คณะทหารหนุ่ม (6) พล.อ.ฉลาด ‘ดาวรุ่ง’ แห่งกองทัพบก | บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

คณะทหารหนุ่ม (6)

พล.อ.ฉลาด ‘ดาวรุ่ง’ แห่งกองทัพบก

 

พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เป็นนายทหารที่มีประวัติรับราชการดีเด่นระดับ “ดาวรุ่ง” ที่ถูกจับตาจากสังคมในขณะนั้นว่ามีโอกาสจะก้าวถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในช่วงที่สถานการณ์การเมืองการทหารของประเทศอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้ง พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ จบออกรับราชการครั้งแรกที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ.2482 ผู้บังคับกองร้อยคนแรกคือ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์อันแนบแน่นและยาวนานจนตลอดชีวิต

อนึ่ง ควรทราบไว้อีกด้วยว่า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ มีเพื่อนร่วมรุ่น พ.ศ.2482 นามนักเรียนนายร้อย ชาติชาย ชุณหะวัณ นักเรียนนายร้อย สายหยุด เกิดผล และนักเรียนนายร้อย สง่า กิตติขจร น้องชายจอมพลถนอม กิตติขจร

อีกทั้งนายทหารรุ่นใกล้เคียงกันที่จะมีบทบาทสำคัญในช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้แก่ รุ่น พ.ศ.2480 นักเรียนนายร้อย เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กับนักเรียนนายร้อย ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รุ่น พ.ศ.2481 นักเรียนนายร้อย เปรม ติณสูลานนท์ รุ่น พ.ศ.2485 นักเรียนนายร้อย วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์

พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ผ่านราชการสงครามต่างประเทศทั้งสงครามเกาหลีในตำแหน่ง “นายทหารยุทธการ” และสงครามเวียดนาม ในตำแหน่ง “ผู้บัญชาการกองกำลังทหารไทยในเวียดนาม”

ทางด้านการศึกษาก็สอบได้ที่หนึ่งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐ เคยเป็นผู้บัญชาการสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูงซึ่งบังคับบัญชาหน่วยการศึกษาสำคัญ ทั้งวิทยาลัยการทัพบก และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

พ.ศ.2518 ขณะอายุ 52 ปี พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ดำรงตำแหน่ง “ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก” หนึ่งใน “5 เสือ ทบ.” เหลือชีวิตราชการถึง 8 ปี โอกาสขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของกองทัพบกจึงอยู่แค่เอื้อม

พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ

‘ตท.1’ ตบเท้า

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ หนึ่งในคณะทหารหนุ่มบันทึกไว้ใน “พ.อ.มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติ” ว่า ในช่วงสุญญากาศกองทัพบกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลานั้น นายทหารระดับกลางหลายกลุ่ม “มีโอกาสฟักตัวและรวมกลุ่มกันเข้ามาอย่างเงียบๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทหารระดับกลางของพี่นูญ หรือกลุ่มทหารระดับกลางของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ หรือกลุ่มทหารประชาธิปไตยก็ตาม”

“กลุ่มทหารระดับกลางของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ” นี้หมายถึงการรวมตัวของอดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 1 ซึ่งมี ร.อ.อัศวิน หิรัญศิริ บุตรชายของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เป็นหนึ่งในแกนนำ

กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.2519 หลังคำสั่งย้าย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ จากรองผู้บัญชาการทหารบกข้ามฟากไปเป็นที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุดเพียงสองเดือน ก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทหารระดับกลางประมาณ 20 คน เข้าพบนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่บ้านพักโดยการประสานงานของนางพรรณทิพา วัชโรบล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นกลุ่มของ ร.อ.อัศวิน หิรัญศิริ นั่นเองที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่บิดา

พล.อ.ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า การที่กลุ่มนายทหารหนุ่มไปร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีให้ย้าย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ กลับคืนตำแหน่งเดิมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการโยกย้ายเป็นเรื่องในดุลพินิจของผู้บัญชาการทหารบก

ติดตามมาด้วยรายงานข่าวจากกองทัพบกแจ้งว่า ได้ทำการสอบสวนนายทหารทุกคนที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีแล้ว และเตรียมโยกย้ายให้ไปปฏิบัติราชการชายแดนเพื่อเป็นการลงโทษ

 

ฝักฝ่ายในกองทัพบก

การเคลื่อนไหวคัดค้านคำสั่งย้าย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และปฏิกิริยาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเหมือนลิ่มที่ตอกเข้าไปในรอยร้าวระหว่าง 2 ฝ่ายของนายทหารในกองทัพขณะนั้น คือ

ฝ่าย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ กับ พล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพบก

ฝ่าย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ

แต่เมื่อมองลึกลงไปในขุมกำลังของแต่ละฝ่ายแล้ว ในส่วนของกองทัพบก เอกภาพในการควบคุมบังคับบัญชายังไม่ฟื้นตัว พลังอำนาจของผู้นำจึงยังไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะทหารหนุ่มซึ่งมีลักษณะเป็นอิสระและกำลังสะสมกำลังก็อยู่ในลักษณะสงวนท่าทีไม่เลือกฝ่าย

ส่วนอีกฝ่ายที่มีกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้นำนั้นไม่มีกำลังเป็นของตัวเอง กองทัพอากาศและกองทัพเรือก็ไม่มีศักยภาพพอที่จะแสดงบทบาทชี้ขาดต่อสถานการณ์แต่อย่างใด

การแบ่งฝ่ายครั้งนี้จึงมีลักษณะของการเผชิญหน้ากันระหว่าง “เสือกระดาษ” ขณะที่เสือตัวจริงคือคณะทหารหนุ่มที่ “ซุ่มซ่อนกำลัง รอคอยโอกาส” อย่างอดทน

 

ปฏิกิริยาจากกองทัพบก

ต่อ ‘กลุ่มนายทหารหนุ่มๆ’

แน่นอนว่า “กลุ่มนายทหารหนุ่มๆ” ที่เข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ครั้งหลังเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2519 นี้ ย่อมไม่ใช่ “คณะทหารหนุ่ม” ที่เข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คัดค้านการเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ก่อนหน้านี้เมื่อ 13 เมษายน 2519 เป็นอันขาด

สังเกตหรือไม่ว่า การเข้าพบของ “คณะทหารหนุ่ม” นั้นไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากกองทัพบก แต่ปฏิกิริยาต่อ “คณะทหารหนุ่มๆ” ครั้งหลังนี้กลับรวดเร็วยิ่ง รุนแรงยิ่ง สอดคล้องกับปฏิกิริยาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โปรดอย่าลืมว่า การโยกย้าย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ จากรองผู้บัญชาการทหารบกไปเป็นที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุดนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่มีการโยกย้าย พล.อ.โชติ หิรัณยัษฐิติ จากรองผู้บัญชาการทหารบกไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม

แล้วเลื่อน พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ จากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก “ข้ามหัว” พล.อ.เสริม ณ นคร เสนาธิการทหารบก เพื่อขยับขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว

 

คณะทหารหนุ่มเคลื่อนไหวครั้งที่สาม

ระหว่างการต่อสู้ของสองกลุ่มผู้นำในกองทัพ คณะทหารหนุ่มก็เคลื่อนไหวอีกเป็นครั้งที่สาม โดยกลับมาประเด็นต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้แก่ การจัดนิทรรศการ “วันประชาธิปไตย” ขึ้นที่บริเวณสนามชัยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2519 ในวันเดียวกับที่นิสิตนักศึกษาจัดนิทรรศการสาธารณรัฐประชาชนจีนที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การจัดงานครั้งนี้ พ.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญโดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน จปร.7 พ.ต.แสงศักดิ์ มังคละศิริ รองผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ในการจัดสถานที่และกำลังพล

ส่วนการแสดงอาวุธที่ยึดได้จากฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้นได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบก

นิทรรศการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อต่อต้านกระแสซ้ายจัดของนิสิตนักศึกษาและเป็นการหยั่งเสียงประชาชนไปด้วยในตัว

ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนมากมาร่วม ทำให้คณะทหารหนุ่มเกิดความเชื่อมั่นในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านกระแสซ้ายจัด

และมีความเชื่อมั่นสูงว่า ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เห็นหันเหตามกระแสซ้ายจัด

จากเดือนกรกฎาคม 2519 เป็นต้นมา พ.ต.จำลอง ศรีเมือง ขยายผลความสำเร็จด้วยการแสวงหาความสนับสนุนจากกลุ่มพลังอื่นๆ ที่ต่อต้านกระแสซ้ายมากยิ่งขึ้น โดยได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “ชมรมแม่บ้าน” ซึ่งมีบทบาทอย่างเข้มแข็งในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และฝ่ายก้าวหน้า

ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พ.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำสมาชิกชมรมแม่บ้านไปรวมตัวขับไล่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย

ขณะที่ความขัดแย้งระหว่าง “ฝ่ายขวา” และ “ฝ่ายซ้าย” ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ จนเกิดเหตุการณ์นองเลือด “ขวามพิฆาตซ้าย” เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

 

6 ตุลา กับคณะทหารหนุ่ม

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นั้น พ.อ.จำลอง ศรีเมือง อธิบายไว้ใน “ยังเติร์ก กับทหารประชาธิปไตย” ว่า เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่อยู่ตามกองพันต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครได้เคลื่อนกำลังออกประจำที่จุดสำคัญต่างๆ ในขณะนั้น พ.ต.ประจักษ์ สว่างจิตร ซึ่งประจำการอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก็ได้นำทหารส่วนหนึ่งลงมาที่กรุงเทพฯ ด้วย การที่ทหารเคลื่อนกำลังออกมาเพื่อรักษาความสงบและรักษาพื้นที่ตามคำกล่าวของ พ.อ.จำลอง ศรีเมือง นั้นได้เอื้ออำนวยให้นายทหารระดับสูงอาศัยโอกาสนี้ประกาศให้มีการยึดอำนาจในนามคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นอย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้ว ในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 นั้น ยังไม่มีนายทหารระดับสูงคนใดคิดหรือมีศักยภาพเพียงพอที่จะก่อการรัฐประหารเลย

ดังนั้น กำลังทหารที่ออกมาเพื่อรักษาความสงบจึงกลายเป็นเครื่องช่วยให้คณะปฏิรูปที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าทำการ “รัฐประหารทางวิทยุ” ได้อย่างง่ายดาย

พ.อ.จำลอง ศรีเมือง ยังกล่าวด้วยว่า ตนเองและสมาชิกคณะทหารหนุ่มมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่อย่างใด

พล.อ.สุรพล ชินะจิตร หนึ่งในสมาชิกคณะทหารหนุ่มได้อธิบายเพิ่มเติมกับผู้เขียน (พฤศจิกายน พ.ศ.2564) ว่า การปฏิรูปการปกครองเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นั้น แม้มีกำลังในบังคับบัญชาของคณะทหารหนุ่มออกมารักษาความสงบตามจุดสำคัญในกรุงเทพฯ แต่ก็เป็นเพียงการเคลื่อนย้ายกำลังโดยคำสั่งกองทัพบก ตามแผนรักษาความสงบในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

กองทัพบกเองซึ่งมี พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็มิได้มีความมุ่งหวังที่จะกระทำการรัฐประหาร รวมทั้งมิได้อยู่ในความคิดของคณะทหารหนุ่มแต่อย่างใด

แต่ความสำเร็จในการยึดอำนาจโดยมีกำลังหลายกองพันของ “นายทหารระดับกลาง” ที่ออกมาประจำตามจุดสำคัญในกรุงเทพมหานคร ได้ทำให้เกิดการรับรู้ใหม่ในหมู่คณะนายทหารหนุ่มว่า แท้จริงแล้วความสำเร็จนี้เกิดจาก “อำนาจปืน” ของหน่วยระดับกองพันที่ตนควบคุมบังคับบัญชาอยู่

คณะทหารหนุ่ม – นายทหารระดับกลางยศพันตรีจึงเริ่มตระหนักเป็นครั้งแรกในพลังอำนาจที่มีลักษณะชี้ขาดของตน

และเมื่อมี “ครั้งแรก” เกิดขึ้น ก็จะมีครั้งที่สองตามมาอีกในไม่ช้า