ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กันยายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
สุภา ปัทมานันท์ | พลังแห่งคำชม
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้คนเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโควิด ปรับตัวจากมาตรการป้องกันต่างๆ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพื่อนฝูง คนในครอบครัว คนในที่ทำงานก็ไม่เหมือนเดิม มีปัญหาทั้งการงาน การเงิน และมนุษยสัมพันธ์ ทำให้เกิดความเครียด ห่อเหี่ยว ไม่เบิกบานใจ ขาดพลังใจ
เวลาที่คนเราท้อแท้ หมดกำลังใจ ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง หากมีใครสักคนมาให้กำลังใจด้วยการชื่นชมสิ่งที่เราได้พยายามตลอดมา แม้ว่าจะไม่สำเร็จ หรือสำเร็จไม่ครบถ้วนก็ตาม ย่อมให้ความชุ่มชื่นหัวใจ เป็นพลังให้สู้ต่อไปได้
ที่ญี่ปุ่นมีธุรกิจให้บริการ “คำชม” ผู้ริเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของการสร้าง “พลังใจ” ให้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นพลังเพื่อสู้ชีวิตต่อไป และอาจเป็นเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงเป็นลำดับต้นๆ และยิ่งในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก 2-3 ปีมานี้ด้วยแล้ว มีอัตราการฆ่าตัวตายรวมทั้งหญิงและชาย เกินกว่า 20,000 คนทีเดียว
บริษัทแห่งหนึ่งเปิดให้ใช้บริการ “ตู้คำชม” ที่ย่านชิบูยา ย่านพลุกพล่านใจกลางกรุงโตเกียว ตู้นี้มีขนาดความสูงราว 2 เมตร มีขนาดให้คนเข้าไปข้างในได้ ภายในมีจอภาพขนาดใหญ่รอบตัวทั้ง 4 ด้าน และมีหูฟังให้ด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจะให้ลูกค้ากรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับอาชีพ อายุ และคำถามอีกประมาณ 5-6 ข้อผ่านแท็บเล็ตก่อนที่จะเข้าไปในตู้
เมื่อเข้าไปแล้วใส่หูฟัง สักครู่มีดนตรีเบาๆ ประกอบ สร้างความรู้สึกสบายใจ ผ่านไปสักพักที่หน้าจอมีข้อความเป็นประโยค “คำชม” ออกมาปรากฏที่จอรอบๆ ตัว คลื่น “คำชม” เหล่านี้หลั่งไหลออกมา ไม่ว่าจะหันไปทางใด ก็เห็นแต่คำชมตัวเรา และข้อความเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 3 วินาที
“เพื่อนๆ ภูมิใจในตัวคุณมาก”
“หน้าตายิ้มแย้มของคุณทำให้คนรอบข้างมีความสุข”
“ลูกน้องรู้สึกสบายใจที่มีหัวหน้าที่ใส่ใจอย่างคุณ”
“แม้งานจะหนักหนาอย่างไร คุณก็พยายามเต็มที่เสมอ” เป็นต้น
เมื่อสอบถามลูกค้าสาววัย 30 ปี ทำงานเป็นพนักงานในร้านอาหาร เธอเดินออกมาจากตู้หลังจากเข้าไปได้ 3 นาที ด้วยใบหน้าเปื้อนน้ำตา จมูกแดงเรื่อ เมื่อได้รับคำชมเกี่ยวกับงานที่เธอทำ
“คุณเป็นพนักงานแคชเชียร์ที่ยอดเยี่ยม คิดเงินได้รวดเร็ว ถูกต้องที่สุด”
“คุณจำหน้าและชื่อของลูกค้าประจำได้ทุกคน สุดยอดจริงๆ”
“มอบหมายงานให้คุณแล้ว หายห่วงได้เลย ไม่มีผิดหวัง”
เธอบอกเล่าความรู้สึกว่า พอได้อ่านคำชมที่หลั่งไหลออกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว รู้สึกดีใจจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เรื่องที่สามารถจำชื่อลูกค้าได้ หรือเรื่องที่พยายามระมัดระวังอยู่เป็นปกติ แต่คนรอบข้างไม่ได้รู้สึก หรือใส่ใจเห็นคุณค่าเลย
แต่พอมาได้รับคำชมอย่างนี้แล้วรู้สึกดีใจ สุขใจ และอบอุ่นใจมากจริงๆ
“คําชม” เหล่านี้ช่างเหมาะเจาะ ตรงใจผู้ใช้บริการที่เข้าไปในตู้ได้อย่างไร อันที่จริงแล้วเป็นผลจากการช่วยวิเคราะห์ของปัญญาประดิษฐ์ AI นั่นเอง โดยสำรวจ “คำชมที่คุณอยากได้ยิน” จากบุคคลทั้งชายและหญิงจากหลากหลายสาขาอาชีพ ลักษณะนิสัย และช่วงอายุ นำมาประมวลผลให้ใกล้เคียงที่สุดกับผู้ใช้บริการ คงไม่ใช่ว่าทุกคำชมจะสุ่มได้ถูกต้อง แต่ไม่มากก็น้อยน่าจะมีที่ตรงใจผู้ใช้บริการกันบ้างละ
ลองคิดดูว่า ผู้มาใช้บริการก่อนจะเดินเข้าไปใน “ตู้คำชม” ต่างก็มีความรู้สึกห่อเหี่ยวใจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง ไม่มากก็น้อย แต่พอได้เข้ามาอยู่ในบรรยากาศมีคนเข้าใจความรู้สึก เห็นคุณค่าในตัวเรา ชื่นชมเรา แม้ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ทำให้ความอัดอั้น ที่กดทับอยู่ในอก ผ่อนคลายและสลายไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใหญ่วัยทำงานไม่ใช่เด็กเล็กๆ คงไม่ค่อยเคยได้ยินใครมาชมให้ได้ยิน จึงทำให้เกิดรอยยิ้มและน้ำตาแห่งความสุขของผู้ใช้บริการหลายๆ คนได้
จากการสำรวจคนวัย 20-60 ปีขึ้นไป จำนวน 2,718 คน พบว่า กว่า 70% บอกว่าไม่เคยได้รับ “คำชม” จากหัวหน้า และอีกกว่า 80% ยอมรับว่า “คำชมจะสร้างแรงบันดาลใจในทางที่ดี” ได้
บริษัทผู้ให้บริการเปิดเผยว่า ไอเดีย “ตู้คำชม” นี้มาจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ญี่ปุ่น บริษัททำการสำรวจแล้วพบว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมีแต่ความคิดในเชิงลบมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด จึงเป็นเหตุให้ไม่ค่อยได้ยินคำพูดเชิงสร้างสรรค์ หรือให้กำลังใจ และเมื่อต้องเวิร์กฟรอมโฮมกันมากขึ้น ไม่ได้พบหน้ากัน จะพูดคุยแบบปกติยังยาก จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องจะพูดชมเชยกันให้มีกำลังใจ ดังนั้น การได้หยุดพักจากความวุ่นวายใจแล้วได้ยิน “คำชม” ที่หลั่งไหลมาให้ได้ยินแบบจุกๆ (ภาษาวัยรุ่น) คงจะเพิ่ม “พลังฮึดสู้” ให้แก่ผู้คนได้
เมื่อได้ยิน “คำชม” จาก AI จะทำให้รู้สึกเป็นสุขใจได้จริงหรือ
ศาสตราจารย์คิคุโนริ ชิโนฮารา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ให้ความเห็นว่า แม้จะเป็นคำชมที่ได้จากการ์ดภาพ หรือหุ่นยนต์ ซึ่งไม่ใช่ “มนุษย์” แต่ก็ให้ผลเช่นเดียวกับการชมกันต่อหน้า เมื่อได้รับการชมเชย สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา และมีกลไกให้จดจำแล้วทำสิ่งเดิมซ้ำอีกเพื่อจะได้รับคำชมอีก เป็นการสร้างความทรงจำและเพิ่มความชำนาญในการทำสิ่งเดิมซ้ำๆ นั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น หากได้เห็นตัวอักษร หรือภาพสิ่งที่เคยทำสำเร็จ พร้อมกับได้ยินคำชมด้วย จะยิ่งเพิ่มแรงกระตุ้นให้ทำสิ่งที่จะได้รับคำชมเพิ่มขึ้นอีก
แม่ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ติดรูปถ่ายลูกชายขณะอายุ 3 ขวบ ตอนที่ขี่จักรยานแบบเพิ่มล้อช่วยไว้ด้านหลัง ที่ผนังห้องที่ลูกชายวัย 5 ขวบในขณะนี้จะมองเห็นได้ เมื่อมองดูภาพนี้เธอจะชมเขาว่าตอนนั้นเขาขี่จักรยานเองได้ ขณะนี้เขากำลังพยายามหัดขี่จักรยานโดยไม่มีล้อเล็กๆ ช่วย เด็กชายบอกว่าเมื่อมองดูภาพแล้วรู้สึกดีใจว่าเคยทำสำเร็จมาแล้ว คุณแม่บอกว่าการได้เห็นภาพทำให้ลูกชายมี “ความพยายาม” และเป็นพลังให้เขาทำสิ่งที่ยากขึ้นอีกขั้นหนึ่งให้ได้
ปัจจุบันนี้ พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นได้นำวิธีการชมเชยเด็กด้วยรูป มาประยุกต์ใช้ในครอบครัวกันแพร่หลายมากขึ้น พ่อแม่ที่ไม่ค่อยชมลูกหรือไม่รู้ว่าต้องชมอย่างไร เมื่อนำภาพที่เด็กดูแล้วหวนคิดถึง “ความพยายาม” ที่นำไปสู่ “ความสำเร็จ” ของตัวเองมาติดไว้ เป็นการตอกย้ำความชื่นชมที่ได้รับ ทำให้รู้สึก “เห็นคุณค่าในตัวเอง” และเพิ่มแรงบันดาลใจให้แก่เด็กได้
ก็ผู้ใหญ่เองยังอยากได้รับการยอมรับและคำชมเชยนี่นา
ใครว่า “พลังแห่งคำชม” ไม่สำคัญ