

ถอดผ้ากันเปื้อนออกพร้อมยัดมันลงกระเป๋าเพื่อนำไปซักเองที่บ้าน ก่อนจะมองไปยังป้ายเมนูที่เขียนบอกราคาเครื่องดื่มและอาหารของร้าน ‘ลาเต้ 140 บาท’ ‘เค้กช็อกโกแลต 150 บาท’ ฉันลอบถอนหายใจ ก่อนจะนับเงินค่าแรงรายวันในมือ ‘350 บาท’ แลกกับการทำงาน 10 ชั่วโมง ข้าวเที่ยงต้องพกมาเอง ค่าเดินทางก็ต้องออกเอง แถมยังไม่สามารถซื้ออะไรในร้านนี้ได้เลย ถ้าฉันซื้อกาแฟจากร้านนี้สักแก้ว ก็จะเหลือเงินเพียง 180 บาท จำนวนเงินเท่านี้แทบจะประทังชีวิตไม่ได้ในเมืองใหญ่ ฉันเดินออกมารอรถเมล์เพื่อกลับไปยังหอพัก พรุ่งนี้วันจันทร์อีกแล้ว ต้องเตรียมตัวนำเสนองานและคิดว่าจะไปทำจิตอาสาที่ไหนดี จิตอาสาที่ฉันไม่ได้อยากทำ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อเก็บเป็นคะแนนแลกกับที่ซุกหัวนอนในมหาวิทยาลัย ไหนจะเพื่อใช้ยื่นกู้ กยศ. ถ้าไม่มีคะแนนจิตอาสา ฉันจะไม่ได้ทั้งค่าเทอมและที่ซุกหัวนอน

เวลาเริ่มเย็นแล้วท้องก็เริ่มหิว ฉันหาอะไรกินแถวนี้ไม่ได้เพราะย่านนี้มีแต่ของราคาแพง จึงอดทนรอให้รถเมล์มาจะได้กลับไปหาข้าวแถวๆ มหาวิทยาลัย แต่หนึ่งชั่วโมงผ่านไปแล้วก็ไม่เห็นจะมีท่าทีว่ารถเมล์สายที่ต้องการขึ้นจะผ่านมา ฟ้ามืดแล้วกลัวว่าฝนจะตก ฉันเงยหน้ามองรถไฟฟ้าที่วิ่งแล่นผ่านไป ‘สงสัยวันนี้ต้องขึ้นบีทีเอสกลับห้องอีกแล้ว’ ขึ้นรถไฟฟ้ากลับห้องนั้นเท่ากับว่าฉันต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้นอีกประมาณเท่าตัว เงินเก็บก็จะหายไปเล็กน้อยอีกจนได้ แต่ฉันก็ยอม ฝืนรอต่อไปมีหวังเป็นลมแน่ๆ

ฉันลงจากรถไฟฟ้า แล้วเดินมาเรื่อยๆ เพื่อหาอะไรกิน ก่อนจะเข้ามายังร้านอาหารตามสั่งข้างทางเล็กๆ ของคุณป้าท่าทางใจดี ฉันอุดหนุนร้านนี้เสมอถ้าต้องกลับช่วงกลางคืนเพราะราคาที่เป็นกันเอง เปิดเมนูออกมาเพื่อเลือกว่าจะกินอะไรเป็นมื้อเย็น พบกับรอยปากกาเมจิกที่เขียนทับราคาเก่า ‘ข้าวกะเพราหมูกรอบไข่ดาว 65 บาท’ ขึ้นจากสัปดาห์ก่อนมาตั้ง 10 บาท แสดงว่าถ้าฉันจะกินเมนูนี้ เงินออมจะลดลง 10 บาท “ขอขึ้นราคานะหนู แบกต้นทุนไม่ไหวแล้วเนี่ย หมูก็ขึ้น น้ำมันก็จะลิตรละ 70 บาทแล้ว ไหนจะแก๊สอีก ป้าขายราคาเดิมไม่ได้แล้ว” คุณป้าคนขายหันมาบอกกับฉันที่เปิดเล่มเมนูไปมา เสียงของคุณป้าทำให้ฉันนึกถึงแม่ที่ขายอาหารอยู่ต่างจังหวัด “ไม่เป็นไรค่ะ หนูเข้าใจ” ฉันตอบก่อนจะสั่งเมนูอาหารจานเดียวมากินอย่างเงียบเชียบ

บนถนนรถราสัญจรไปมาคึกคัก วันอาทิตย์วัยรุ่นออกมาใช้ชีวิตในห้างสรรพสินค้า บ้างก็ย่านดังต่างๆ ที่เข้ากับวิถีชีวิตคนเมือง ฉันเองก็ชอบสีสัน ชอบเดินห้าง ชอบเข้าร้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความพึงพอใจของชีวิตนักศึกษา สินค้าอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง เพียงแค่เดินมองก็ทำให้พึงพอใจ พลางคิดฝันหรือหมายตาไว้ก่อนว่า ‘สักวันหนึ่งฉันจะมาซื้อแกไปเข้าตู้เสื้อผ้าที่ห้อง’ แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยสักเท่าไหร่ ฉันไปเดินย่านการค้าเพื่อพบกับสีสัน ความบันเทิงและความวุ่นวายเพื่อให้ชีวิตหลุดจากความน่าเบื่อหน่าย ความบัดซบของชีวิตในเมืองกรุงที่ความบันเทิงต้องเสียเงิน หลายครั้งฉันอยากได้เพียงสวนสาธารณะสีเขียวที่สามารถไปนั่งโง่ๆ ให้เวลาผ่านไปได้มากกว่าห้างสรรพสินค้าที่มีคนพลุกพล่านและสินค้าที่ไม่อาจจับต้องได้

ฉันหลุดจากภวังค์ความคิด ลุกขึ้นไปจ่ายเงินให้กับคุณป้าแล้วเดินอย่างเหนื่อยหน่ายกลับห้องพัก

 

“เป็นไงบ้างแก” รวี รูมเมตของฉันเอ่ยทักทาย เธอนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ กำลังพิมพ์งานบางอย่างอยู่

“เหนื่อยเหมือนเดิมเลยอะ โคตรเจ็บขา” ฉันตอบ แขวนกระเป๋าไว้บนตะขอข้างประตูห้อง ถอดรองเท้าและถุงเท้าไว้อย่างเป็นที่เป็นทาง

“อาบน้ำแล้วนอนไหมแก แกดูเหนื่อยมากเลยอะ” รวีกล่าวเมื่อฉันเดินออกมาจากห้องน้ำหลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จ

“ว่าจะค่อยอาบก่อนนอนทีเดียวอะ เดี๋ยวจะทบทวนเนื้อหาไปพรีเซนต์พรุ่งนี้หน่อย” ฉันตอบพร้อมหยิบแล็บท็อปของตนเองออกมาบ้าง แล็บท็อปเครื่องนี้ครึ่งหนึ่งมาจากน้ำพักน้ำแรงของฉันที่ทำงานพาร์ตไทม์แถวบ้านช่วงก่อนจะเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดมีงานไม่มาก จึงเลือกทำงานร้านสะดวกซื้อที่หลายครั้งก็โดนหักเงินไปบ้างเพราะทำยอดไม่ได้ตามที่กำหนด อีกครึ่งหนึ่งคือพ่อและแม่ช่วยออกให้ เพื่อให้ลูกได้มีไว้ทำงานเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น เมื่อนึกถึงแม่อีกครั้ง ฉันจึงลุกขึ้นออกจากห้องไปที่ระเบียง ก่อนจะกดโทรออกไปยังเบอร์ของมารดา

“เป็นไงบ้างลูก” แม่เอ่ยถามด้วยสำเนียงท้องถิ่น

“ก็ดี เพิ่งกลับถึงบ้านอะ วันนี้ไปทำงานมา แม่ขายของดีไหม” ฉันถามกลับ

“คนเงียบๆ เขาไม่มีเงินกันช่วงนี้ ของแพง แม่ไม่กล้าขึ้นราคา สงสารชาวบ้าน” ถ้าเด็กกว่านี้ฉันคงกลอกตาไปมา แต่ตอนนี้ฉันกลับเข้าใจมากขึ้น ชุมชนเล็กๆ ในต่างจังหวัด ถ้าขึ้นราคาก็เป็นความเสี่ยงว่าจะไม่มีคนมาซื้อ อาจจะต้องรอให้ร้านอื่นๆ ขึ้นก่อนแล้วค่อยขึ้นพร้อมกัน

“อืม นี่ร้านป้าที่กินบ่อยๆ เขาก็ขึ้นแล้วอะ ต่อไปคงซื้อจากใน ม.มาใส่ตู้เย็นไว้บ้างละ ใน ม.มันถูกกว่า” ฉันบอกแม่

“กินอะไรที่อยากกินนะลูก อย่าไปอด ถ้าไม่พอก็ขอมาได้” แม่ตอบ ฉันรู้ว่าเธอพูดความจริง แต่ฉันไม่เคยกล้าขอเงินที่บ้านเพิ่ม เงินรายสัปดาห์ที่พวกเขาให้ พอจะเป็นค่าอาหารและค่าเดินทาง แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกที่ฉันจำเป็นต้องเก็บไว้ ไม่นับว่าบางสัปดาห์ที่บ้านก็ไม่สามารถโอนเงินมาให้ได้เพราะมีความขัดสน จำเป็นต้องเอาเงินไปหมุนใช้ในบ้าน เช่น ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ หรือบางครั้งก็เป็นค่ายาของพ่อ ฉันจึงเลือกทำงานพาร์ตไทม์เสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ตัวเองมีรายได้เอาไว้เป็นเงินออมยามฉุกเฉิน เช่น ค่ายา ค่าผ้าอนามัย ค่าไฟ บางวันก็อาจจะเป็นค่าข้าวเย็น อย่างเช่นวันนี้ เนื่องจากเป็นช่วงปลายเดือน สัปดาห์นี้จึงไม่มีเงินจากทางบ้านส่งมาให้ ฉันจึงต้องเจียดเงินค่าจ้างมาจ่ายค่าข้าวเย็นที่ขึ้นราคาสูงขึ้น

ฉันคุยกับแม่ต่ออีกเล็กน้อยแล้วเข้ามาในห้อง รวียังคงพิมพ์งานอยู่ในหน้าเอกสารเดิม “คิดงานไม่ออกอะดิ” ฉันแซวเพื่อนด้วยความสนิทสนม เราสองคนเรียนคณะเดียวกัน เพียงแต่คนละเอกจึงเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน ทำให้สนิทกันได้ง่าย

“อืม ยากมากเลยอะแก ไม่รู้จะไปเอาแรงบันดาลใจมาจากไหน เป็นนักเขียนนี่โคตรแย่ ไม่เขียนก็ไม่มีอะไรกิน รายได้ก็พอจะเอามาซื้อข้าวกินได้ ไม่ก็กินหรูๆ บนห้างได้สักมื้อสองมื้อ ความฝันคนกรุงโคตร ทำงานหนักเพื่อให้ได้กินบุฟเฟ่ต์บนห้าง เฮ้อ” รวีบ่นงึมงำ

เธอเขียนนิยายเผยแพร่บนเว็บไซต์ชื่อดัง ตั้งราคาต่อตอนไม่แพงนัก งานของเธอนับได้ว่ามีคนอ่านเยอะ จึงมีคนซื้อนิยายของเธอทุกตอน รวีจะลงนิยายทุกห้าทุ่มวันอาทิตย์ ตอนนี้เป็นเวลาใกล้สามทุ่มแล้ว คงใกล้จะเสร็จแล้ว ที่บ้านของรวีฐานะปานกลาง สามารถส่งให้เธอเรียนได้อย่างไม่ขัดสน แต่รวีอยู่หอในเพื่อช่วยไม่ให้ค่าใช้จ่ายของพ่อแม่สูงมากเกินไป เขียนนิยาย รับทำงานที่ถนัดเล็กน้อยเพื่อเป็นเงินเก็บ

ชีวิตของฉันและรวีดูไม่ต่างกันมากนัก แต่ก็ยังมีช่องว่างที่เรียกได้ว่าทำให้รู้สึกต่าง เราสองคนยังคงสามารถคุยกันได้ มีความรู้สึกบางอย่างที่ใกล้กัน อาจจะเพราะมีพื้นฐานมาจากต่างจังหวัดเหมือนกัน ในสังคมมหาวิทยาลัยใหญ่กลางเมืองเช่นนี้ การแข่งขันสูงลิ่ว ทำให้ผสมไปด้วยคนมากมาย ฐานะแตกต่าง

ฉันพบว่าเวลาเดียวที่จะรู้สึกเท่าเทียมกับทุกคนนั่นคือเวลาที่อยู่ในห้องเรียน เวลาที่ทุกคนกำลังเรียนเรื่องเดียวกัน สอบด้วยข้อสอบเดียวกัน นั่นคือเวลาเดียวที่ทุกคนเท่าเทียม เมื่อออกจากห้องเรียน ทุกคนอยู่ในฐานะที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ฉันอยู่หอในที่ต้องทำกิจกรรมแลกที่ซุกหัวนอน บางคนกลับมีคอนโดมิเนียมหรูหรา ฉันต้องนั่งรถเมล์ไปทำงานพาร์ตไทม์ แต่บางคนมีคนขับรถรับ-ส่ง ทำอาหารเป็นงานอดิเรก

นี่คือความแตกต่างระหว่างชนชั้นเมื่อออกจากห้องเรียน

 

เวลาหนึ่งสัปดาห์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว วันเสาร์มาถึง ฉันตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อออกไปรอรถเมล์ วันนี้ต้องถูพื้นและเตรียมของต่างๆ รวมถึงต้องรอปิดร้าน เนื่องจากมีพนังงานในร้านคนหนึ่งขอลาหยุด ฉันมาถึงร้านในเวลาเจ็ดโมงห้าสิบ สวมผ้ากันเปื้อนที่ฉันนำกลับไปซักเอง แล้วเริ่มงานของตนเอง ฉันทำงานที่ร้านนี้มาหกเดือนแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีใครบอกว่าต้องทำอะไรบ้างในหนึ่งวัน เพื่อหลีกเลี่ยงนายจ้างขี้บ่น เมื่อมีตรงไหนไม่มีคนทำงานฉันจะคอยไปเสียบให้งานตรงนั้นไม่ว่าง ร้านเปิดเวลาเก้าโมงตรง ก็เริ่มมีคนเข้ามาในร้าน ฉันยืนอยู่บริเวณเคาน์เตอร์คอยต้อนรับสวัสดีและรับออเดอร์

“มีเมนูกาแฟแนะนำไหมจ๊ะ” คุณผู้หญิงหน้าตาใจดีถามด้วยหน้าตายิ้มแย้ม ฉันยิ้มกลับอ่อนๆ ก่อนจะท่องบทที่เจ้าของร้านเคยบอกเอาไว้

“สำหรับสัปดาห์นี้แนะนำดัลโกน่าคอฟฟี่นะคะคุณลูกค้า หอมละมุน กาแฟสไตล์เกาหลีค่ะ หรือถ้าคุณลูกค้าชื่นชอบกาแฟไม่ใส่นม ทางร้านขอแนะนำยูสุอเมริกาโน่ สดชื่นเหมาะกับการเริ่มวันใหม่ค่ะ” ฉันตอบลูกค้าตามที่เจ้าของร้านบอกให้พูดเมื่อมีคนถามหาเมนูแนะนำ ฉันจำได้ดีว่าต้องพูดอะไรบ้าง ในแต่ละหมวดมีเมนูแนะนำอะไร ในแต่ละวันจะมีเมนูไหนเป็นพิเศษ ฉันถนัดท่องจำ จึงจำรายละเอียดเมนูได้ แต่สิ่งที่ฉันคิดมาตลอดคือ ฉันจำได้ก็จริง แนะนำตามที่เจ้าของร้านบอกมาได้ทุกอย่าง แต่ฉันไม่เคยลองชิมมันเลย เพราะฉันไม่สามารถซื้อกาแฟที่แพงเกินไปในร้านที่ตัวเองทำงาน ฉันคิดว่าถ้าฉันได้ลิ้มลองทุกเมนู ฉันอาจจะไม่แนะนำเมนูพวกนี้ก็ได้

ตกช่วงบ่ายเธอเข้าไปล้างจานที่หลังร้าน จนมีพนังงานเดินมาตาม ถามว่าฉันเรียนเอกภาษาจีนใช่ไหม ช่วยไปคุยกับลูกค้าคนจีนหน่อย ฉันจึงเดินออกไป พวกเขามากันหลายคน ขอเมนูแนะนำทั้งอาหารคาว อาหารหวานและเครื่องดื่ม ฉันจึงแปลสิ่งที่เจ้าของร้านบอกให้ท่องจำเอาไว้เป็นภาษาจีน แล้วพูดให้ลูกค้าฟัง พวกเขาสั่งอาหารมาเป็นภาษาจีน ฉันจดเป็นภาษาไทย แล้วนำออเดอร์ไปส่งให้ทางครัว

“เธอนี่เก่งจริงๆ เลยนะ พูดจีนได้ด้วย” เจ้าของร้านเอ่ย ฉันจึงโน้มตัวลงเล็กน้อยเชิงขอบคุณ แล้วคอยเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้า เมื่อลูกค้าจะไป พวกเขาเรียกฉันไปคิดเงิน ฉันนำบิลไปให้ แล้วสรุปรายการให้พวกเขา พวกเขาจ่ายเงิน ก่อนจะออกจากร้านพวกเขาหยิบเงินออกมาจำนวนหนึ่งแล้วมองมาทางฉัน ฉันเห็นเจ้าของร้านเดินไปหาลูกค้า แล้วชี้ไปทางกล่อง tip box ของร้าน ลูกค้าจึงหย่อนเงินส่วนนั้นลงในกล่องเล็กที่ไม่เคยถูกแบ่งให้กับพนักงานในร้าน แล้วลูกค้าก็ออกจากร้านไป

ช่วงเย็นพนักงานคนอื่นกลับบ้านไปหมดแล้ว ฉันจึงอยู่ปิดร้าน ระหว่างรอรับค่าจ้างรายวัน ฉันคิดถึงค่าใช้จ่ายสิ้นเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ วันนี้ฉันมีประจำเดือน จึงมีค่าผ้าอนามัยเพิ่มเข้ามาอีกหลายบาท

“หนูขอค่าจ้างวันนี้เพิ่มได้ไหมคะ เพราะวันนี้หนูเป็นล่ามให้ลูกค้า หนูเห็นเขาใส่ทิปลงในกล่อง วันนี้หนูต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟที่หอค่ะ” ฉันบอกระหว่างที่เจ้าของร้านกำลังนับเงิน มือเขาชะงักนิ่งไป ฉันไม่กล้ามองหน้า ฉันสัมผัสได้ว่าเขาไม่สบอารมณ์

“ก็มึงอวดเก่งไปทำตัวเป็นล่ามเอง กูไม่ได้สั่งให้มึงไปพูดกับพวกเจ๊กสักหน่อย แล้วตอนกูรับสมัครงาน กูไม่ได้อยากได้คนพูดจีนได้ มึงอย่ามาเห็นแก่ตัว คนอื่นเขาไม่เห็นเรียกร้องเหมือนมึง” มันพูด ก่อนจะยื่นเงินค่าจ้าง 350 บาทให้ฉัน “เอ้านี่ เอาเค้กไปกินละกัน กูให้ สมเพชคนอย่างมึง” เขายื่นเค้กที่เหลือวันนี้ให้ฉันหนึ่งชิ้น ฉันรับมันมา วินาทีนั้นฉันคิดว่าฉันไม่ทนอีกแล้ว

“ค่ะ งั้นพรุ่งนี้หนูไม่มาแล้วนะคะ” ฉันพูดก่อนจะเดินออกจากร้านไป ทิ้งผ้ากันเปื้อนของร้านลงในถังขยะที่ใกล้ที่สุด

 

วันนั้นฉันนั่งรอรถเมล์ รู้สึกแข็งทื่อไปทั้งตัว ฉันรู้สึกหิวแต่ก็รู้สึกอยากร้องไห้มากกว่า รายได้ 35 บาท/ชั่วโมง ไม่สามารถทำให้ฉันหลุดจากความแร้นแค้นได้ ฉันไม่เคยคิดบ่นเพราะรู้ว่าต้องก้มหน้าทำงานเพื่อให้ได้เงินมาใช้ซื้อของใช้จำเป็นที่เมื่อนับแล้วก็แทบจะไม่พอใช้จ่าย ไม่มีเงินเหลือเก็บไปทำอย่างอื่นอีก วันนี้ตัดสินใจแบบนี้ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

“แก เห็นนี่ยัง” ฉันเดินเข้ามาในห้องพัก รวียื่นโทรศัพท์มาให้ฉัน ฉันอ่านโพสต์ที่รูมเมตเปิดไว้ให้

‘เด็กสมัยนี้แปลกมาก… เก็บเงินไม่พอใช้เอง แล้วจะมาขอค่าจ้างเพิ่ม…

จำไว้นะน้องๆ วิธีเก็บเงินนี่ง่ายมาก อะไรที่ไม่จำเป็นพวกเธอก็ไม่ต้องไปซื้อมัน เสื้อผ้าก็เลิกช้อปซะ อาหารก็ลองทำเองดู ประหยัดได้เยอะนะ ไม่ก็กินจากโรงอาหารมหา’ลัยสิ มันถูกกว่าข้างนอกนะ…

สมัยฉันเรียน ถ้าอยากเก็บเงินก็ทำอย่างนี้ กินข้าวที่มหา’ลัยเพราะมันถูก…

จะไปไหนมาไหนก็เดิน ไม่ก็นั่งรถเมล์เอาสิ ไม่ต้องไปขึ้นรถไฟฟ้าหรูหรา แค่นี้ก็เก็บได้แล้วจ้ะ เงินเก็บไปจ่ายค่าไฟน่ะ…

วันนี้มีลูกน้องเดินมาบอกตอนปิดร้านว่าขอเงินเพิ่มได้ไหม เพราะนางเสนอหน้าไปเป็นล่ามให้ลูกค้าคนจีน ทำดี๊ด๊า สะเออะเข้าไปคุยเอง ไม่รู้พูดผิดพูดถูกอะไรยังไงบ้าง นางกล้าขอเงินค่าจ้างเพิ่ม แถมบอกว่านางอยู่ปิดร้านแทนพนักงานที่ไม่มา ก็ควรได้เพิ่ม แหมคุณเธอ คนอื่นเขาไม่เห็นขอแบบคุณเธอ…

จนนางบอกว่านางต้องจ่ายค่าไฟวันนี้ ผมนี่ปรี๊ด จะมาขอเงินเพิ่มเพราะอะไรแบบนี้ เห็นแก่ตัวมาก ค่าไฟนี่คุณต้องเก็บไว้ทุกวัน ให้มันพอช่วงปลายเดือนสิวะ ไม่ใช่มาหาเอาวันจะต้องจ่าย *มองบน* …

ไม่เข้าใจเด็กสมัยนี้จริงๆ เก็บหอมรอมริบไม่เป็นกันสักคน ล่าสุดนางบอกว่าพรุ่งนี้ไม่มาแล้ว เรื่องของเธอจ้ะ ไม่แคร์…’

“ร้านที่แกทำใช่ไหม” รวีถาม

“คนในโพสต์นั่นคือฉันเองแหละ” ฉันบอกแล้วยื่นโทรศัพท์คืนให้เพื่อน แล้วเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นให้รวีฟัง

“แกทำงานหลังจะหัก เพื่อให้ได้เงินวันละ 350 เนี่ยนะ เคล็ดลับผู้ประกอบการสมัยนี้คือเอาเปรียบลูกน้องเหรอวะ” รวีบอก ฉันรู้สึกอยากร้องไห้และหัวเราะในเวลาเดียวกัน

“นี่เข้าไปอ่านในเว็บหางานก็เขียนไว้ว่ารู้ภาษาอังกฤษรับพิจารณาเป็นพิเศษ ทำไมถึงมาบอกว่าเธอสะเออะ” รวีไถจอที่กำลังโชว์คำบรรยายลักษณะงานจากเว็บไซต์หางาน

“พอมาคิดแล้ว ‘พิจารณาเป็นพิเศษ’ ของเขาก็คงหมายถึง ‘ถ้ามึงได้ภาษาอังกฤษ กูจะรับมึง’ ล่ะมั้ง ส่วนที่บอกว่าสะเออะคงเพราะฉันพูดภาษาจีนกับลูกค้าน่ะ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ” ฉันบอก

“เดี๋ยวนี้เขาดูไม่ให้ค่าภาษาที่สามเลยเนอะ เรียนมาก็แพง แล้วแกสื่อสารได้ด้วยอะ อีกอย่างคือลูกค้าก็ให้ทิป เขาก็ควรเอาทิปมาแบ่งไหมวะ ไม่ให้แกคนเดียวก็ได้ ก็หารให้พนักงานทุกคน” รวีพูดยาวเหยียดตามแบบที่เธอมักจะพูดเป็นประจำ ฉันฟังที่เพื่อนพูดพร้อมพยักหน้างึกตามไปด้วย

“โพสต์แฉเลยไหมแก เดี๋ยวฉันแบ๊กหลังเอง” รวีเสนอ ฉันไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่

“ไม่เอาอะแก เดี๋ยวไม่มีคนจ้างทำงานทำไง แค่นี้ก็แย่แล้ว” ฉันตอบ รวียู่หน้าแต่ก็ผงกหัวรับ

 

ในหัวฉันว่างเปล่า คิดเพียงต้องหางานพาร์ตไทม์ให้ทันก่อนเงินจะหมด คอยคิดแผนทางออกอื่นๆ หากจำเป็นคงกลับไปทำงานร้านสะดวกซื้อ หรือไม่ก็คงต้องเดินเข้าไปคุยกับงานทุนของมหาวิทยาลัยเพื่อขอความช่วยเหลือ เธออยากให้นั่นเป็นทางออกสุดท้าย เกณฑ์การขอทุนของมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยข้อกำหนดยิบย่อย พวกเขาคอยจับจ้องว่าคุณนั้นจนจริงหรือเปล่า จนพอที่จะสมควรได้รับเงินช่วยเหลือไหม การสัมภาษณ์แต่ละครั้งสามารถสร้างบาดแผลในจิตใจได้ ฉันอาบน้ำแต่งตัวแล้วล้มตัวลงนอน คิดว่าพรุ่งนี้คงต้องจริงจังกับการหางาน

“แก ในทวิตเตอร์เอาโพสต์นี้มาแชร์เต็มเลยอะ” รวีพูดขึ้นตอนฉันกำลังจะหลับตาลงนอน

“เขาว่าไงกันบ้างอะ” ฉันถามแม้จะไม่อยากรู้คำตอบมากเท่าไหร่ อินเตอร์เน็ตเต็มไปด้วยอะไรมากมาย ความคิดราวกับสายน้ำหลาก ทุกคนสามารถไหลตามกันได้อย่างง่ายได้

“ฮ่า ไอ้เจ้าของร้านนี่โดนด่าละ เพราะมีคนเอาค่าจ้างรายวันมันจะแฉ มีคนบอกว่า ‘เคยทำเมื่อ 2 ปีก่อน เหนื่อยมาก แต่ค่าแรงแค่ 350 ไม่รู้ป่านนี้ขึ้นรึยัง คาเฟ่สไตล์พนักงานทำงานในโรงงานนรก'” รวีอ่านให้ฟัง พร้อมกับอ่านความเห็นอื่นๆ ที่ไปทางเดียวกัน เธอคงเลือกไม่อ่านความเห็นที่มันจะทำร้ายจิตใจฉัน แม้เธอไม่อ่าน แต่ฉันรู้ว่ามันมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

“เงินก็เฟ้อ เขาไม่คิดจะขึ้นค่าแรงเลยเหรอวะ” รวีบ่นพึมพำ “นี่แก มีคนบอกว่าใครคือพนักงานคนนั้นให้ทักไปหาเขาได้เลย เขาจะรับทำงานด้วยนะ” เธอยื่นทวีตหนึ่งให้ฉันดู ทวีตนั้นจับภาพหน้าจอโพสต์ของเจ้าของร้านพร้อมเขียนวิจารณ์เล็กน้อยถึงความไม่ยุติธรรมของค่าแรงและการไม่ให้ค่าทักษะภาษาต่างประเทศ ฉันอยากจะทักไปแต่ก็ยังมีความกังวล

“แกลองทักไปคุยๆ ก่อนก็ได้นะ เขาดูเข้าใจ ถ้าไม่สะดวกใจลองทำพวกร้านในห้างมั้ย ฉันว่าเขาให้ค่าแรงเยอะนะ แต่เหมือนมีระยะฝึกงาน” รวีบอก

ฉันตอบเพื่อนำว่าจะลองคิดดู แล้วขอนอนคิดดูก่อน พร้อมบอกรวีว่าอย่าเพิ่งโพสต์อะไรแทนฉันบนอินเตอร์เน็ต ก่อนจะหลับตานอน

 

เช้าวันอาทิตย์ฉันตื่นสายในรอบหลายเดือน ฉันอยู่บนที่นอนให้เวลาผ่านไป นอนคิดว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต แล้วตัดสินใจเจ้าของทวีตที่บอกให้คนที่ประสบเหตุการณ์นี้ติดต่อไป ฉันพิมพ์ข้อความยาวเหยียดส่งไปทางกล่องข้อความ อธิบายเหตุการณ์ให้เขาฟัง ฉันกดส่งข้อความแล้วทิ้งโทรศัพท์ไว้บนที่นอน อาบน้ำอาบท่าให้รู้สึกสดชื่น ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย ใจส่วนหนึ่งยังระแวงว่าจะโดนแฉมากกว่าได้งาน

แจ้งเตือนปรากฏบนหน้าจอโทรศัพท์หลังจากที่ฉันกินขนมปังเป็นมื้อเช้า ‘ร้านพี่อยู่แถว ม.น้องเลย วันนี้เย็นๆ เข้ามาสัมภาษณ์งานได้ไหม’ เป็นข้อความจากเจ้าของร้านกาแฟที่ฉันได้ส่งข้อความไปหลังตื่นนอน ฉันจึงเลือกทำตามที่เขาบอก

หลังจากวันนั้นที่ฉันไปสัมภาษณ์ที่ร้านกาแฟแห่งใหม่ ฉันได้งานที่นั่น เจ้าของร้านอัธยาศัยดี ที่ร้านไม่ต้องทำหลายงาน มีจุดประจำของพนักงานแต่ละคน วันทำงานของฉันยังคงเป็นเสาร์-อาทิตย์เช่นเดิม เวลาก็ไม่ต่างจากร้านเก่ามากนัก แต่ฉันได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย และไม่ต้องเสียค่าเดินทางมากเท่าการไปทำงานที่ร้านเก่า

ฉันกลับเข้าสู่กิจวัตรเดิมๆ เรียน ทำการบ้าน นำเสนองาน ทำงานพาร์ตไทม์ กลายเป็นชนชั้นล่างธรรมดาๆ ที่ต้องดิ้นรนเหมือนเดิม ทำงานให้เจ้านายคนใหม่ ได้เงินมากขึ้นเล็กน้อยพอประทังความต้องการอื่นๆ ฉันไม่รู้ว่าร้านเก่าเป็นอย่างไร แต่คาดว่าก็คงเปิดร้านต่อไป กดขี่ลูกน้องคนอื่นต่อไป

ฉันเป็นมดงานที่ไร้นามของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เป็นมดที่ทำงานอย่างไม่สิ้นสุด ไม่มีใครจดจำ ไม่มีวันถูกจดจำ คงจะเป็นเพียงฉันไปจนวันตาย

 

“แกอยากเขียนเรื่องฉันป้ะ” ฉันเอ่ยถามรวี บ่ายวันหนึ่ง ฉันไม่มีเรียน รวีก็เช่นกัน เราสองคนนอนเล่นอยู่ในหอพัก

“เขียนเรื่องอะไร” รวีถามกลับอย่างงัวเงีย

“เรื่องที่ฉันลาออกตอนนั้น แล้วเจ้าของร้านเอาไปโพสต์อะ” ฉันบอก

“เอาดิ เริ่มเล่ามาเลย”

“วันนั้นฉันเกิดความกล้าบางอย่าง แต่ความกล้านั้นยังไม่ไปถึงขีดสุด ฉันพยายามกดอารมณ์ของฉันเอาไว้ แต่ในใจกลับตะโกนออกไปว่า

‘เอาผ้ากันเปื้อนมึงคืนไป พรุ่งนี้กูไม่มาทำงานให้มึงแล้ว ขาดลูกจ้างแบบกูไปสักคน มึงตายแน่อีแก่ แล้วเดี๋ยวกูจะไปบอกคนอื่นให้ไม่ต้องมาแดกร้านมึง ร้านที่เจ้าของเห็นแก่ตัวแบบมึง’ นี่เป็นสิ่งที่ฉันอยากจะตะโกนออกมา” •