คำ ผกา | 16 ปี รัฐประหาร ไม่วนไปเป็นสลิ่ม

คำ ผกา

คำ ผกา

 

16 ปี รัฐประหาร

ไม่วนไปเป็นสลิ่ม

 

ครบรอบ 16 ปีรัฐประหาร 2549 เราได้บทเรียนอะไรบ้าง?

สำหรับสิ่งที่เจ็บปวดที่สุด ไม่ใช่วงจรอุบาทว์ที่กองทัพออกมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

แต่เจ็บปวดที่สุดคือวงจรอุบาทว์ซึ่งชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาดีในสังคมไทยเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนการรัฐประหารอย่างแข็งขัน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? มาไล่เรียงดูกันอีกรอบ

 

หนึ่ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนประกาศอิสรภาพจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าชนชั้นนำเก่าพยายามกอบกู้ระบอบเก่ามาโดยตลอด และพวกเขาทำสำเร็จโดยการสนับสนุนของอเมริกาภายใต้บริบทสงครามเย็น

และเมื่อสถาปนาอำนานนั้นสำเร็จ พวกเขาได้ใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารและการโฆษณา อุดมการณ์ “ประชาธิปไตยแบบไทย” โดยมีปัญญาชนสาธารณะจำนวนหนึ่งเป็นพันธมิตรช่วยสร้างอุดมการณ์ “ธรรมาธิปไตย” ที่เหนือกว่า “ประชาธิปไตย” และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด

สอง นอกจากความสำเร็จในเรื่องของการสร้างจิตสำนึก/อุดมการณ์/ความเชื่อ/ระบบคุณค่า ว่าด้วยคนดีมีคุณธรรม โดยใช้กลไกของระบบราชการที่พวกเขาสร้างขึ้นมาใหม่ และการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนสังคมใหม่

เช่น ในชนบทใช้เครือข่ายลูกเสือชาวบ้าน และการสร้างชนชั้นกลางใหม่ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของ network ผ่านการตั้งมหาวิทยาลัยรัฐบาลขึ้นในทุกภูมิภาค พร้อมถักทอความสัมพันธ์ ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความสัมพันธ์ ความผูกพัน ความรู้สึกภายใต้การอุปถัมภ์ร่มเย็นอยู่ในความเมตตา ในส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกผูกพันผ่านงานแต่งงาน การตั้งชื่อ ตั้งนามสกุลให้ลูกหลานที่รับใช้ และการเป็นเจ้าภาพงานศพ

สาม ลูกจีนสยามซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดเผชิญภัยคุกคามจากนโยบายเชื้อชาตนิยมของรัฐบาลคณะราษฎร เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม สูงสุด ต่างมีความปรารถนาอยากสำแดงความเป็นไทยให้เป็นที่ประจักษ์สูงสุด เพื่อความอยู่รอด และเพื่อรอดพ้นจากการกลั่นแกล้ง คุกคาม เรียกเก็บส่วยต่างๆ

อีกทั้งเพื่อรอดพ้นจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ (ประเทศจีน = คอมมิวนิสต์)

เป็นกลุ่มคนที่กระโจนลงสู่สนามแห่งการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยคนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มคนที่ภายหลังถูกเรียกว่าเป็น hyper conservative พยายามเป็นไทยยิ่งกว่าไทย น้อมรับและปฏิบัติตามข้อกำหนดแห่งการพิสูจน์ความเป็นไทยแท้ดังคำว่า “ลูกจีนรักชาติ”

 

สามปัจจัยนี้ที่หล่อหลอมให้เกิดเป็นลักษณะร่วมของชนชั้นกลางไทยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกนับตั้งแต่กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ยังไม่นับงานวรรณกรรมอย่างสี่แผ่นดิน ที่สร้างเรื่องเล่า หรือ narrative ที่กลายมาเป็นต้นแบบของ narrative ที่อยู่ในงานเขียนอันปรากฏอยู่ในนิตยสารผู้หญิงอันอ่านกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชนชั้นกลางไทยที่มีการศึกษามาโดยตลอด

นั่นคือ “เรื่องเล่า” ว่าด้วยการเป็นผู้ดีเก่า ชาววัง ลูกท่านหลานเธอ การเขียน บรรยายประวัติของผู้มีเชื้อมีสายพร้อมทั้งบรรยายความรู้ ความสามารถ รสนิยม การศึกษา ความเป็นเลิศทางศิลปะ ดนตรี กีฬา ความงาม ความหล่อ ความจิตใจงดงาม

กระบวนการทำงานเชิงวัฒนธรรมเหล่านี้เคลื่อนไหว สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกันหมดจนตกผลึกเป็นรสนิยม และวัฒนธรรมของชนชั้นกลางไทย

และน่าสนใจและซับซ้อนกว่านั้นคือ ท่ามกลางความไหลลื่นสอดคล้องนี้ก็เกิดกลุ่ม “กบฏ” คิดแปลกแหวกแนวว นั่นคือ ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการหล่อหลอม และได้รับการศึกษามาค่อนข้างดี กลุ่มหนึ่ง เกิดไปศรัทธาแนวทางการต่อสู้แบบ “ซ้าย”

ประจวบเหมาะกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจริงๆ ที่มีการรัฐประหารซ้ำๆ หลายครั้ง เกิด “วงจรอุบาทว์” เผด็จการสืบทอดอำนาจ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านเผด็จการของนักศึกษาไทย เป็นการต่อสู้ 2516 และ 2519

 

ฉันข้อข้ามรายละเอียดแต่สิ่งที่ฉันสนใจคือ ขบวนการต่อต้านเผด็จการเหล่านี้ไม่ได้นำไปสู่การเชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบ 2475 แต่พูดถึงประชาธิปไตยที่มีกลิ่นอายของการต่อต้านนักการเมืองชั่ว โกงกิน ต่อต้านทุนนิยม จักรวรรดินิยม และทำให้ปัญญาชนกลุ่มนี้แตกออกเป็นสองสายไปเลยคือ กลายเป็นสายฝ่ายซ้ายเกลียดอเมริกา ต่อต้านทุนสามานย์ (เท่าที่นึกออก เช่น อนุช อาภาภิรม กับสายที่หันไปแสวงหาคำตอบของประชาธิปไตยจากปรัชญาพุทธศาสนา! (เช่น สายหมอประเวศ วะสี)

วิเคราะห์อย่างหยาบมากๆ แบบไม่ได้ทำการวิจัยเลย ฉันมีข้อสมมุติฐานว่า ชนชั้นนำกลางไทยถ้าไม่เป็นอนุรักษนิยมแบบที่อยู่ใน “เครือข่าย” ก็เป็นฝ่ายซ้าย ทั้งซ้ายที่สมาทานแนวคิดพรรคอมมิวนิสต์ไปเลย ซ้ายกลายพันธุ์ที่เป็นใส่ความเป็น “ไทยนิยม” เอาซ้ายไปไฮบริดกับพุทธศาสนาแบบหมอประเวศ หรือซ้ายไร้เดียงสาแบบที่ยังเป็นนักสู้สุดแสนโรแมนติกกลายเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่แบกอดีตของการเป็นนักสู้แสนเจ็บปวดและงดงามในเวลาเดียวกัน มีซ้ายส่วนน้อยที่หลุดมาเป็นนักการเมือง และน่าสนใจคือ มีทั้งที่อยู่ในพรรคประชาธิปปัตย์ พรรคไทยรักไทย และอยู่ในพรรคอย่างภูมิใจไทยด้วย

ทั้งสามกลุ่มนี้ยกเว้นกลุ่มที่ภายหลังหันมาทำงานกับพรรคการเมือง ล้วนมีศัตรูร่วมกันคือ “นักเลือกตั้ง” และลงรายละเอียดไปอีกว่า อีกจำนวนหนึ่ง ไม่ได้มีศัตรูเป็นนักเลือกตั้ง แต่ใช้ “อิทธิพล” ในฐานะที่เป็นผู้นำทางความคิด เป็นปัญญาชนสาธารณะ มี “เสียง” ที่ชี้นำสังคมไทยมา “ต่อรอง” กับพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ไม่ว่าจะในรูปของการได้เป็นบอร์ด เป็นผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา สื่อสาธารณะ สัมปทานช่องโทรทัศน์ งบประมาณกองทุนวิจัย การตั้งองค์กรอิสระเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน

การได้งบฯ จากรัฐบาลแล้วตัวเองยังได้เป็นแหล่งทุนให้คนจำนวนมาก และใช้การเป็นแหล่งทุนนี้สร้างเครือข่าย พวกพ้องขึ้นมาได้อีก ย้อนกลับไปเป็นพลังในการต่อรองกับนักการเมือง พรรคการเมือง และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อีก

และมีไม่น้อยที่เมื่อไม่ได้อย่างใจก็หันไปสนับสนุนการรัฐประหาร เพื่อสั่งสอนพรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า ถ้าไม่พะเน้าพะนอเอาใจเรา เราจะแผลงฤทธิ์ให้ดู

ที่น่าขยะแขยงคือคนเหล่านี้ล้วนแต่สวมเสื้อคลุมคนดีมีคุณธรม ไม่ได้สวมชุดทหารให้บาดใจศิวิไลซ์ชนแม้แต่น้อย

 

นี่คือ 16 ปีที่ฉันคิดว่าเจ็บปวดที่สุด เจ็บปวดที่ชนชั้นกลางไทยที่มีการศึกษาคือกลุ่มคนที่มีส่วนในการสนับสนุนระบอบ “รัฐประหาร” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ร่วมสร้างวาทกรรมเผด็จการรัฐสภา ชาวชนบทโง่ จน เจ็บ จึงยอมขายเสียง ขายชีวิตให้นักการเมือง และเป็นพันธกิจของชนชั้นกลาง ปัญญาชนต้องเข้ามากอบกู้ คนจนที่น่าสงสาร ที่ขาดความรู้เท่าทัน

ที่เจ็บใจมากๆ คือ คนเหล่านี้ไม่ถูกด่าเหมือนทหาร และหลายครั้งพอคนเริ่มลืมก็เนียนๆ มาเรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการเสียอีก พร้อมทั้งยังส่งความสงสารถึงชาวบ้านไม่รู้จบว่า ยังตกเป็นทาสนักการเมืองตระกูลนั้นตระกูลนี้ – อีห่า ตัวมึงไปเชียร์รัฐประหารอยู่น่ะ เห็นอยู่หลัดๆ

อะไรที่ควรเป็นบทเรียนหลังจากทุกอย่างผ่านไป 16 ปี?

บทเรียนคือ เราควรถอนตัวเองออกจากวาทกรรม “ประชาธิปไตยคุณธรรม” ไปสู่ “ประชาธิปไตย” ที่ไม่ต้องมีคำคุณศัพท์ต่อท้าย ซื่อสัตย์กับหลักการของมัน นั่นคือการเลือกตั้งและการเคารพเสียงข้างมาก และตระหนักว่า นิยามประชาธิปไตยที่ “ดี” ของเราไม่จำเป็นต้องตรงกัน และ “ดี” ของเรา อาจจะไม่ดีสำหรับคนอื่น และเราไม่ควรผูกขาดนิยามความถูกต้องของประชาธิปไตยว่า ของกูดีและถูกอยู่คนเดียว

เพราะเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่ จะไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่จะได้เป็นฟาสซิสต์แทน