TO WHOM IT MAY CONCERN ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง : ห้องทดลองที่เปิดประตูสู่ความคิดเชิงวิพากษ์ต่อศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการหนึ่งที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟังตามเคย นิทรรรศการนี้มีชื่อว่า

TO WHOM IT MAY CONCERN / ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ก่อนอื่นต้องบอกว่านิทรรศการนี้ออกจะพ้นไปจากคำว่าปกติอยู่สักหน่อย

เพราะนอกจากจะประกอบด้วยผลงานศิลปะในลักษณะที่แตกต่างไปจากความเคยชินของคนทั่วไปเอาการอยู่แล้ว

ในนิทรรศการยังมีกิจกรรมแปลกๆ แหวกแนว ที่จัดขึ้นไปพร้อมกับการแสดงงานศิลปะในนิทรรศการอีกด้วย

“งานเขียนเกี่ยวกับศิลปะ มีที่ทางและท่าทีอย่างไรต่อโลกของการผลิตศิลปะและนิทรรศการ? ความคิดและการเขียนเป็นพลังผลักดันกระบวนการผลิตทางศิลปะในแง่ไหนบ้าง? เป็นไปได้หรือไม่ที่กิจกรรมการเขียนจะแปลงเป็นภาระและคำถามที่อาจไม่มีเป้าหมายเป็นเรื่องจับต้องได้? และคุณให้ราคาและเห็นคุณค่าต่องานที่จับต้องไม่ได้นี้เท่าใด?”

คำถามนี้เป็นที่มาของโครงการ TO WHOM IT MAY CONCERN / ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นจุดขยายความคิดของงานวิจัยภาคปฏิบัติเกี่ยวกับงานศิลปะวิจารณ์ที่ทำขึ้นโดย จุฑา สุวรรณมงคล ภัณฑารักษ์หลักของนิทรรศการนี้

จุฑาสังเกตเห็นกระบวนการที่หายไป หรือไม่ถูกให้ความสำคัญในการทำงานของศิลปิน รวมถึงวาทกรรมการพัฒนาวงการศิลปะโดยรวม

โดยวลี “TO WHOM IT MAY CONCERN / ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” มักถูกใช้ขึ้นต้นจดหมายทางการเมื่อผู้เขียนต้องการเรียกขานบุคคลที่ไม่รู้จัก หรือไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นใคร

วลีนี้ถูกใช้เป็นชื่อของโครงการนี้ เพื่อสื่อเป็นนัยถึงประเด็นบางอย่างที่ไม่ปรากฏชัดๆ พร้อมๆ กับการทดลองกิจกรรมต่างๆ เพื่อเปิดประตูที่นำไปสู่ความคิดเชิงวิพากษ์ต่อศิลปะ

โดยจุฑาทำงานร่วมกับ นวิน หนูทอง ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ และทีมงานจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ รวมถึงแรงสนับสนุนและช่วยเหลือจากมิตรสหายอีกจำนวนหนึ่ง

“เรารู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยน อยากจะลองปรับความสัมพันธ์ของการทำงานนิทรรศการที่ปกติจะมีแต่ภัณฑารักษ์และศิลปิน ส่วนตัวเราไม่ได้คิดว่าเราเป็นภัณฑารักษ์ เรามองว่าพื้นที่แสดงนิทรรศการก็เหมือนเวทีอันหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้พูดกับคนมากกว่าการเขียน ทุกครั้งที่ทำนิทรรศการ มันเป็นเรื่องของการทดลองอะไรบางอย่าง”

“เราเลยมองว่าพื้นที่แสดงงานเป็นห้องทดลองอันนึงของเรา เราเลยชวนรุ่นน้องอีกกลุ่มที่สนใจในกระบวนการทำงานของภัณฑารักษ์ รวมถึงสถาปนิกมาเป็นทีมงาน เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าสิ่งที่อยู่ในนิทรรศการไม่ได้มาจากเราคนเดียวล้วนๆ แต่มาจากทีมงานคนอื่นๆ ด้วย”

“อย่างในห้องแสดงงานเล็กเราจะทำในส่วนที่เรียกว่า Index Room (ห้องดัชนี) โดยเรานำกระบวนการของการจัดดัชนีที่อยู่ในส่วนท้ายสุดของหนังสือ โดยเราทำดัชนีค้นคำจากข้อมูลการอ่านของศิลปินทุกคน รวมถึงทีมงาน ทีมภัณฑารักษ์ สถาปนิก หรือนักออกแบบ คนที่มีส่วนร่วมในการทำนิทรรศการนี้ และทีมงานของแกลเลอรี่ ว่าเขาอ่านอะไรกัน”

“เราเอาสิ่งเหล่านั้นมาย่อยและนำมาแสดงเป็นคีย์เวิร์ดเพื่อให้ผู้เข้าชมงานค้นหาอีกทีหนึ่ง”

นิทรรศการกลุ่ม TO WHOM IT MAY CONCERN / ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นก้าวแรกของการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินไทยหลายรุ่นทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ กิตติศักดิ์ ช้อนทอง, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, ณัฐพล สวัสดี, น้ำฝน อุดมเลิศลักษณ์, พิสิฐกุล ควรแถลง และ สินา วิทยวิโรจน์

รวมถึงกลุ่มนักปฏิบัติการทางศิลปะและวัฒนธรรมต่างประเทศ ได้แก่ School of Improper Education จาก KUNCI Cultural Studies Center (ยอร์กยาการ์ต้า), Jong Pairez จาก Radio Kosaten (โตเกียว) และ Elaine W. Ho จาก Display Distribute (ฮ่องกง) และ Homeshop (ปักกิ่ง)

กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่แกลเลอรี่ตลอดนิทรรศการนี้เป็นเหมือนการทดลองกระบวนการผันแปรไอเดีย ความเข้าใจ และการตีความในระดับปัจเจกที่แตกต่าง

โดยหวังว่าผู้ชมจะแทรกเข้ามาเป็นพยาน ผู้สังเกตการณ์ ผู้รบกวน หรือผู้ส่งเสริม ต่อการตระหนักรู้ต่อสิ่งที่ไม่ปรากฏชัดเจนแน่นอน

และทำให้มันถูกมองเห็นในพื้นที่เฉพาะการณ์และเฉพาะกิจครั้งนี้

ในนิทรรศการประกอบด้วยผลงานศิลปะหลากสื่อหลายรูปแบบที่แปลกใหม่และน่าสนใจ

อาทิ ผลงานคอลลาจ (ปะติด) บนฝาผนังห้องแสดงงานของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่ศิลปินเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยการตัดรูปหรือตัวอักษรจากหนังสือพิมพ์และอุปกรณ์ที่ศิลปินวางทิ้งไว้ให้ ไปติดบนผนังห้อง เพื่อสร้างผลงานศิลปะบนฝาผนังของตัวเองตามใจชอบ ซึ่งเป็นการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปินผู้สร้างงานและผู้ชมงานศิลปะ

และผลงานศิลปะเชิงโต้ตอบ หรือ อินเตอร์แอ๊กทีฟ ของ สินา วิทยวิโรจน์ ที่ศิลปินติดกล้องเว็บแคมกับตัว และถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงของตัวศิลปินสู่จอคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในห้องแสดงงาน เพื่อสื่อสารและสนทนาโต้ตอบกับผู้ชมที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ที่วางหน้าจอคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวแบบสดๆ คล้ายกับการแสดงสดที่ผู้ชมสามารถตอบโต้สื่อสารกับตัวศิลปินได้อย่างฉับพลันทันที

นอกจากนั้น ยังมีผลงานศิลปะในรูปแบบของสถานีวิทยุที่มีชื่อว่า “เรดิโอเห็ด” ที่จัดรายการวิทยุออกอากาศแบบสดๆ เป็นต้น

นอกจากการแสดงผลงานศิลปะแล้ว ในนิทรรศการยังจัดกิจกรรมคู่ขนานตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนในช่วงเวลาของนิทรรศการนี้อย่าง

Shout Out or Shut Up (?) กิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดนิทรรศการ โดยมีแนวความคิดในการแบ่งปันพื้นที่และโอกาสให้กับเสียงเล็กๆ บางเสียงให้ได้ยินในวงกว้างมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การทำงานในลักษณะนี้ก็เปิดประตูให้กับผู้คนบางกลุ่มได้เดินเข้ามาในพื้นที่แสดงงานศิลปะเป็นครั้งแรก

โดยในวันเปิดงานมีการสร้างเวทีชั่วคราวให้การแสดงดนตรีจากศิลปินรับเชิญ อย่าง ณัฐพล สวัสดี, พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง, P9D, Liberate P และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม พร้อมกับการผลิตสิ่งพิมพ์ เนื้อร้องและบทความเกี่ยวพันกับดนตรีจำหน่ายภายในงานอีกด้วย

และ Borrow Man กิจกรรมที่ตั้งคำถามต่อระบบการให้ทุนสนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่เปิดโอกาสให้คนอย่างจำกัดจำเขี่ย ด้วยปัจจัยหลากหลาย เช่น การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ

โดยกองทุนนี้เสนอระบบทางเลือกที่แตกต่าง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น โดยได้ทุนจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การจำหน่ายหนังสือทำมือ การประมูลงานจากงานศิลปินที่บริจาคผลงานศิลปะให้โครงการ ฯลฯ เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกองทุนและสนับสนุนกิจกรรมทางศิลปะ วิชาการ

รวมถึงการสร้างความเป็นไปได้ ต่างๆ ในอนาคต

นิทรรศการกลุ่ม TO WHOM IT MAY CONCERN / ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้จัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม – 3 กันยายน 2560

น่าเสียดายที่นิทรรศการได้จบลงไปเรียบร้อยแล้ว

แต่เราเชื่อว่านิทรรศการนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่จะผลิดอกออกผลในวงการศิลปะต่อไปในอนาคต

ถ้าหากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติม เราจะนำมารายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

ขอบคุณภาพจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่