กำลังพลผี-กระบวนการสันติภาพ ความท้าทาย พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

กำลังพลผี-กระบวนการสันติภาพ

ความท้าทาย

พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค

แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่สานต่องาน พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ที่ขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก น่าจะเป็นความท้าทายทั้งปัญหากำลังพลผีและกระบวนการสันติภาพที่ล่าสุดระเบิดเกิดหลายจุดที่ชายแดนภาคใต้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ชั้นนายพล จำนวน 765 นาย

โดยในส่วนกองทัพภาคที่ 4 พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขยับขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 4

พล.ต.อุทิศ อนันตนานนท์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขยับขึ้นเป็น แม่ทัพน้อยภาคที่ 4

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 ขยับขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 4

พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ขยับขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 4

พล.ต.คมกฤช รัตนฉายา ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 46 ขยับขึ้นเป็น รองแม่ทัพน้อยที่ 4

ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

 

สํหรับ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 36 โดยดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังนี้

• ผู้บังคับหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 46

• ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 25

• ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25

• ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 43

• ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 25

• ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5

• รองแม่ทัพภาคที่ 4

ตำแหน่งราชการสนามที่สำคัญ

• ผู้บังคับชุดป้องกันและควบคุมชายแดน

• ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43

• ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25

• เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

• ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา

 

ความท้าทายแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่มีทั้งปัญหากำลังพลผีและกระบวนการสันติภาพที่ล่าสุดระเบิดเกิดหลายจุดที่ชายแดนภาคใต้

สำหรับกำลังพลผีที่ชายแดนใต้เป็นสิ่งที่สังคมทั้งประเทศกำลังจับตาถ้าสามารถแก้ปัญหานี้ได้ทันทีที่รับงานจะยิ่งเพิ่มความไว้วางใจในการทำงานมวลชนที่กำลังขยับและต่อยอดจากแม่ทัพคนเก่าอย่าง พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แต่ก็ไม่ใช่ง่ายเพราะยิ่งขุดยิ่งเจอ

เพราะสิ่งที่หน่วยงานรัฐแถลงหรือชี้แจง ช่างแตกต่างจากการรับรู้ของพี่น้องประชาชนที่ยังมีคำถามของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต่อกำลังพลที่อาจมีการสวมชื่อเป็น “บัญชีผี” และไม่เป็นธรรมต่อกำลังพล ที่ทุ่มเทการปฏิบัติงานเสี่ยงภัยในพื้นที่ซึ่งก็ต้องขอบคุณสื่อส่วนกลางที่กัดไม่ปล่อยเพราะช่วยกันขุดคุ้ยที่มาที่ไปของปัญหา

ซึ่งนายวีระ สมความคิด แฉว่ามีเอกสารหลุด จาก ส.ว.คนที่ถูกกล่าวหา และสามารถกระทบชิ่งถึงคนใกล้ชิดรักษาการนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยคนใกล้ชิดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการอุ้มตำรวจหญิงคนนี้ ไปกินภาษีชาวบ้านหลายตำแหน่ง

ดร.มังโสด หมะเต๊ะ สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้สะท้อนว่า คนพื้นที่รู้มานานแล้ว แต่ถ้าเรื่องสาวเด็ก ส.ว.ไม่แดงขึ้นมาคนนอกพื้นที่ก็ยังจะไม่เชื่อ

เรื่องทหารหรือตำรวจผีแก้ไม่ยากยุคข้อมูลข่าวสารและไอทีก้าวไกล หากอยากจะเเก้จริงๆ ก็แก้ได้

ส่วนรอมฎอน ปันจอร์ “ผู้ปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)” เสนอว่าต้องสร้างระบบความโปร่งใสของกำลังพลที่เหลืออีก

“สำหรับปรากฏการณ์บัญชีผีทำให้เห็นว่า โจทย์ทางความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความพร่าเลือนและไม่ชัดเจน เนื่องจากหลายกรณีความไม่สงบมีการไปตีโจทย์ว่าเป็นปัญหาของความขัดแย้งส่วนบุคคล ทั้งที่จริงเป็นปัญหามาจากโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งต้องแก้ไขในการเจรจา เพื่อให้เกิดความสงบ ไม่ใช่ว่าอาศัยผลประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนท้ายที่สุดแล้วต้องทุ่มเทกำลังพลไปอย่างเสียเปล่า ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผู้ใหญ่ในหน่วยงานต้องทำการตรวจสอบระบบทั้งหมด และแจ้งต่อสาธารณะว่าสถานการณ์บัญชีผีของกำลังพลในพื้นที่เป็นอย่างไร และเพื่อให้กำลังพลในพื้นที่มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น”

“ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีหลายตำแหน่งในการดูแลพื้นที่ความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรใช้โอกาสนี้ในการเข้ามาตรวจสอบความผิดปกติบัญชีกำลังพล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ที่จะต้องชี้แจงถึงความโปร่งใส ไม่ให้เป็นหลุมดำของการแสวงหาประโยชน์ แต่ถ้าหากฝ่ายบริหารนิ่งเฉยอาจจะต้องหวังพึ่งฝ่ายนิติบัญญัติในการเข้ามาตรวจสอบ โดยเฉพาะกรรมมาธิการด้านความมั่นคงแห่งรัฐ เพื่อตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่ตรวจสอบด้านการเงิน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพราะเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายล้วนเป็นภาษีของประชาชน”

กล่าวโดยสรุปหากมิให้ระบบราชการไทยโดยหน่วยความมั่นคง ส.ว.เสื่อมไปกว่านี้ ต้องยอมรับในความผิด มุ่งมั่นมีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะแก้ปัญหานี้ ถึงขั้นถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปกองทัพแล้ว

 

ส่วนความรุนแรง การระเบิด และการวิสามัญจำนวนมากต่อผู้เห็นต่างและตอบโต้ด้วยความรุนแรงสองสามวันก่อนอีดิ้ลอัฎฮาและหลังจากนั้นจนมีระเบิดล่าสุดเกือบ 20 จุดจะเป็นข้อท้าทายใหญ่ของแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ แต่ก็มีความหวังเมื่อเราก็เห็นสัญญาณที่ดีมากๆ จากเวทีมองภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้จากทุกภาคส่วน แม้แต่แกนนำ BRN นอกประเทศ

“ข่าวคราวการระเบิดที่ชายแดนใต้เกือบ 20 จุด เมื่อ 17 สิงหาคม 2565 ก็ขอชื่นชมว่าภาคประชาชนยังไม่ท้อที่จะร่วมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพต่อไป” (อ่านเพิ่มเติมบทความผู้เขียนใน https://www.thaingo.org/content/detail/5713)

ปัจจัยสำคัญในการบรรลุสันติภาพด้วยกระบวนการพูดคุยนั้น นักสิทธิมนุษยชน เช่น น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า “ผลกระทบที่สั่งสมเกือบยี่สิบปีจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรง มีผู้ที่ได้ผลกระทบมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดมีจำนวนผู้หญิงหม้ายและเด็กกำพร้าสูงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบ ในช่วงระหว่างปี 2547-2563 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงจำนวน 655 คน และผู้ชายจำนวน 6,526 คน ยิ่งผู้ชายเสียชีวิตมาก ยิ่งเกิดวิกฤตแม่หม้ายเป็นเงาตามตัว และหากแยกตามวัย พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เสียชีวิตจำนวน 271 คน และมีเยาวชนอายุระหว่าง 18-25 ปี เสียชีวิตจำนวน 906 คน”

“จากเหตุผลดังกล่าวจึงควรอย่างยิ่งที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบควรได้มีส่วนร่วมในโต๊ะเจรจาสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังเสนอเรื่อง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ การค้นหาความจริง การนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ การช่วยซ่อมสร้างชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้เสียหาย (การชดใช้เยียวยา) และการสร้างหลักประกันว่าการละเมิดสิทธิ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก”