มองทวนสวนกระแสอเมริกัน : ปังกัช มิชรา (2)/การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสอเมริกัน

: ปังกัช มิชรา (2)

Pankaj Mishra ปัญญาชนสาธารณะทวนกระแสชาวอินเดียได้ให้สัมภาษณ์ข้ามรุ่นกับคนอเมริกัน Gen Z หลังสงครามเย็นแห่งนิตยสาร the drift เมื่อกลางปีนี้ชื่อ “ศรัทธาวิบัติต่ออเมริกา” (https://www.thedriftmag.com/a-catastrophic-loss-of-faith-in-america/) โดยเสนอการอ่านตีความการเมืองโลกที่มองทวนสวนกระแสหลักของอเมริกากับโลกตะวันตกท่ามกลางสงครามเย็นกับจีนและสงครามตัวแทนกับรัสเซียในยูเครนจากมุมประวัติศาสตร์ระยะยาวและภูมิรัฐศาสตร์อันกว้างออกไป

ผมขอนำมาเสนอต่อดังนี้ :

 

บรรณาธิการ : เราควรอ่านสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ตอนนี้ยังไงดีครับ? สหรัฐก็ลังเลที่จะเป็นตำรวจโลก ข้างจีนก็มีอำนาจเพิ่มขึ้นในโลกที่กระจายศูนย์ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เข้ามาประกอบกันยังไง?

ปังกัช : กรอบการมองแบบสงครามเย็นก็ยังครอบงำเรื่องนี้อยู่อีกนั่นแหละครับ แล้วไอ้กรอบเหล่านั้นน่ะหมายถึงอะไรบ้างทุกวันนี้ นอกจากตั้งงบประมาณกลาโหมสูงขึ้น ขุดเจาะน้ำมันด้วยการทำให้หินแตกเพิ่มขึ้น และทำเหมืองถ่านหินมากขึ้น รวมทั้งเพิกเฉยละเลยต่อภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศยิ่งขึ้นทุกที?

มันหมายความอย่างนี้ครับ ว่าเราต้องสร้างพันธมิตรต่อต้านสิ่งที่มีศักยภาพจะเป็นภัยคุกคามอำนาจของเราขึ้นมาใหม่หลังพันธมิตรเหล่านั้นถูกโดนัลด์ ทรัมป์ ป่วนจนเสียกระบวนและบ่อนทำลายไป ว่าเรามิอาจสูญเสียยุโรปไปตอนนี้ ว่าเราประสบความเพลี่ยงพล้ำบ้างในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียใต้ และเราถูกล็อกให้ต้องประชันขันแข่งกับจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และฉะนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวเหล่านี้ทั้งหมด มันจึงสำคัญที่เราต้องคงกำลังของเราไว้ในยุโรป ต่อให้มันต้องทำผ่านการสนับสนุนสงครามนองเลือดในยูเครนที่อาจไม่รู้จบ หรือต่อให้ต้องเข้าเป็นหุ้นส่วนกับระบอบปกครองไม่เสรีนิยมในโปแลนด์และฮังการีก็ตาม สำหรับผมแล้ว ความคิดที่ว่าเราต้องดึงยุโรปมาอยู่ข้างเราเพื่อประชันขันแข่งในศึกที่ใหญ่กว่ากับจีนนั้นดูเหมือนจะเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายอเมริกันตอนนี้ครับ

ในความหมายนั้น ผมคิดว่ามีการขยับเปลี่ยนนิดหน่อยจากสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ครับ ทรัมป์คิดว่าเขาประชันขันแข่งกับจีนได้โดยไม่ต้องเอายุโรปมาเป็นพวกด้วย แต่รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนนั้นกลับประกอบด้วยคนที่ปลื้มยุโรปมาก จะว่ากันไปแล้วพวกที่บริหารกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอยู่ตอนนี้รู้เรื่องยุโรปมากกว่าเอเชียหรือส่วนใหญ่ของแอฟริกาหรือละตินอเมริกาอักโข ฉะนั้น พวกเขาก็นับญาติกับยุโรปและกำลังกระชับสายสัมพันธ์ฉันเครือญาตินั้นให้ลึกซึ้งขึ้นอยู่เดี๋ยวนี้

ทว่า เป้าโจมตีหลักของพวกนักวางแผนยุทธศาสตร์อเมริกันและเอาเข้าจริงก็สำหรับปัญญาชนบริกรที่คอยช่วยนักวางแผนเหล่านั้นด้วย ซึ่งผมหมายถึงพวกที่สังกัดสถาบันคลังสมอง พวกที่เขียนบทบรรณาธิการ หรือบทความในหนังสือพิมพ์กระแสหลักนั้น คือจีนครับ

ผมคิดว่าเป็นที่ตระหนักรับกันกว้างขวางทุกแห่งหนว่ารัสเซียทำความผิดพลาดขั้นหายนะในยูเครนครับ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันด้วยว่าสงครามครั้งนี้จะมีผู้แพ้ทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันแต่ด้วยเหตุผลอื่นๆ มันยากเย็นแสนเข็ญนะครับที่จะชักจูงนานาประเทศทั้งในและนอกยุโรปให้ค้ำจุนพันธมิตรใดๆ กับอเมริกาในการต่อต้านจีนอย่างยั่งยืน

จีนได้เจาะทะลวงเข้าไปลึกมากในยุโรป ผมไม่ได้หมายถึงกับสหภาพยุโรปโดยรวมนะครับ แต่โดยผ่านพันธมิตรและความสัมพันธ์แยกต่างหากจากกันกับประเทศต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกับเยอรมนี ซึ่งเป็นข้อต่ออ่อนเปราะที่สุดตอนนี้ในพันธมิตรของอเมริกาเพื่อต่อต้านทั้งรัสเซียและจีน

ขณะเดียวกันก็มีความคิดทำนองนี้ว่าจีนสนใจจะขยายเขตแดนด้วย ฉะนั้น เราจึงได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจีนกำลังจะโจมตีไต้หวันแล้ว ผมไม่รู้หรอกครับว่าจีนมีความทะเยอทะยานเรื่องเขตแดนทำนองนั้นหรือเปล่า แต่ผมรู้สึกว่าจีนแบกรับต้นทุนของความทะเยอทะยานแบบนั้นไม่ไหว

จีนน่าจะสนใจปกป้องเศรษฐกิจอันเปราะบางยิ่งของตนและประกันความมั่นคงของซัพพลายพลังงานรวมทั้งซัพพลายผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากกว่าทุกอย่างที่จีนทำมาไม่ว่าโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง การเปิดท่าเรือต่างๆ ในปากีสถานหรือศรีลังกา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศยากจนทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามที่จะประกันความมั่นคงของซัพพลายเหล่านั้นทั้งสิ้น

จีนรู้อยู่เต็มอกครับว่าอเมริกันกำลังลาดตระเวนทางเดินเรือทะเลแคบๆ เหล่านั้นอยู่ ไม่ว่าจะในอ่าวเปอร์เซียหรือย่านเอเชียแปซิฟิก และฉะนั้น จึงต้องการจะสร้างเครือข่ายของตัวเองขึ้นมาบ้าง

เรามักลืมไปนะครับว่าสหรัฐต่างหากที่มีเครือข่ายฐานทัพทั่วโลก ไม่ใช่จีน สหรัฐต่างหากที่กำลังทำตัวเป็นตำรวจคอยตรวจตราสอดส่องพื้นที่อันกว้างใหญ่ของโลกที่ซึ่งจีนเป็นผู้เล่นหลักทางเศรษฐกิจอยู่ด้วยประเทศหนึ่ง ทั้งที่จีนยังเป็นฝ่ายตั้งรับเอามากๆ ทีเดียว แต่กระนั้นสถาบันทางทหารและภูมิปัญญาของสหรัฐกลับบรรยายเสมอว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ความช่วยเหลือมหาศาลที่สหรัฐให้แก่ความพยายามสู้รบในสงครามของฝ่ายยูเครนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่าในการปิดล้อมจีนที่ว่านี้ครับ ซึ่งทำให้เครืออุตสาหกรรมทหารและเครืออุตสาหกรรมภูมิปัญญาอเมริกันมีกิจการคึกคักเลยทีเดียว

ปังกัช มิชรา & หนังสือ From the Ruins of Empire : The Revolt against the West and the Remaking of Asia, 2012

บรรณาธิการ : คุณบอกเราทางอีเมลว่าคุณอยากอภิปรายเรื่องบทบาทของการถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีในชีวิตของบุคคลและส่วนรวม รวมทั้งในเรื่องเล่าชาตินิยมด้วย ทำไมเราถึงควรคิดเรื่องการถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีในประเด็นนี้ด้วยล่ะครับ? และมองกว้างออกไป คนรัสเซียเขารู้สึกกันยังไงและปูตินเร่งเร้าระดมและฉวยใช้ความรู้สึกเหล่านั้นยังไงครับ?

ปังกัช : ผมไม่รู้ว่าเราควรเชื่อถือโพลสำรวจทัศนคติของปูตินแค่ไหนนะครับ แต่ดูเหมือนว่าคนรัสเซียส่วนใหญ่อย่างล้นหลามคิดว่าปูตินกำลังทำงานได้เยี่ยมมากเลย มองในระดับหนึ่ง นี่เป็นเรื่องน่าห่อเหี่ยวใจแต่ก็พอเข้าใจได้ด้วยถ้าคุณคำนึงว่าเรื่องเล่าเฉพาะเจาะจงที่กระพือใส่คนรัสเซียมาสามทศวรรษแล้วนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องความประสงค์ร้ายของพวกตะวันตก การขยายตัวของนาโต และเหล่าผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันที่เข้ามาปู้ยี่ปู้ยำประเทศของพวกเขา

พวกนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์อเมริกันเคยหนุนหลังนักการเมืองไม่เอาไหนและไร้หิริโอตตัปปะที่สุดบางคนในรัสเซีย อย่าง อีกอร์ ไกดาร์ (Yegor Gaidar, 1956-2009, นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมืองและอดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซียเมื่อปี 1992 เขาเป็นสถาปนิกการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบช็อกบำบัดหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายซึ่งทำให้คนรัสเซียพากันตกทุกข์ได้ยากและเงินเฟ้อไฮเปอร์ขนานใหญ่) และ อนาโตลี ชูไบ (Anatoly Chubais, 1955-ปัจจุบัน, นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซียผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลประธานาธิบดีเยลต์ซินต้นทศวรรษ 1990 ในการนำเศรษฐกิจตลาด หลักกรรมสิทธิ์เอกชนและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชนเข้ามาในรัสเซียหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย)

ผมยังจำสมัยปลายทศวรรษที่ 1990 เมื่อสิ่งพิมพ์อย่าง The Economist, The Financial Times และ The New York Times ปลุกกระแสสร้างภาพพวก “นักปฏิรูปนิยมตะวันตก” เหล่านี้ที่เป็นผู้ว่าการนคร หรือเจ้าหน้าที่บางคนในรัฐบาลประธานาธิบดีเยลต์ซินขึ้นมา ซึ่งปรากฏว่าล้วนแล้วแต่กลับกลายเป็นไอ้พวกขี้โกงทั้งเพ ปูตินคือผู้กำราบพวกโจราธิปัตย์เหล่านี้ลง และแน่ล่ะครับว่าการที่รัสเซียผงาดขึ้นมาใหม่ในฐานะประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีส่วนช่วยเขาด้วย

ตอนที่ผมกำลังโตขึ้นน่ะ อินเดียเป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดของสหภาพโซเวียตนะครับ ผมกับคนอินเดียจำนวนมากปลื้มรัสเซียและเห็นสหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจที่คอยช่วยประชาชนชาติต่างๆ ทั่วโลกต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก

นี่ไม่ใช่เป็นแค่ความหลงผิดนะครับ คนรัสเซียช่วยผู้คนไว้มากจริงๆ รวมทั้งคนเสียงข้างมากผิวดำในแอฟริกาใต้ที่ต่อสู้กับระบอบถือผิวของคนผิวขาวส่วนน้อยซึ่งพวกที่เรียกว่าโลกเสรีตอนนั้นคอยติดอาวุธให้

คนรัสเซียยังช่วยอินเดียปลดปล่อยบังกลาเทศจากระบอบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของปากีสถานซึ่งประธานาธิบดีนิกสันและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติคิสซิงเจอร์ของอเมริกาคอยหนุนหลังในปี 1971 ด้วย

ประวัติศาสตร์ที่ถูกละเลยเหล่านี้สำคัญไม่เพียงเพราะว่าอินเดียและแอฟริกาใต้คัดค้านการแซงก์ชั่นรัสเซียทุกวันนี้เท่านั้นนะครับ ถ้าคุณลองคิดว่าประชาชนในรัสเซียจะตอบสนองอย่างไรหากแม้นชื่อเสียงทางสากลที่ว่านั้นเกิดเสื่อมเสียขึ้นมา มันก็จะช่วยให้เริ่มเข้าใจได้ว่าทำไมการถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีจึงได้กลายมาเป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลังทางการเมืองภายในรัสเซียขนาดนั้นอีกครั้ง กล่าวคือ ความคิดที่ว่าพวกตะวันตกมันกำลังรุมเล่นงานคุณ ว่านาโตกำลังรุมเล่นงานคุณอยู่

ส่วนประเด็นที่ว่าเรื่องเล่าดังกล่าวอาจหลุดขาดหรือเชื่อมโยงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากออกไปเลยทีเดียวครับ แต่ข้อเท็จจริงก็คือพวกเราล้วนอาศัยอยู่ในเรื่องเล่าที่แน่นอนด้วยกันทั้งสิ้น และเรื่องเล่าเหล่านั้นจูงใจอย่างยิ่งสำหรับผู้คนที่คุ้นชินกับอำนาจและอภิสิทธิ์บางอย่าง แล้วพวกเขาก็มาเห็นเรื่องเล่าที่ว่าตกต่ำเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วน่าใจหาย เพราะถึงไงแม้แต่ความตกต่ำเสื่อมถอยเพียงเล็กน้อยโดยเปรียบเทียบในโชคชะตาของลัทธิคนผิวขาวต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินของอเมริกาก็ยังช่วยทำให้คนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ดูโดดเด่นเป็นสง่าขึ้นมาได้เลยนี่ครับ

ในพื้นที่ต่างๆ หลายแห่งของโลก เราได้เห็นเรื่องเล่าทำนองนี้กำลังถูกสำแดงออกมาโดยที่ใครสักคนซึ่งทำสิ่งอุบาทว์กาลีโลก – และสิ่งที่ปูตินทำอยู่ตอนนี้น่ะมันอุบาทว์กาลีโลกนะครับ – ยังได้การสนับสนุนจากคนจำนวนมาก

อย่าลืมนะครับว่าคนจำนวนมากก็สนับสนุนฮิตเลอร์เหมือนกันเนื่องจากความรู้สึกอันแรงกล้าของพวกเขาว่ามหาอำนาจอย่างเยอรมนีได้ถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีอย่างจงใจและกว้างขวางหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในอินเดีย จีนและประเทศอื่นอีกหลายแห่งในเอเชียและแอฟริกา จอมเผด็จอำนาจอัตตาธิปัตย์และนักกวนเมืองได้ล็อกประชาชนพลเมืองไว้ในเรื่องเล่าของการถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีและจินตนิมิตของชาติชายชาตรีที่ช่วยชดเชยความรู้สึก แน่นอนครับว่าปัญญาชนและนักเขียนนิยายชาวรัสเซียเป็นพวกแรกที่บรรยายและกระทั่งสำแดงบทบาทของการถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีในชีวิตส่วนรวมและส่วนตัวออกมาให้เห็น

ลองคิดถึงจดหมายปรัชญาของปีเตอร์ ชาดาเยฟ เอย ตัวละครข้าราชการชั้นผู้น้อยในนิยายของนิโคไล โกโกล และฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เอย และพวกสุญนิยมของอีวาน ตูร์เกเนฟ เอยดูซีครับ ลองคิดถึงว่าแม้แต่ศิลปินที่แนบเนียนอย่างอเล็กซานเดอร์ พุชกิน ก็ยังกลับกลายเป็นนักคลั่งชาติรัสเซียและนักมิจฉาคติต่อต้านโปแลนด์ได้ (ดูรายละเอียดข้อวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองอุกอั่งคับแค้นรุนแรงของฝ่ายขวาผ่านวรรณกรรมรัสเซียเหล่านี้ในปังกัช มิชรา, ยุคคนเดือด : ประวัติศาสตร์ปัจจุบัน, 2564)

นับแต่สมัยนั้นมา เราได้รู้จักคุ้นเคยยิ่งกับพยาธิสภาพของการมาถึงล่าช้าทีหลังเพื่อนในประวัติศาสตร์ ได้รู้ว่าเอาเข้าจริงมันเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณมาจากประเทศยากจนที่เศรษฐกิจไม่ได้กลายเป็นแบบอุตสาหกรรมเต็มที่และพยายามกวดใกล้ไล่ทันโลกตะวันตกสมัยใหม่ แล้วคุณก็รู้สึกทนทุกข์ทรมานเพราะคุณเอาแต่คอยเปรียบเทียบตัวเองกับผู้คนที่รวยกว่าและมีอำนาจกว่าในบรรดาประเทศตะวันตกอยู่ตลอดเวลา และตระหนักรู้ด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวใจว่าสังคมของคุณต่ำต้อยด้อยกว่าเพียงใดทั้งในทางวัตถุและวัฒนธรรม

ความรู้สึกประดานี้อาจหยั่งยึดลึกซึ้งอยู่ในจิตตารมณ์แห่งชาติได้ และผมคิดนะครับว่าพรนรกอุบาทว์ที่พวกนักกวนเมืองมีอยู่เป็นพิเศษก็คือความสามารถในการดึงเอาความรู้สึกดังกล่าวออกมาในปริมณฑลสาธารณะแล้วทำให้มันทรงพลังขึ้นมาได้อีกครั้งนั่นเอง

เรามักลืมไปด้วยเกี่ยวกับบทบาทที่ความทรงจำแบบบาดแผลรวมหมู่จะแสดงได้ในทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ รัสเซียนั้นแทบเอาตัวไม่รอดจากสงครามล้างผลาญของนาซีเมื่อเจ็ดทศวรรษก่อน ผู้คนที่ประสบพบเห็นมันเป็นประจักษ์พยานยังคงมีชีวิตอยู่ มันคงเป็นเรื่องแปลกพิลึกมากถ้าหากรัสเซียจะไม่รู้สึกหวาดระแวงเรื่องที่นาโตขยายตัวมาจรดพรมแดนของตนนะครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)