หลากมิติ สี จิ้นผิง พบปูติน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

หลากมิติ สี จิ้นผิง พบปูติน

 

ระหว่าง 15-16 กันยายนที่ผ่านมา ทั่วโลกจับตาการพบกันระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่คาซัคสถาน (Kazakhastan) และต่อมาที่อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) เพื่อเข้าประชุม Shanghai Organization Cooperation (SCO) พร้อมตีความความสำคัญไปหลายแนวทาง ได้แก่

มองฝั่งรัสเซีย หลายฝ่ายเห็นว่า รัสเซียต้องการบอกแก่ชาวโลกว่า หลายชาติยังสนับสนุนเขาโดยเฉพาะการทำสงครามกับยูเครน นอกจากรอคำยืนยันอันน่าฟังและแสนไพเราะจากผู้นำจีนที่มาพบกันอีกครั้ง

มองฝั่งจีน การเดินทางต่างประเทศครั้งแรกหลังของสี จิ้นผิง จากไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศเกือบ 1,000 วันนับจากเกิดโรคโควิด-19 ย่อมมีความสำคัญมากต่อจีน มีการตีความต่างๆ นานา ได้แก่ นี่เป็นสัญญาณว่า ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ในจีนจบสิ้นแล้ว ต่อไปทางการจีนจะยกเลิกการห้ามเดินทางไปต่างประเทศ

อีกทั้งการพบปะกับปูตินผู้นำรัสเซียอาจเป็นเกมรุกครั้งสำคัญของจีน ด้วย Yang Jiechi หนึ่งใน 25 คนใน Politburo จีน และเป็น Foreign Policy Chief เดินทางไปต่างประเทศ และผู้นำอันดับ 3 ของจีน Li Zhun shu เดินทางต่างประเทศ 11 วัน เริ่มต้นที่รัสเซีย1 แล้วสื่อฮ่องกงยังออกข่าวว่า นี่เป็นประกาศการเป็นผู้นำจีนสมัยที่ 3 ของสี จิ้นผิง เอง

หากส่องแว่นเข้าไปดูให้ลึกสักนิด การตีความข้างต้นไม่ผิดหรอก แต่ตื้นไปหน่อยครับ เราต้องกลับไปค้นหามิติลึกใน 2 เรื่องสำคัญพร้อมกันไปคือ เรื่องของ เอเชียกลางและ SOC

ภาพรวมการเดินทางไปทั้งคาซัคสถานและต่อไปอุซเบกิสถานเพื่อประชุม SOC ของทั้งสี จิ้นผิง และปูติน ส่งสัญญาณแสดงความอ่อนแอของทั้งสองประเทศ ที่ช่วงนี้ดูเหมือนว่ามีความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างมาก

แต่ชัดเจนว่า รัสเซียมีความต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะหลังจากเข้าไปบุกยูเครน คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน ต่างคัดค้านรัสเซียบุกยูเครน

ในขณะที่สี จิ้นผิง เลือกช่วงเวลานี้ไปคาซัคสถาน มีความปรารถนาเพิ่มอิทธิพลจีนต่อคาซัคสถาน เพราะประเทศนี้มีพรมแดนยาวมากและชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่บ่อยครั้งทำดูเหมือนใกล้ชิดรัสเซียมากกว่าประเทศเอเชียกลางอื่นๆ

 

เอเชียกลางในอุ้งมือของใคร

ในคาซัคสถาน คนคาซัคสถานมองว่าตัวเองอยู่ห่างจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และมองว่าจีนเป็นตัวสร้างสมดุลทางการเมืองมากกว่า ความจริงคนคาซัคสถานกังวลบทบาทของรัสเซียที่อยู่ตอนเหนือของประเทศที่เป็นคนเชื้อสายรัสเซียเป็นส่วนใหญ่

การเลือกภูมิภาคเอเชียกลางเป็นการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำจีน เห็นได้ชัดว่า เน้นเป้าหมายของจีนที่ขยายอิทธิพลของตนในภูมิภาคนี้ ปีหน้าจะครบรอบ 10 ปี มหายุทธศาสตร์ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) เอเชียกลางคือ ดินแดนที่เป็นตัวแสดงที่ดีของพื้นที่จีนในโลก ในขณะที่จีนมองว่า จีนอ่อนแอมากในเอเชียกลาง แต่รัสเซียกลับเคลื่อนไหวมากเลยกับการปักหมุดเอเชียกลาง ทำให้จีนตระหนักว่าบางสิ่งควรขยายคือ ความเข้าใจต่อเอเชียกลาง ขยายความสามารถจีนเพื่อมองว่า อะไรจะไปต่อ และอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับเอเชียกลาง

กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากเจรจากันมานาน 20 ปี จีนตกลงกับประธานาธิบดีคาซัคสถาน นาย Tokyev ปีหน้าจะเริ่มสร้างเส้นทางรถไฟ China-Kyrgyzstan-Uzbekistan อันเป็นอีกเส้นทางรถไฟหนึ่ง เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟที่มีอยู่แล้วกับคาซัคสถาน

ความตกลงระหว่างจีนกับ Kyrgyzstan สร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมสองประเทศ ซึ่งจะเชื่อมอุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) และต่อจากนั้นอิหร่านและตุรเคียสามารถเข้าถึงเส้นทางรถไฟนี้ได้ เป็นอีกสัญญาณหนึ่งแสดงว่ารัสเซียมีบทบาทลดลงในเอเชียกลาง

นอกจากเรื่องความเชื่อมโยงของเส้นทางของจีนในยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน จีนยังกระตือรือร้นพัฒนาความผูกพันทางเศรษฐกิจที่สร้างความยุ่งยากให้กับคาซัคสถาน ที่จีนทำการกดขี่บรรดาหลานชาวตุรเคีย คือชาวอุยกูร์ (Uyghurs) ในมณฑลซินเกียงของจีน

การขยายอิทธิพลของจีนในทางเศรษฐกิจในเอเชียกลางเท่ากับเป็นการเข้าสู่หลังบ้านของรัสเซีย อันตีความได้ว่า การเดินทางของผู้นำจีนไปเอเชียกลางครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญมากของจีนทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ จนไม่แน่ใจว่า จีนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียจริงหรือ

 

ใครเป็นใครใน SOC

ใครๆ ก็รู้ว่า SOC เป็นของจีน SOC กำเนิดจากความพยายามของจีน เพื่อสร้างเสถียรภาพในเอเชียกลางช่วงหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย เอเชียกลางดินแดนที่การปรากฏตัวของอิสลามฟันดาเมนทัลไม่ใหญ่โต และการทะยานขึ้นของสำนึกแบบตุรเคีย จนเป็นการตื่นขึ้นมาของอิสรภาพของคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน2

SOC เริ่มจาก Shanghai Five 1996 มีจีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน (Kyrgystan) และทาจิกิสถาน (Tajikistan) ตอนนี้ดูเหมือนว่า องค์กรกำลังมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกคือ อุซเบกิสถาน อินเดีย ปากีสถาน (เข้าร่วมในปี 2017) และอิหร่าน

แล้วยังมีประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์คือ อัฟกานิสถาน มองโกเลีย และเบรารุส3

ยังมีประเทศคู่เจรจา (Dialogue partner) คือ อาร์เมเนีย (Armenia) อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) กัมพูชา เนปาล ศรีลังกา และตุรเคีย4

รายชื่อทั้งหมดเป็นรายชื่อที่น่าพอใจสำหรับจีน จีนชอบเห็นกลุ่มของยูเรเซีย อันเป็นการแสดงถึงการรวมตัวใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะไม่มีชาติตะวันตก แต่แล้ว SOC ก็ขาดเป้าหมายร่วม (common purpose) ขององค์กรที่ใหญ่กว่าผลประโยชน์ที่จะได้

แล้วปัญหาอินเดียก็เกิดขึ้น ที่ประชุมเมือง Samarkand ของอุซเบกิสถาน ในที่ประชุม เราเห็นประธานาธิบดีอินเดีย นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ต่อสู้เพื่อมีฐานะสมาชิกเท่าเทียมกับจีนและรัสเซีย ซึ่งสี จิ้นผิง ยากมากจะให้มีสมดุลเรื่องฐานะสมาชิกของอินเดียแบบจตุรงค์ความร่วมมือด้านความมั่นคง หรือ QUAD ที่โมดีได้รับ มีอดีตอันขมขื่นจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียและสร้างความแตกแยกอยู่แล้ว จีนขัดแย้งกับอินเดียในปัญหาชายแดน อินเดียขัดแย้งกับปากีสถานเรื่องพรมแดน ปี 2020 อินเดียเดินออกจากที่ประชุม เพราะไม่พอใจปากีสถานนำเอกสารมาแสดง มีเส้นเขตแดนกินพื้นที่ของอินเดีย

ตอนนี้โมดีทั้งพยายามจำกัดหนทางเข้าตลาดอินเดียของจีน แล้วอินเดียยังสามารถแสวงหาความเป็นอิสระจากชาติตะวันตก และได้ผลประโยชน์บางส่วนทางเศรษฐกิจและอาวุธจากรัสเซียเนื่องจากไม่ได้วิจารณ์รัสเซียบุกยูเครน

อินเดียมีฐานะดีเพียงพอจากความอ่อนแอของรัสเซีย ที่รักษา “ไข่หลายใบในตะกร้า” แล้วอินเดียยังพยายามใช้ SOC ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2023 เพื่อขยายสถานะของตัวเองกับกลุ่มของชาติตะวันตก

SOC ไม่อาจเบาใจการเพิ่มสมาชิกใหม่ได้ง่ายๆ การเข้ามาของเป็นสมาชิกของอิหร่าน จะเพิ่มความซับซ้อนของกลุ่มทาลิบัน (Taliban) และนโยบายต่างประเทศของอิหร่านมีผลต่อสมาชิกของ SOC ด้วย

กัมพูชาซึ่งได้สถานะประเทศคู่เจรจา ในองค์กรของดินแดนยูเรเซียอันไกลโพ้น จริงๆ ก็ไปเอาหน้ากับจีนผู้ให้กำเนิด SOC ด้วยกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนกำลังขอมติสมาชิกอาเซียนให้สำนักงานเลขาธิการของความร่วมมือภูมิภาคด้านหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Reginal Cooperation on Economic Partnership-RCEP) ที่จีนเป็นผู้ก่อตั้ง ไปตั้งที่กรุงพนมเปญ กัมพูชาหวังเศรษฐกิจ ความชื่นชอบและหน้าตาจากจีน แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับ SCO แล้วอาจสร้างปัญหามากกว่า

ที่เมือง Samarkand เมืองแสนสวยและสำคัญที่สุดในเอเชียกลาง กิจกรรมหลักของการประชุม SOC ถูกจับจ้องเรื่องโมดีพยายามวางตัวเท่ากับสี จิ้นผิง และปูติน และประธานาธิบดีอิหร่าน Ebrahim Raisi เปิดตัวเป็นครั้งแรก

เอเชียกลางและ SOC เป็นอะไรที่มากกว่าเพิ่มพูนความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ปัญหาชาติพันธุ์อยู่ที่นั่นด้วย

1Finbarr Bermingham, “Xi Jinping ro visit Kazakhstan in frist trip out of China since pandemic began” South China Morning Post, 5 September 2022. :1.

2Philip Bowring, “China Pushes Into Russia’s backyard” Asia Sentinent, 15 September 2022

3“ปธน.สี จิ้นผิง ออกนอกประเทศครั้งแรก” PPTV Online 15 กันยายน 2565.

4Finbarr Bermingham, opcit.