โมเดล ‘หมู่บ้านยั่งยืน’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

โมเดล ‘หมู่บ้านยั่งยืน’

 

“คามิคัตสึ” หมู่บ้านเล็กๆ ใจกลางหุบเขาของเกาะชิโกกุ ประเทศญี่ปุ่น

ชาวบ้านทั้งหมด 1,453 คน ร่วมผนึกพลังพัฒนาให้เป็นชุมชนปลอดขยะจนประสบผลสำเร็จเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

ปัจจุบันยังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบ “หมู่บ้านยั่งยืน” ดีที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

ส่วนแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม “เขียว” ของอาคารศูนย์ปลอดขยะที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ 2 ปีก่อนได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลกเช่นกัน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตรุ่งเรืองมั่งคั่งเป็นอย่างมาก ชาวญี่ปุ่นมีรายได้สูงใช้ชีวิตอย่างเสพสุข ซื้อของกินของใช้สารพัด นำไปสู่ปัญหาขยะล้นเมือง

ถ้านับจากปี 2498 ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ปริมาณขยะในญี่ปุ่นมีเพียง 6.3 ล้านตัน แต่ถึงปี 2523 การเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งสุดขีด ปริมาณขยะกระโดดมาเป็น 43.9 ล้านตัน

หมู่บ้านคามิคัตสึ เหมือนๆ กับพื้นที่อื่นๆ ในญี่ปุ่นที่เจอปัญหาขยะล้นเมือง วิธีแก้คือการสร้างเตาเผาขยะ หรือไม่ก็หาที่ฝังกลบ

แต่เก็บไปฝัง เอาไปเผาเท่าไหร่ก็ไม่หมด มิหนำซ้ำเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีกนั่นคือกลิ่นขยะ และควันพิษ

 

มาในปี 2536 ชาวคามิคัตสึหันมาเอาจริงกับการแก้ปัญหาขยะอย่างเป็นระบบด้วยการสำรวจปริมาณขยะทั้งหมดในหมู่บ้านแล้วลงมือร่างแผนปฏิบัติการรีไซเคิล

ปี 2540 รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล ระหว่างนั้นรณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศตระหนักรู้ในความสำคัญของการแยกขยะและลงมือทำอย่างจริงๆ จังๆ

ชาวคามิมัตสึเริ่มต้นแยกขยะประเภทต่างๆ 9 ชนิด เป็นขวดน้ำ กระดาษ ขวดพลาสติก ฯลฯ พอปีถัดมา เพิ่มการคัดแยกขยะเป็น 22 ชนิด

การแยกขยะได้ผล ปริมาณขยะลดลง ผู้บริหารหมู่บ้านคามิมัตสึจึงสั่งปิดโรงเผาขยะ หันไปเพิ่มประเภทขยะที่คัดแยกออกเป็น 35 ชนิด และรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ “คามิคัตสึ” เป็นหมู่บ้านแห่งแรก “ปลอดขยะ” (zero waste declaration) เมื่อปี 2546

ในความหมายของคำว่าขยะเป็นศูนย์หรือปลอดขยะนั้น ไม่ได้หมายความว่าขยะจะไม่เหลืออยู่ในชุมชน แต่หมายถึงอัตราการนำขยะไปรีไซเคิลหรือไปกำจัดทิ้งมีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะที่มีในขณะนั้น อีกทั้งขยะบางประเภทถึงแม้จะกำจัดหรือรีไซเคิลได้ แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็กหรือแพมเพิร์ส

 

ตามสถิติอัตราการรีไซเคิลขยะของชุมชนต่างๆ ในญี่ปุ่นมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 20% ของปริมาณขยะ

ล่าสุดในปี 2559 หมู่บ้านคามิคัตสึคัดแยกแบ่งประเภทขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่มีมากถึง 45 ชนิด

ขยะที่คัดแยกมีตั้งแต่กระป๋องอลูมิเนียม กระป๋องสเปรย์ แบตเตอรี่เก่า โฟมใส่อาหาร ขวดใส ขวดสีน้ำตาล ขวดสีเขียว วัสดุพีวีซี ผ้าอนามัย เซรามิก ไม้ โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปรอทวัดอุณหภูมิ กระจก กระดาษแต่ละประเภท เช่น กระดาษแข็ง กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษทิชชู่ พรม ฟูกที่นอน ฯลฯ

ชาวคามิคัตสึร่วมกันคิดโครงการสร้างอาคารศูนย์ปลอดขยะเพื่อเป็นศูนย์กลางการเก็บขยะทั้งหมดที่มีอยู่ในชุมชนกลับมาใช้ใหม่หรือแปรรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นศูนย์การเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แห่งใหม่ของหมู่บ้าน

อาคารศูนย์ปลอดขยะ คามิคัตสึ และโรงแรมบูติก บนเกาะชิโกกุ เป็นศูนย์เก็บขยะของชุมชนนำกลับมาใช้ใหม่หรือแปรรูป ศูนย์การเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ต้นแบบหมู่บ้านยั่งยืนของญี่ปุ่น (ที่มาภาพ : Koji Fujii)

“ฮิโรชิ นากามูระ” หัวหน้าสถาปนิกของโครงการดังกล่าว ระดมความเห็นของชาวคามิคัตสึเพื่อจะนำขยะรีไซเคิลทั้งหมดที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร

นากามูระออกแบบอาคารมีรูปลักษณ์เมื่อมองจากมุมสูงเป็นเหมือนเครื่องหมายคำถาม แฝงด้วยความหมายวิถีการใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น โครงสร้างหลักของอาคารจะใช้ไม้สนซึ่งเป็นไม้ประจำถิ่น

คามิคัตสึตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคัตสุอูระ มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงเหมาะกับการปลูกต้นสน ในอดีตชาวคามิคัตสึส่วนใหญ่ค้าไม้ นำไม้สนมาสร้างบ้าน แต่ในภายหลังอุตสาหกรรมค้าไม้ในพื้นที่ตกต่ำเนื่องจากไม้สนราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดญี่ปุ่น

ส่วนโครงสร้างอื่นๆ เป็นวัสดุของเก่าไม่ใช้แล้วและอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านนำมาบริจาค เช่น กรอบหน้าต่างไม้เก่า 700 กรอบ นำมาติดตั้งรอบๆ ตัวอาคาร กระจกแตก กระเบื้องเก่า ถ้วยเซรามิกดัดแปลงทำเป็นพื้น ลังพลาสติกที่เคยใช้เพาะเห็ดชิตาเกะนำมาติดตั้งเป็นชั้นหิ้งวางหนังสือ ฟูกที่นอนเก่าเปลี่ยนเป็นโซฟานั่งเล่น

“นากามูระ” บอกว่า วัสดุทั้งหมดที่มีอยู่ต้องคำนึงถึงการใช้งานอย่างเหมาะสมและประกอบให้เป็นอาคารได้อย่างลงตัว คล้ายๆ กับการเล่นเกมต่อจิ๊กซอว์ให้ดูสวยงาม เป็นความรู้สึกเหมือนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แต่ยังคงเป็นภาพตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวคามิคัตสึ

สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องปรับอากาศนั้น ทางทีมสถาปนิกจำเป็นต้องใช้ของใหม่เพราะต้องเข้าเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร การออกแบบติดตั้งได้เน้นให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม

แต่โดยรวมแล้ว การนำวัสดุเก่ามาใช้ใหม่ช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างลงเกือบครึ่ง

 

ศูนย์ปลอดขยะจัดแบ่งพื้นที่อาคารให้เป็นส่วนของคัดแยกถังขยะ 45 ชนิด เป็นถังขยะที่รีไซเคิลได้ ขยะที่นำกลับไปใช้ใหม่ ขยะที่นำไปดัดแปลงเป็นวัสดุอย่างอื่น ขยะอันตรายซึ่งทางศูนย์จะส่งไปกำจัดที่เมืองโตกุชิมะ ใกล้ๆ กับคามิคัตสึ

สถาปนิกยังแบ่งส่วนของอาคารเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาเรียนรู้ พื้นที่ให้อาสาสมัครออกแบบสร้างสรรการแปรรูปขยะ เช่น เอาชุดกิโมโนเก่ามาทำเป็นตุ๊กตาญี่ปุ่น แบ่งพื้นที่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนของใช้ เอาของใช้แล้วมาแลกกับสิ่งของจำเป็น และเปิดให้ชาวบ้านสามารถยืมถ้วยชามไปใช้ฟรีๆ

ในศูนย์แห่งนี้ ยังมีโรงแรมบูติกที่ออกแบบกลมกลืนกับธรรมชาติใช้ขยะรีไซเคิลมาดัดแปลงเป็นส่วนประกอบของอาคาร

โรงแรมดังกล่าวเพิ่งเปิดเมื่อ 2 ปีที่แล้วเป็นช่วงโรคโควิด-19 กำลังระบาด แต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์หมู่บ้านแห่งนี้

ปีแรกที่โรงแรมเปิดมีนักท่องเที่ยวราว 5,000 คนเดินทางมาสัมผัสธรรมชาติของ “คามิมัตสึ” เรียนรู้การรีไซเคิล ชื่นชมสถาปัตยกรรมของศูนย์ปลอดขยะซึ่งได้รับรางวัลการออกแบบจากสถาบันสถาปัตยกรรมแห่งญี่ปุ่น เมื่อปี 2564

“นากามูระ” ให้ความเห็นปิดท้ายว่า แนวคิดปลอดขยะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่กำจัดขยะเพราะนั่นเป็นปลายเหตุ แต่ต้องไปดูจุดตั้งต้นจะทำอย่างไรให้ขยะเกิดขึ้นน้อยที่สุด •