สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/ต้นมุจลินท์ ในพระไตรปิฎก

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย
www.thaihof.org

ต้นมุจลินท์ ในพระไตรปิฎก

ข้อความตอนหนึ่งในพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬา เล่มที่ 4 หน้า 8 กล่าวไว้ว่า
“ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จจากควงต้นอชปาลนิโครธไปยังควงต้นมุจลินท์ ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์เป็นเวลา ๗ วัน ครั้งนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอด ๗ วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตนไปโอบรอบพระกายของพระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือพระเศียรด้วยหวังว่า ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค”
ต้นมุจลินท์ ในเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนานี้ แฟนพันธุ์แท้สมุนไพรคิดว่าคือต้นอะไร เฉลยได้ว่า คือ ต้นจิกน้ำ หรือ จิกอินเดีย หรือ จิกนา หรือ จิกมุจรินทร์ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Indian Oak หรือ Freshwater Mangrove มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barringtonia acutangula (L.) Gaertn
เป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์ Lecythidaceae มีถิ่นกำเนิดที่ภูมิภาคเอเชียใต้และอัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงตอนเหนือของออสเตรเลียแถบรัฐควีนส์แลนด์ด้วย
ต้นมุจลินท์นี้มักขึ้นใกล้ริมแหล่งน้ำ คนไทยจึงเรียกจิกน้ำนั่นเอง

นอกจากนี้ จิกน้ำยังมีชื่อเรียกอื่นๆ ตามภาษาถิ่นว่า “กระโดนทุ่ง” หรือ “กระโดนน้ำ” (อีสาน-หนองคาย) “ปุยสาย” หรือ “ตอง” (ภาคเหนือ) “กระโดนสร้อย” (พิษณุโลก) และ “ลำไพ่” (อุตรดิตถ์) จิ๊ก (กรุงเทพ), กระโดนสร้อย (พิษณุโลก) ลำไพ่ (อุตรดิตถ์) ตอง จิกน้ำ (ภาคกลาง) จิก
ต้นมุจลินท์เป็นไม้ประเภทผลัดใบ สูง 5-15 เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม ปลายกิ่งลู่ลง ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่บริเวณปลายยอด เป็นรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ ปลายและโคนใบแหลม
ต้นมุจลินท์นี้มีความพิเศษเวลามีดอกจะทิ้งใบ เหลือเพียงใบอ่อนเป็นสีแดง สวยงามน่าชมมาก
ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายยอด ห้อยลงเป็นระย้า ราว 30-40 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดทนอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสั้น ปลายแยกเป็น 4 กลีบ หลุดร่วงง่าย เป็นสีแดง หรือชมพู
เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้เป็นฝอยๆ สีชมพู หรือ สีแดง จำนวนมาก เวลามีดอกบานพร้อมกันจะดูแลสวยงามน่ารัก
โดยเฉพาะช่วงมีดอกจะทิ้งใบมีแต่ยอดอ่อนเป็นสีแดงจัด ยิ่งเพิ่มความงดงามยิ่งขึ้น
ดอกออกระหว่างเดือนพฤศจิกายนที่กำลังมาถึงและออกดอกได้จนเดือนมีนาคมในปีถัดไป
การใช้ประโยชน์จากจิกน้ำ สามารถนำมาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น ทางยาสมุนไพร นำเนื้อไม้มาต้มดื่มช่วยขับระดูขาวของสตรี ใบแก่ใช้ต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง เมล็ดใช้ทำเป็นยาลมแก้อาการจุกเสียดและแก้ไอในเด็ก น้ำคั้นจากเมล็ดใช้เป็นยาหยอดตาได้ ผลช่วยแก้หวัด แก้ไอ รากใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ เนื้อไม้หรือเปลือกนำมาต้มเป็นยาช่วยชะล้างบาดแผล
จิกน้ำยังเป็นอาหาร ยอดอ่อนและดอกมีรสชาติมันปนฝาด กินเป็นผักสดและผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ น้ำตก แจ่ว และอาหารรสเผ็ดอื่นๆ ได้อย่างเอร็ดอร่อย กินกับขนมจีนก็ได้ ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น เปลือกและต้นมีสรรพคุณใช้เบื่อปลา ไม้จิกน้ำมีเนื้อสีขาวหรือสีอมแดงเรื่อๆ มีเสี้ยนตรง แต่เป็นไม้ค่อนข้างเนื้ออ่อนจึงเหมาะใช้ในร่ม หรือนำเนื้อไม้นำมาทำเป็นไม้อัด ทำเครื่องเรือน ทำเครื่องมือเกษตรบางอย่าง ฯลฯ
ต้นจิกน้ำเป็นพืชที่มักปลูกไว้เป็นไม้ประดับที่ริมน้ำริมตลิ่ง ให้ช่อดอกที่สวยงามแปลกตาแล้ว เป็นต้นไม้ที่มีความแข็งแรง ทนน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี และก็ยังช่วยยึดหน้าดินริมตลิ่งได้อีกด้วย

นอกจากต้นจิกน้ำหรือต้นมุจลินท์แล้ว ยังมีไม้อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ดอกมุจลินทร์ ซึ่งไม่ใช่ต้นไม้ที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎก แต่มีชื่อคล้ายๆ กัน
พืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ravenia spectabilis Engl. ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Lemonia, Limonia, Pink Ravenia
ดอกมุจลินทร์เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก อาจสูงได้ตั้งแต่ 2-5 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา ใบรูปยาวรี โคนปลายใบมน ด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง ดอกสีชมพูเข้มออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งๆ มีประมาณ 2-5 ดอก แต่ละดอกบานไล่กันครั้งละ 2-3 ดอก ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบมีเส้นสีแดงเข้มปรากฏเป็นเส้นแบ่งกลาง เกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นรูปกระดิ่ง ปากแฉกมี 4 แฉก
ดอกมุจลินทร์เป็นพรรณไม้ที่ออกดอกได้ตลอดทั้งปี นิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ให้ดอกดก สวยงาม มีกลิ่นหอม ดอกมุจลินทร์เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ แต่ได้มีการนำมาปลูกในแถบเอเชียรวมถึงเมืองไทย
ขณะนี้ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าทำไมจึงมีชื่อไทยว่าดอกมุจลินทร์
ทั้งต้นมุจลินท์ และต้นดอกมุจลินทร์ เป็นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม หากเราช่วยกันปลูกโดยเฉพาะไม้ในพระไตรปิฎกเช่นมุจลินท์หรือจิกน้ำในวัดที่ใกล้แหล่งน้ำกันมากๆ น่าจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้รื่นรมย์ เป็นการช่วยให้บรรยากาศให้ช่วยน้อมนำจิตใจให้คลายเครียดได้ง่ายขึ้น
อ่านพระไตรปิฎกใช่ว่าจะพบข้อธรรมะเท่านั้น ต้นไม้และธรรมชาติในครั้งพุทธกาลหากเรียนรู้นำมาใช้ ได้ประโยชน์ยิ่งนัก