ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (98) ไฟป่าเผา “แคลิฟอร์เนีย”

เหตุการณ์ไฟป่าเผาพื้นที่เกือบ 5 แสนไร่ เต็มไปด้วยไร่องุ่น บ้านพักตากอากาศ ศูนย์ธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว โรงพยาบาล ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วราว 30 คน หายไปอีกกว่า 400 คน หน่วยดับเพลิงต้องระดมกำลังเกือบ 10,000 นายเข้าไปช่วยสกัดเพลิงไม่ให้ลุกลาม และต้องอพยพประชาชน 20,000 คนออกจากเขตอันตราย

ถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่

บางคนตั้งข้อสันนิษฐานเป็นฝีมือพวกขี้ยาทิ้งก้นบุหรี่บนหญ้าแห้ง

แต่อีกหลายฝ่ายเชื่อว่า น่าจะมาจากฟ้าผ่ากลางป่า เกิดประกายไฟลุกไหม้ ขณะที่มีกระแสลมแรงและพื้นที่บริเวณดังกล่าวแห้งแล้งเนื่องจากมีภัยแล้งกินเวลายาวนาน

 

“ฮิลลารี คลินตัน” อดีตผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของพรรคเดโมแครต เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอาจเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดไฟป่าในแคลิฟอร์เนีย

“ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีพายุเฮอริเคน แล้วมาเกิดแผ่นดินไหว คราวนี้ก็มีไฟไหม้ครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติศาสตร์” นางคลินตันให้ความเห็น

ในเว็บไซต์ชื่อ “Union of Concerned Scientists” เป็นเว็บไซต์ด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐ ตั้งคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าในฝั่งตะวันตกใช่หรือไม่

เว็บไซต์ดังกล่าวให้คำตอบว่า อากาศร้อนและภาวะแห้งแล้งในฤดูร้อน เป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟป่าเผาผลาญพื้นที่เป็นเวลากว้างในเวลาอันรวดเร็ว อีกสาเหตุหนึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพผืนดินมาเป็นพื้นที่ชุมชน

เมื่อถามว่า ภาวะโลกร้อนจะเป็นชนวนเกิดความเสี่ยงกับไฟป่าเพิ่มขึ้นหรือไม่

คำตอบมีว่า จากภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ผิวดินที่เคยชุ่มชื้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เมื่อเกิดฤดูไฟป่าในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิ เปลวไฟโหมกระพือเร็วมากลุกลามในพื้นที่ป่าฝั่งทางตะวันตกอันแห้งแล้งและผิวดินที่แห้งกรังอย่างรวดเร็ว

เว็บไซต์ยังเชื่อว่า ไฟป่าที่ลุกลามอย่างรวดเร็วนั้น นอกเหนือจากความร้อนแล้วยังมีปัจจัยจากกระแสลมชื่อ “ซานต้า แอนนา” (Santa Ana winds)

 

ในวันเกิดเหตุไฟไหม้ป่ารัฐแคลิฟอร์เนีย นั้น “ซานต้า แอนนา” มีความเร็วลมแรงอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังฝั่งตะวันตก เป็นทั้งลมแรงและอากาศที่แห้งจัด

รัฐแคลิฟอร์เนีย เกิดภาวะแห้งแล้งและไฟป่าเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้ลดลง เชื่อว่าภาวะแห้งแล้งที่กินเวลายาวนานในรัฐแคลิฟอร์เนียจะเกิดขึ้นถี่บ่อยเมื่อเปรียบเทียบกับ 100 ปีก่อน

ความแห้งแล้ง อากาศร้อนจัดทำให้ผิวดินร้อนระอุ น้ำที่อยู่ในดินระเหยออกสู่อากาศ มีผลต่ออุณหภูมิร้อนมากขึ้นและร้อนยาวนานขึ้นกว่าปกติ และเกิดคลื่นความร้อน

นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา รัฐแคลิฟอร์เนียเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง และไฟป่าแต่ละครั้งกินเวลานาน

เฉพาะไฟป่า ถ้านับจากกลางทศวรรษ 1980 ถึงปัจจุบัน เกิดไฟป่ามากขึ้น 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงระหว่างปี 2513-2529 และ 2529-2543 บริเวณเกิดไฟไหม้กินพื้นที่กว้างถึง 6 เท่าตัว และระยะเวลาไฟไหม้ยาวนานกว่าถึง 5 เท่า

 

ผลจากไฟไหม้ป่า ทำให้เกิดควันพิษ เขม่าขี้เถ้า กระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์คุณภาพอากาศของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ระบุว่า ไฟป่าที่เผาผลาญพื้นที่ไร่องุ่นของรัฐแคลิฟอร์เนียเพียง 2 วัน ทำให้เกิดควันพิษเขม่าและอนุภาคเล็กๆ เทียบเท่ากับควันรถยนต์จำนวน 35 ล้านคันในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ปล่อยออกมาทั้งปี

รถยนต์ปล่อยเขม่าควันมีขนาด 2.5 ส่วนต่อล้านส่วน เป็นเขม่าควันที่มีพิษต่อร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากปัญหาสุขภาพร่างกายแล้วไฟป่ายังส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ระหว่างปี 2543-2552 บ้านเรือนทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าของสหรัฐ เฉลี่ยแล้วตกราวปีละ 665 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลกลางสหรัฐใช้งบประมาณเพื่อควบคุมจัดการไฟป่าปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าเทียบกับปี 2543 งบประมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่าตัว

บ้านเรือนชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ เช่น เบย์เอเรีย และทางเหนือของเมืองซาคราเมนโต เมืองหลวงของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า

 

“แดเนียล สเวน” นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งนครลอสแองเจลลิส หรือยูซีแอลเอ เป็นอีกคนเชื่อว่า ฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิร้อนแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างชัดเจน

“ที่ชัดยิ่งกว่านั้น อิทธิพลของคนที่มีผลต่อระบบภูมิอากาศในฝั่งตะวันตกของสรัหฐและครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้น จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามากขึ้น” สเวนให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี

ต้นไม้ที่แห้ง ผืนดินที่แล้งน้ำ ทำให้ไฟที่ลุกไหม้โหมกระพือลามพร้อมกับกระแสลมที่แรงจัด จากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่หนึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว

พื้นที่ไฟป่าเผาผลาญในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่ปี 2527-2558 เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวหรือประมาณ 25 ล้านไร่

 

ขณะที่ในรายงานของผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอดาโฮ ระบุว่า สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะฝีมือคนทั่วโลกนั้นเป็นตัวผลักดันให้เกิดไฟป่าอย่างต่อเนื่อง

ก๊าซเรือนกระจกที่คนปล่อยขึ้นไปในอากาศเป็นกับดักความร้อนในชั้นบรรยากาศโลกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร้อนมากขึ้น ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่ออากาศร้อน ไม่มีความชื้น ไม่มีฝน เกิดภาวะแล้งจัดตามมา ดูได้จากค่าเฉลี่ยฝนตกในรัฐแคลิฟอร์เนียต่ำมาก

นักวิทยาศาสตร์ยังชี้อีกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้น้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณตอนกลางและตะวันออกมีอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติ มีความสัมพันธ์กับภูมิอากาศแห้งแล้ง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไฟไหม้ในรัฐแคลิฟอร์เนียลุกลามรุนแรง

ปรากฏการณ์เอลนีโญเคยส่งผลกระทบไปทั่วโลกในระหว่างปี 2540-2541 เพราะทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรง นำไปสู่เหตุไฟป่าทั้งในอินโดนีเซีย ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของรัสเซีย บราซิล อเมริกากลางและรัฐฟลอริดา

เพราะฉะนั้น ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียจึงอาจมิใช่เป็นแค่ปรากฏการณ์ธรรมดา หากเป็นผลจากความผิดปกติของธรรมชาติที่มาจากฝีมือของ “คน” ทั้งโลกนั่นเอง