“บัวผัด” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“บัวผัด”

บ฿วฯผัดฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “บัวผัด”

หมายถึง ทานตะวัน หรือ Sunflower

ในล้านนา คำว่า “ผัด” แปลว่า หมุน

จากการที่ทานตะวันมีรูปทรงของดอกคล้ายดอกบัวจึงเรียก “บัว” นำหน้าชื่อ แถมยังหมุนหันหน้าหาตะวันหรือพระอาทิตย์ตลอดเวลา คนล้านนาเราจึงเรียกทานตะวันว่า “บัวผัด”

ทานตะวันเป็นสมาชิกในวงศ์ Asteraceae (Aster แปลว่า ดาว) หรืออีกชื่อเรียกว่า Compositae (Composite แปลว่า รวมตัวกัน) ซึ่งมาจากลักษณะเด่นประจำวงศ์ คือ ดอกเป็นดอกช่อแบบช่อกระจุกแบบทานตะวันหรือดาวเรือง ที่ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนหลายกระจุกรวมกันมองดูเหมือนเป็นดอกเดี่ยว

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง แถบเม็กซิโก ชิลี เปรู ซึ่งในอดีตชาวเผ่าอินคาที่อาศัยอยู่ในแถบนี้มีความเชื่อเรื่องการนับถือและบูชาพระอาทิตย์

บัวผัด หรือทานตะวัน มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Helicanthus annuus L. โดยตั้งชื่อตามภาษากรีกว่า “Helios” แปลว่าพระอาทิตย์ และคำว่า “anthos” ที่แปลว่า ดอกไม้

ส่วนคำว่า annuus เป็นภาษาละติน แปลว่า 1 ปี หรือรายปี เนื่องจากทานตะวันเป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว

ดอฯกบ฿วฯผัดฯ สีเหลฯิอฯฯงงามฯ ดอกบัวผัด สีเหลืองงาม ดอกทานตะวัน สีเหลืองสวยงาม

ทานตะวันมีลำต้นสูง 1-4 เมตร ลำต้นตรง

ใบเดี่ยวรูปไข่ เรียงสลับ ผิวมีขนสาก ขอบหยักฟันเลื่อย

ดอกออกที่ปลายยอดบนจานรองขนาดใหญ่ ประกอบด้วยดอก 2 แบบ ดอกที่ติดที่ขอบจานมีส่วนของกลีบดอกเชื่อมกันยื่นยาวไปข้างเดียวเป็นแผ่นยาวสีเหลืองและมักเป็นหมัน

ดอกที่ติดบนจานรองมีกลีบดอกเชื่อมเป็นหลอดสั้นๆ และเป็นดอกสมบูรณ์เพศ

เมื่อดอกได้รับการผสมจะติดผลเป็นผลแห้งรูปไข่กลีบแบน เปลือกผลมีแถบสีขาว เหลืองนวล และเทาดำ ตามยาว ภายในมีเมล็ดเดียว

การที่ดอกทานตะวันหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์เสมอ เป็นเพราะการตอบสนองต่อแสงซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเพียงด้านเดียวของดอก

ทั้งนี้ เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมน “ออกซิน” คือในด้านที่รับแสงจะมีฮอร์โมนออกซินน้อย แต่ออกซินจะกระจายตัวไปยังด้านที่ไม่ได้รับแสง ทำให้มีการยืดตัวยาวออกได้ดีกว่า จึงทำให้ดอกทานตะวันโค้งเบนเข้าหาแสงและหันไปตามตะวันเสมอ

การใช้ประโยชน์นอกจากปลูกประดับและเป็นไม้ตัดดอกแล้ว ยังใช้บริโภคได้ตั้งแต่ต้นอ่อน หรือทานตะวันงอก รับประทานเป็นผัก ใส่ในสลัด หรือปรุงอาหาร เช่น ผัดน้ำมันหอย เป็นต้น

เมล็ดทานตะวันอบกินได้ เป็นของกินเล่น

น้ำมันจากเมล็ดทานตะวันมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ใช้ประกอบอาหารได้ มีวิตามินอีคุณภาพสูงกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น

กากที่เหลือจากการสกัดน้ำมันใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีการทดลองรับประทานน้ำมันมะพร้าวผสมน้ำมันทานตะวันมีผลช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดหนูทดลอง และพบว่าน้ำมันทานตะวันที่เติม hydroxytyrosol (พบในน้ำมันมะกอก) ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ต้นอ่อนทานตะวันมีสารประกอบฟีนอล (phenolic compounds) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ

กลีบดอกสีเหลืองของทานตะวันมี triterpene glycosides มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลองได้ •