ฝาตากฯ / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ฝาตากฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ฝาตาก”

ฝา หมายถึง ฝาเรือน

ตาก ในภาษาล้านนาหมายถึง ผาย เงิบ หงาย เช่น “ตากหงาย” ในภาษาล้านนา หมายถึง ล้มเงิบหงายหลัง

การตากสิ่งของไว้มิได้หมายถึงการนำไปแผ่หรือผึ่งให้โดนแดดอย่างเดียว การตากในร่มไม่โดนแดดก็ถือว่าเป็นการตากแบบหนึ่งเช่นกัน

“ฝาตาก” หรือ “ฝาเติก” คือฝาเรือนแบบหนึ่งในสถาปัตยกรรมล้านนา หมายถึงฝาเรือนหรือฝาอาคารที่มีลักษณะไม่ตรงดิ่งตามแนวตั้ง มีลักษณะเอียงผายหรือมีลักษณะเหมือนว่าจะล้มจนหงายเงิบ

ฝาตากฯ ฝาตาก เฮือนพญาวงศ์ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฝาตาก คุ้มเจ้าราชสีห์เมืองเชียงราย วาดโดยคาร์ล บ็อก (Carl Bock, 1986)

ฝาเรือนหรืออาคารโดยปกติจะตั้งตรง แต่การทำฝาตากนับเป็นเทคนิคและวิธีคิดที่น่าสนใจ เพราะสะท้อนถึงภูมิปัญญาของคนโบราณในการคิดให้ระนาบฝาเอียง การทำฝาเอียงทำให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง

ประการแรก โครงสร้างของเรือนหรืออาคารโบราณนั้นมีเทคนิคภูมิปัญญาสร้างแยกชิ้นฝาก่อนนำมาติดตั้งด้านข้างอาคาร ซึ่งการจะติดตั้งฝานั้นต้องทำโครงหลังคารวมถึงการพาดชายจันทันหรือกลอนด้านข้างให้เสร็จก่อน กรอบโครงฝาไม้ที่มีความแข็งแรงสามารถช่วยพยุงค้ำยันจันทันและชายคาอาคารได้อย่างดี จึงเป็นวิธีที่ดีที่ช่วยทำให้โครงอาคารแข็งแรงขึ้น ทั้งเวลายกติดตั้งด้านข้างของฝาแบบเอียงกระทำได้โดยง่ายกว่าติดตั้งฝาสำเร็จแบบตรงดิ่ง

ประการที่สอง เป็นการเพิ่มพื้นที่เหนือฝาหรือผนังภายในอาคารให้มีที่ว่างมากขึ้น ทำให้ภายในห้องกว้างขึ้น เรือนโบราณมีการตั้งแม่เตาไฟในเรือน ที่ว่างส่วนบนผนังที่มากขึ้นจะช่วยระบายถ่ายเทกระจายควันขึ้นไปได้มากกว่า

ประการที่สาม พื้นที่ที่กว้างขึ้นบนผนังยังสามารถทำชั้นเก็บของทำให้เครื่องใช้ต่างๆ สามารถมีที่เก็บ ไม่รกห้อง

ประการที่สี่ ฝาอาคารที่ผายออกนั้นช่วยดักและเปลี่ยนทิศกระแสลมที่พัดเข้าปะทะผนังอาคารด้านข้าง ทำให้เปลี่ยนทิศทางและลดแรงปะทะ แต่โบราณล้านนามีภูมิอากาศหนาวกว่าปัจจุบัน การทำฝาตากจะช่วยลดแรงปะทะของลมหนาวและช่วยดันลมหนาวให้เปลี่ยนทิศไปใต้ถุนหรือทางอื่น

ประการที่ห้า ฝาตากเป็นวิธีการป้องกันสัตว์หรือแม้แต่คนที่พยายามไต่หรือปีนข้ามเพื่อจุดประสงค์ร้ายต่อทรัพย์หรือคนที่อยู่ภายในอาคารได้ดีระดับหนึ่ง

ประการที่หก ช่วยยืดอายุฝาอาคารที่เป็นวัสดุอายุสั้น เช่น ไม้ไผ่ จากการป้องกันน้ำฝนตกใส่หรือสาดได้มากขึ้น

ประการที่เจ็ด เป็นเรื่องความเชื่อที่ไม่มีหลักฐาน เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของคนบางกลุ่ม เช่น ทำฝาตากเพื่อล้อลักษณะลำตัวควายเพราะควายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่เป็นมงคล คือ แข็งแรงสมบูรณ์และปกป้องภัย เลยอยากให้อาคารมีรูปทรงเหมือนตัวควาย แต่ก็มีอีกแนวคิดหนึ่งจากคนนอกสังคมล้านนาที่สงสัยว่าพม่าบังคับให้คนล้านนาสร้างบ้านให้เหมือนโลงศพพม่าเพื่อให้เกิดความเป็นอัปมงคล ถือเป็นการข่มให้ยำเกรงตามความเชื่อ

แต่ยืนยันว่า สมมุติฐานประการที่เจ็ดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของคนบางกลุ่มเท่านั้น •