ย่านวัดดวงแข / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ย่านวัดดวงแข

 

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้จะพาไปมองย่านหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้จัก หรือรู้จักเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวเนื่องกับโลหะเท่านั้น หรือรู้แค่เป็นทางผ่านไปที่อื่นๆ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพง กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้แต่ผู้ที่ใช้ทางยกระดับศรีรัชฯ จะผ่านไปมาเป็นประจำ ก็ยังไม่รู้จัก เพราะวิ่งข้ามลอยฟ้าไปมา

สำหรับคนที่พำนักอยู่ในบริเวณนี้ หรือผู้ที่มาติดต่อซื้อขาย จะเรียกขานย่านนี้ตามชื่อ วัดดวงแข วัดโบราณ ที่เดิมชื่อ วัดแค

ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพงและย่านสะพานเหลือง อีกทั้งอยู่ใกล้ถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4)

จึงเป็นถิ่นพักอาศัยและกิจการค้าที่ต่อเนื่องมาจากย่านสำเพ็ง

 

ในอดีตผู้คน นอกจากจะสร้างบ้านเรือนร้านค้าด้วยไม้ ที่เป็นเชื้อไฟแล้ว ยังปลูกสร้างอาคารต่อเนื่องกันหนาแน่นแออัด จนไม่มีช่องทางให้เข้าถึงในเวลาที่เกิดเหตุอัคคีภัย จึงเป็นที่มาของความเสียหายจากเพลิงไหม้หลายครั้ง

โดยเฉพาะวัดดวงแขที่ต้องบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง และสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีรูปแบบตามสมัยนิยม คือหลังคาจั่วชั้นเดียว ปราศจากช่อฟ้าใบระกา ก่ออิฐถือปูนคล้ายตึกจีน ผนังอาคารเป็นกำแพงก่ออิฐหนา มีการเว้นช่องเปิดเป็นโค้งซุ้มปลายแหลมโดยรอบ

รวมทั้งมีจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคาร เป็นแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในปัจจุบัน

 

ยังมีเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2370 สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ตัดถนนขึ้นมาใหม่ 3 สาย

สายแรก เริ่มจากถนนพระรามที่ 6 (ถนนบรรทัดทอง ไปถึงถนนรองเมือง) โดยพระราชทานนามว่า ถนนเจริญเมือง

สายที่สอง จะคู่ขนานกับถนนสายแรก อยู่ทางทิศเหนือ โดยพระราชทานนามว่า ถนนจรัสเมือง

และสายที่สาม เริ่มจากถนนพระรามที่สี่ ตัดถนนเจริญเมือง ไปสิ้นสุดที่ถนนจรัสเมือง ถนนจารุเมือง

แนวถนนสามสายดังกล่าว แม้จะแตกต่างไปจากสภาพพื้นที่เดิม แต่ก็เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับกิจการร้านค้าและคลังสินค้า ด้วยทำเลที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่สะดวกในการขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะกิจการค้าโลหะที่ต่อเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

คนที่ผ่านไปย่านวัดดวงแขครั้งต่อไป อยากให้แวะชมความงามอุโบสถวัดดวงแข และทำความรู้จักสภาพพื้นที่ย่านวัดดวงแข เพื่อพบเห็นสิ่งที่น่าสนใจ พร้อมกับการเรียนรู้เข้าใจบ้านเมืองมากขึ้น •