พล.อ.ประวิตรในวันนี้/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

พล.อ.ประวิตรในวันนี้

 

เหมือนคนละคนเลยทีเดียว จาก ไม่รู้ ไม่รู้ สื่อใหญ่อย่างมติชนสุดสัปดาห์ถึงกับไฮไลต์ว่า

“…พล.อ.ประวิตรบริหารประเทศอย่างไร้แรงเสียดทาน ไม่สร้างความขัดแย้ง เป็นผู้ใหญ่ที่มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส นำไปสู่ความรู้สึกในเชิงการบริหารในเชิงเปรียบเทียบทางการบริหาร…”

มติชนสุดสัปดาห์ถึงขนาดขนานนามว่า1

NEW 3 ป. ป้อม ปึ๋ง ปั๋ง

แสดงให้เห็นความเชี่ยวของสื่อใหญ่ คมและลึกในสถานการณ์การเมืองบ้านเรา

ไม่ควรลืมว่า จุดเน้นของสื่อและคนทั่วไปมองว่า นี่คือ NEW หรือใหม่ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพียงคนเดียว หาใช่ ป.คนอื่นไม่

ในเวลาเดียวกัน สื่อใหญ่ด้านความมั่นคงและทหารระดับมือพระกาฬ ก็ย้อนภาพอีกด้านหนึ่งของอดีตแห่ง พล.อ.ประวิตร ที่น่าสนใจ เพจ พล.อ.ประวิตรที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ก็เปิดภาพในอดีตอันรุ่งโรจน์ ภาพหลายภาพเป็นภาพที่ไม่ค่อยมีใครเห็นมาก่อน เพจและภาพที่สื่อใหญ่ด้านความมั่นคงได้ออกมา เรียกขานอย่างน่าสนใจว่า “…เส้นทางรบในอดีต…”

จุดเด่นของ พล.อ.ประวิตรคือ เด่นเรื่องรบ ผ่านศึกมามากมาย สื่อใหญ่ให้ภาพว่า

เส้นทางนักรบ ทหารเสือ จากศึกคอมมิวนิสต์ บ้านนาแก สู่สมรภูมิเวียดนาม กองพลเสือดำ ไซ่ง่อน สู่สมรภูมิ ‘บ้านห้วยโก๋น’ เลาะตะเข็บชายแดนไทย-เขมร ยุทธการบ้านนาปรือ-โนนหมากมุ่น

อาจกล่าวได้ว่า สื่อใหญ่ทั้ง 2 หาใช่เขียนเชียร์จนเกินความเป็นจริง ตรงกันข้าม นี่เป็นการแสดงถึงความเก๋าแห่งวงการสื่อ ลึกและคมต่อความเคลื่อนไหวสำคัญของการเมืองไทย

แต่ถามสำหรับผมต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อะไรคือความโด่ดเด่นของ พล.อ.ประวิตร ผมคิดว่า อดีตของท่านสะท้อนและแสดงความเป็นจริงชนิดหนึ่งของการเมืองไทยร่วมสมัยได้ดี แต่ไม่ใช่ความใหม่ ผมคิดว่า พล.อ.ประวิตรมีความแตกต่างจากนายทหารและนายทหารที่ก้าวสู่สนามการเมืองไทยอย่างน้อย 2 ประการกล่าวคือ

ประการที่ 1 ความเป็นทหารต่างจังหวัด

ประการที่ 2 การรู้จักผู้คนกว้างขวางกว่านายทหารคนอื่นๆ ที่ทะยานขึ้นเป็นผู้นำทางทหารและก้าวเข้าสู่การเมือง ซึ่งภาษาวิชาการในภายหลังเรียกว่า เครือข่ายอำนาจ

พล.อ.ประวิตรเป็นนายทหารต่างจังหวัด ที่รู้จักนักธุรกิจต่างจังหวัด ที่ภายหลังกลายเป็นนักการเมืองแกนนำระดับชาติ เขายังมีเพื่อนๆ นักเรียนสมัยโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ทั้งที่เป็นทั้งหัวกะทิและทรงพลังทั้งในวงการธุรกิจและแวดวงการเมือง

เหนืออื่นใด เขายังเป็นนายทหารผู้ก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงของการเมืองที่มีฐานกองทัพสนับสนุน แล้วยังมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งในกรมตำรวจและระบบราชการ

พล.อ.ประวิตร : อดีตบอกปัจจุบัน

ระหว่างสมัยเรียนหนังสือ พล.อ.ประวิตรมีส่วนสรรค์สร้างคอนเน็กชั่นที่น่าสนใจแล้วมีผลต่อเส้นทางการเมืองในเวลาต่อมา เขาเข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลปี พ.ศ.2505 จากนั้นปี พ.ศ.2508 เข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 ในปี พ.ศ.2512 เป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ปี พ.ศ.2512 จนถึงปี พ.ศ.2524

เตรียมทหารรุ่น 6 เพื่อนรุ่นเดียวของเขาคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้นำรัฐประหาร 2549 และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์

ช่วง พ.ศ.2521 การที่เขาเป็นทหารราบในด้านตะวันออกของประเทศ กลุ่มของเขาเรียกว่า บูรพาพยัคฆ์ เขาเป็นผู้ริเริ่มทหารเสือราชินี ช่วงนั้นเป็นโอกาสที่ดีมาก

พล.อ.ประวิตรเป็นเพื่อนกับนักการเมืองท้องถิ่นคนสำคัญ ซึ่งในภายหลังเขาได้เป็นนักการเมืองระดับชาติระดับแกนนำ เสนาะ เทียนทอง

แล้วด้วยผ่านทางเสนาะ เทียนทอง พล.อ.ประวิตรยังได้พบกับนักการเมืองคนสำคัญคนอื่นๆ อีกคือ เนวิน ชิดชอบ และบรรหาร ศิลปอาชา

ในเวลาต่อมา ผ่านทางเสนาะ เทียนทอง รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พล.อ.ประวิตรยังได้รู้จักกับสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และวัฒนา เมืองสุข

ปี พ.ศ.2532 พล.อ.ประวิตรได้เป็นผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 12 ที่สระแก้ว ใกล้กับอรัญประเทศ-ปอยเปต ที่สระแก้วนั่นเอง เขาได้ดูแลการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

ตรงนี้น่าสนใจ เท่ากับว่า เขาเป็นนายทหารที่มิได้ทำการสู้รบบริเวณชายแดนระหว่างกองกำลังติดอาวุธเขมรแดงกับรัฐบาลเขมรเท่านั้น

เขายังต้องดูแลการค้าชายแดนในบริเวณรอยต่อที่เป็นทั้งสีเทา และช่องทางส่งอาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรคแก่ชาวบ้านฝั่งเขมร แต่ยังมีการค้าขายอาวุธในตลาดมืด ยังมีพลอยแดง อัญมณีเลื่องชื่อจากฝั่งเขมรด้วย

ที่สำคัญ ยังต้องดูแลค่ายผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยสงคราม ซึ่งไม่ได้มีเพียงเรื่องความมั่นคงทางทหารและการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับของบริจาคจากองค์กรนานาชาติที่มีมูลค่าอีกด้วย

ตะเข็บชายแดนที่คลุมเครือ ซ้อนทับและไหลเวียนของสินค้าทั้งเถื่อนและไม่เถื่อน จึงเป็นอาณาบริเวณของอำนาจและสายสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจสมัยนั้นด้วย

ปี 2537 มีข้อมูลบางอันชี้ว่า พล.อ.ประวิตรสมัยนั้นเป็นส่วนเล็กๆ ในพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ2 และปี พ.ศ.2540 พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผู้ให้คำปรึกษาของเขาที่เขาเคารพ ย้ายเขาไปกองทัพภาคที่ 1 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 แต่ปี 2543 เขาถูกย้ายไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เนื่องจากเขากับเพื่อนรุ่นเตรียมทหารรุ่น 6 ไปตีกอล์ฟที่เมืองคุนหมิงประเทศจีนโดยไม่ได้ลาผู้บังคับบัญชา3 พร้อมด้วย พล.อ.นพดล อินทรปัญญา ผู้บัญชาการกองพล 1 รอ. เพื่อนของเขาด้วย

ช่วงนั้น เขาพยายามกลับเข้าไลน์กองทัพบก โชคเข้าข้างเมื่อ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พลักดันให้ พล.อ.ประวิตรได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก

แล้วต่อมาหลังเลือกตั้ง พ.ศ.2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรัฐมนตรีกลาโหมได้แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตรเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 (2545) ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ปี พ.ศ.2546

เมื่อเข้าไลน์หลัก 5 เสือกองทัพบก จุดพลิกผันเกิดขึ้นอีก เกิดไฟใต้ 2547 มีการปล้นปืนค่ายทหารที่ภาคใต้ แล้วกลุ่มติดอาวุธโจมตีหน่วยทหาร ที่ทำการหน่วยงานราชการ รวมทั้งสัญลักษณ์ของรัฐไทย อย่างอุกอาจมาก ตัวนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และหน่วยงานความมั่นคง ต้องการจัดการปัญหาภาคใต้ แต่หน่วยงานความมั่นคงไม่เป็นเอกภาพทางความคิดและองค์ความรู้ ที่สำคัญ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลทักษิณดำเนินการผิดพลาดมาตลอด

แล้วตัวทักษิณเองมองออกแล้วว่า ปัญหาไฟใต้กำลังเป็นจุดอ่อนทางการเมืองสำคัญของเขา เขาจึงต้องการเปลี่ยนญาติของเขา พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ออกจากผู้บัญชาการทหารบก

บางข้อมูลบอกว่า ความจริงทักษิณชื่นชอบ พล.อ.บุญสร้าง เนียนประดิษฐ์ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 ของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีความรู้มาก แต่ด้วยธรรมเนียมกองทัพบก พล.อ.บุญสร้างเรียนจบโรงเรียนนายร้อยเวสต์ป้อย สหรัฐอเมริกา ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

แต่อีกข้อมูลหนึ่ง ด้วยความที่ พล.อ.ประวิตรมีเพื่อนเป็นนักการเมืองหลายคนในพรรคไทยรักไทยแล้วพวกเขาเชียร์ พล.อ.ประวิตรจึงได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายทหารจากกองพลทหารราบที่ 2 คนแรกที่ได้ตำแหน่งนี้ นี่เป็นข้อมูลจากทักษิณ4

“…มีคนเชียร์เยอะ วัฒนา เมืองสุข ส.ส.จากปราจีนบุรีก็เชียร์ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโจ ก็เชียร์ ผมไม่ค่อยรู้จักเขา รู้แต่ว่าเป็นพี่ชายรุ่นพี่ผมคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รู้จักกันดีก็เลยตั้ง…”

ตรงนี้นี่เอง ที่เป็นความแตกต่างจากนายทหารที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจในเวลาต่อมาของ พล.อ.ประวิตร คือความเป็นทหารต่างจังหวัด และเครือข่ายอันกว้างขวางและเปิดกว้าง

ด้วยความแตกต่างอันนี้ เขาจึงเป็นที่นิยมของเหล่านักการเมืองในรัฐสภา มีเส้นสายในกรมตำรวจ เข้าถึงกับระบบราชการและหน่วยงานสำคัญอีกหลายหน่วยงาน

ถึงแม้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นหลักประกันเส้นทางการเมืองก้าวสู่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยรองรับทางการเมืองที่นายทหารท่านอื่นๆ ไม่มีและหาได้ยาก

เห็นได้ว่า นี่ไม่ใช่ชั่วข้ามคืน ไม่ใช่อะไรที่ new เลย แต่เป็นอดีตที่แตกต่างจากหลายๆ คนมากกว่า

 

1มติชนสุดสัปดาห์ 2-8 กันยายน 2565

2Paul Chamber, “Prawit Wongsuwan’s path to power” East Asia Forum 1 September 2022.

3“ตำนานเก้าอี้ ผบ.ทบ. ‘บิ๊กป้อม’ สู่ ‘โหวงเฮ้ง’ โทนี่ไม่ปลื้ม” กรุงเทพธุรกิจ 17 มิถุนายน 2564.

4ทักษิณ ชินวัตร พูดใน Care Clubhouse 15 มิถุนายน 2564 อ้างใน ตำนานเก้าอี้ ผบ.ทบ. กรุงเทพธุรกิจ เพิ่งอ้าง.